Loading...

คณะวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ชัวก่อนแชร์ อสมท จัดทำคู่มือ “Fake News Fighter”

คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ ศูนย์ชัวก่อนแชร์ อสมท จัดทำคู่มือ Fake News Fighter กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงในห้องข่าวโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล

วันพุธที่ 9 มีนาคม พ.ศ.2565

     คณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท เห็นถึงช่องว่างของการขาดแคลนองค์ความรู้และผู้สอนทางด้าน Fake News ที่ถูกแพร่กระจายบนสื่อดิจิทัลที่เป็นเรื่องใหม่ ดังนั้น จึงจัดทำหลักสูตรและคู่มือ FAKE NEWS FIGHTERS เพื่ออบรมให้แก่นิสิต นักศึกษาทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ฯ โดยจะเป็นประโยชน์ให้กับทุกหลักสูตรที่มีการเรียนการสอนเกี่ยวกับสื่อ ในการไปช่วยปิดช่องว่างส่วนนี้ และหลักสูตรดังกล่าวอาจารย์ผู้สอน ยังสามารถนำไปใช้เป็นเอกสารการประกอบการสอนได้ ซึ่งตรงกับปรัชญาและพันธกิจของคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการเพาะเมล็ดพันธุ์วารสารศาสตร์ที่พร้อมด้วยคุณภาพและเท่าทันสถานการณ์ตลอดจนเป็นที่พึ่งของสังคมในการเป็นแหล่งรวมขององค์ความรู้ และเผยแพร่ความเชี่ยวชาญของคณะที่จะช่วยขับเคลื่อนและพัฒนาคุณภาพสื่อ จริยธรรม และความเป็นมืออาชีพของวงการสื่อไทย เพื่อนำไปสู่การแก้ปัญหาของสังคม

     โครงการ Fake News Fighter : การสร้างเครือข่ายเพื่อสร้างองค์ความรู้และกลไกในการแก้ปัญหาข่าวปลอม จัดทำโดย ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม คุณพีรพล อนุตรโสตถิ์ และคุณณรรธราวุธ เมืองสุข เป็นโครงการร่วมระหว่างคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และศูนย์ชัวร์ก่อนแชร์ สำนักข่าวไทย อสมท เป็นหนึ่งโครงการภายใต้ยุทธศาสตร์ของกองทุนสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ ที่ทางกองทุนฯ มุ่งหวังเป็นกลไกในการต่อสู้กับข่าวปลอม พร้อมทั้งสร้างและขยายเครือข่ายออกไป

     หลักสูตร Fake News Fighter : การติดตั้งองค์ความรู้และกลไกในการแก้ไขปัญหาข่าวปลอมแก่นิสิต นักศึกษานิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ฯ มีเป้าประสงค์เพื่อเพิ่มพูนความรู้และทักษะเชิงปฏิบัติการ เกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวปลอม บนพื้นฐานของการายงานข่าวที่ถูกต้อง เที่ยงตรง เที่ยงธรรมบนหลักจริยธรรมวารสารศาสตร์ อีกทั้งมีเป้าหมายต่อมาว่า แต่ละหลักสูตรทางด้านนิเทศศาสตร์ วารสารศาสตร์ฯ สามารถบูรณาการความรู้และทักษะเชิงปฏิบัติการเกี่ยวกับการตรวจสอบข่าวปลอมจากหลักสูตรนี้เข้ากับรายวิชาการสื่อข่าวและรายงานข่าวที่มีอยู่ในหลักสูตร หรือนำไปต่อยอดเข้ากับปรัชญาของแต่ละหลักสูตรหรือบริบทของแต่ละหลักสูตรที่แตกต่างกัน

     โดยวันนี้เราจะพาทุกคนมาพูดคุยกับ ผศ.ดร.วิไลวรรณ จงวิไลเกษม หนึ่งในผู้ที่อยู่เบื้องหลังโครงการ "Fake News Fighter" กับการทำงานเพื่อสร้างคนสื่อยุคใหม่ที่พร้อมรับมือกับข่าวลวง ข่าวปลอมในสื่อปัจจุบันโดยเฉพาะสื่อสังคมออนไลน์

แรงบันดาลใจในการทำโครงการ Fake News Fighter ?

     แรงบันดาลใจทำโครงการนี้เริ่มจากสถานการณ์ Fake News ในประเทศไทยที่มาในรูปแบบข่าวในสื่อต่าง ๆ ไม่เฉพาะสื่อสังคมออนไลน์ แต่ในสื่อวิชาชีพอย่างสื่อหนังสือพิมพ์ วิทยุ และโทรทัศน์มีการนำเสนอ Fake News จำนวนมากโดยไม่เจตนา ด้วยเทคโนโลยีที่ทำให้ข่าวปลอมถูกตรวจจับยากขึ้น และความรีบเร่งในการนำเสนอข่าว แต่ขณะเดียวกันมีความตั้งใจนำเสนอข่าวปลอมเพื่อหวังผลการตลาดหรือการเมือง ที่ส่งผลกระทบไม่เฉพาะส่วนบุคคลแต่ต่อภาพรวมของสังคม จึงนำมาซึ่งโครงการนี้ ที่มุ่งกลุ่มเป้าหมายคือนักศึกษาทางด้านสื่อสารที่จะเป็นผู้ผลิตสื่อในอนาคต ติดตั้งกลไกความรู้ในการตรวจจับข่าวปลอม ภายใต้แนวคิดการตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ Fact-Checking กับบทบาทนักตรวจสอบข้อเท็จจริง หรือ Fact Checker ที่สำนักข่าวต่างประเทศให้ความสำคัญกับบทบาทนี้อย่างมาก ซึ่งถือเป็นองค์ความรู้ใหม่กับการเรียนการสอนทางด้านวารสารศาสตร์

ทำไมต้องเท่าทัน Fake News ?

     เรื่อง Fake News เป็นประเด็นทางสังคมของโลกวันนี้ ที่ถูกใช้เป็นเครื่องมือในการหวังผลทั้งทางบวกและลบแก่ผู้ตกเป็นข่าว Fake News แต่เป็นผลเสียอย่างมากต่อสังคม ดังนั้นเป็นเรื่องที่ทุกคนทุกวัยควรมีความรู้และทักษะการรู้เท่าทันข่าวปลอม

หนังสือ Fake News Fighter ให้ประโยชน์อะไรกับผู้อ่าน ?

     หนังสือ Fake News Fighter ประกอบด้วย 3 ส่วน ส่วนแรก ให้ความรู้ทางด้านแนวความคิดเกี่ยวกับข่าวปลอม การตรวจสอบข้อเท็จจริง และกระบวนการทำงานของห้องข่าวในประเทศไทยกับการทำงานของห้องข่าวต่างประเทศ ส่วนสอง ภาคปฏิบัติการ การจำลองการทำงานของห้องข่าวออนไลน์ ที่ผู้อ่านที่เป็นครู อาจารย์สามารถนำไปใช้เป็นสื่อการสอนได้ ส่วนสาม การผลิตสกู๊ปข่าวรู้เท่าทันข่าวปลอม ส่วนนี้เล่าถึงกระบวนการทำข่าวตั้งแต่การคิดประเด็น การต่อยอดประเด็น การเขียนบท ไปจนถึงการถ่ายจนออกมาเป็นสกู๊ปข่าวรู้เท่าทันข่าวปลอม

การจัดทำหลักสูตรและคู่มือ Fake News Fighter เหมาะกับใครบ้าง ?

     หลักสูตรและคู่มือดังกล่าวเป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับอาจารย์ ครูทางด้านสื่อสารและการรู้เท่าทันสื่อที่จะนำไปประยุกต์ใช้ในการสอน และเป็นประโยชน์สำหรับนักเรียน นักศึกษา รวมถึงคนทั่วไปที่สนใจเรียนรู้เท่าทันข่าวปลอม

คนในสังคมจะใช้ประโยชน์จากคู่มือ Fake News Fighter ได้อย่างไรบ้าง ?

     Fake News Fighter : กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงในห้องข่าวโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล จะชวนทุกคนต่อสู้กับข่าวปลอม ข่าวลือ ข่าวลวง ด้วยการตรวจสอบข้อเท็จจริงในข่าวที่ได้รับมา ด้วยการรู้เท่าทันข้อมูลข่าวสารที่ได้รับ อันดับแรกคือตรวจสอบแหล่งที่มาของข่าวนั้น โดยเฉพาะในสื่อสังคมออนไลน์ที่เป็นพื้นที่แพร่กระจายข่าวปลอมมากที่สุด หัวใจของหนังสือ Fake News Fighter มากับคำว่า Fact-Checking กับบทบาท Fact Checker เพราะวันนี้ทุกคนในสื่อสังคมออนไลน์ล้วนเป็นส่วนหนึ่งของระบบนิเวศสื่อที่มีส่วนได้ส่วนเสีย มาทำหน้าที่ Fact Checker เพื่อหยุดข่าวปลอม เพื่อระบบนิเวศสื่อที่ดี

     สามารถดาวน์โหลดหนังสือ "Fake News Fighter กลไกการตรวจสอบข้อเท็จจริงในห้องข่าวโทรทัศน์และสื่อดิจิทัล" ได้ที่ https://drive.google.com/file/d/1qH47cEGQTODJ6JXqQIK4RDQl7Mo1viYu/view?usp=sharing