Loading...

ทีมวิศวะ ธรรมศาสตร์ ลงสำรวจบ้านเรือนหลังเหตุเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว ส่งต่อฐานข้อมูลเยียวยาประชาชน

วิศวกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ลงพื้นที่ตรวจสอบอาคารที่ได้รับผลกระทบเหตุเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว รวบรวมข้อมูลเสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้เป็นฐานข้อมูลเยียวยาประชาชน

วันอังคารที่ 3 สิงหาคม พ.ศ.2564

     เมื่อเร็ว ๆ นี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.สายันต์ ศิริมนตรี หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา พร้อมด้วย อาจารย์ ดร.ชนะชัย ทองโฉม ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายสื่อสารองค์กร และอาจารย์ ดร.สุรภาพ แก้วสวัสดิ์วงศ์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมโยธา นำทีมอาจารย์และนักศึกษากว่า 20 คน ลงพื้นที่ตรวจสอบสภาพอาคารที่ได้รับผลกระทบจากโรงงานหมิงตี้เคมีคอลระเบิด เมื่อวันที่ 5 กรกฎาคม 2564 ณ หมู่บ้าน Story อ่อนนุช-วงแหวน เดินหน้ารวมข้อมูลในพื้นที่นำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เพื่อใช้เป็นฐานข้อมูลในการเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ และสร้างเชื่อมั่นให้กับประชาชน โดยคำนึงถึงความปลอดภัยเป็นอันดับแรก พร้อมเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าฟื้นที่สำรวจและฟื้นฟูโครงสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง เนื่องจากโครงสร้างที่ไม่แข็งแรง อาจเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้

     รศ.ดร.สายันต์ ศิริมนตรี หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดทีมวิศวกรด้านวิศวกรรมโยธา จำนวน 20 คน ซึ่งประกอบด้วยอาจารย์ นักศึกษาปริญญาโท และศิษย์เก่าของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมลงพื้นที่สำรวจความเสียหายทางวิศวกรรมจากเหตุเพลิงไหม้บริษัท หมิงตี้ เคมีคอล จำกัด เลขที่ 87 ซอยกิ่งแก้ว 21 หมู่ 15 ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ พร้อมเดินหน้าให้คำแนะนำในการฟื้นฟูอาคารและสิ่งปลูกสร้าง ในชุมชนที่ได้รับความเสียหายในรัศมี 5 กิโลเมตร ซึ่งคาดว่าจะเริ่มลงพื้นที่ทำงานได้ภายใน 1-2 วัน หรือจนกว่าจะสามารถควบคุมเพลิงในโรงงานที่เกิดเหตุสงบลงก่อน เพื่อความปลอดภัยของทีมสำรวจในการเข้าไปดำเนินการในพื้นที่เกิดเหตุ

     ทีมวิศวกรของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมแผนดำเนินการไว้อย่างรอบคอบ ตั้งแต่ประเมินความเสียหาย พร้อมทั้งแนะนำแนวทางการซ่อมแซมฟื้นฟูอาคารในชุมชนโดยรอบ ซึ่งเริ่มจากบ้านเรือนชุมชนในรัศมี 1 กิโลเมตรก่อน เนื่องจากคาดว่าจะเป็นจุดที่ได้รับความเสียหายมากที่สุด และจะขยายผลไปสำรวจพื้นที่โดยรอบรัศมี 5 กิโลเมตรต่อไป โดยมีเป้าหมายเพื่อการจัดทำโซนนิ่งตามระดับของความเสียหาย ได้แก่ เสียหายมาก ปานกลาง และเสียหายเล็กน้อย พร้อมทั้งเสนอแนะแนวทางในการฟื้นฟูโครงสร้างทางวิศวกรรมให้เหมาะกับระดับความเสียหาย โดยคำนึงถึงความปลอดภัยของประชาชนและเจ้าหน้าที่เป็นอันดับแรก

     สิ่งที่สำคัญเมื่อเกิดเหตุเพลิงไหม้สถานประกอบการที่มีวัสดุที่ติดไฟง่าย และมีแรงสั่นสะเทือนจากการระเบิด และความร้อนเนื่องจากไฟไหม้ ส่งผลให้เกิดความเสียหายต่อบ้านเรือนและสิ่งปลูกสร้างต่าง ๆ จึงอยากเตือนประชาชนหลีกเลี่ยงการเข้าพื้นที่สำรวจและฟื้นฟูโครงสร้างที่อยู่อาศัยด้วยตนเอง เนื่องจากโครงสร้างอาจถล่มลงมา ซึ่งอาจทำให้ได้รับบาดเจ็บและเป็นอันตรายถึงแก่ชีวิตได้ โดยแนะนำให้ประชาชนขอความช่วยเหลือจากทีมวิศวกรผู้เชี่ยวชาญก่อน เพื่อให้ช่วยยืนยันความเสี่ยงก่อนเข้าฟื้นฟูบ้านเรือนของตนเอง ทั้งนี้ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ตั้งเป้าจะนำข้อมูลจากสำรวจความเสียหายของอาคาร เพื่อนำไปส่งมอบให้กับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการฟื้นฟูเยียวยาประชาชนที่ได้รับผลกระทบ โดยใช้ฐานข้อมูลดังกล่าวไปอ้างอิงให้เกิดประโยชน์กับประชาชนในพื้นที่ รศ.ดร. สายันต์ กล่าว