Loading...

“กัญชา” เพื่อการรักษา ใช้ให้ดีมีประโยชน์ แพทย์ธรรมศาสตร์ แนะต้องศึกษาวิจัยให้เป็นมาตรฐาน

ปัจจุบันมีการนำกัญชามาวิจัย เพื่อนำมาใช้ในการรักษาโรค แต่ก็ยังไม่มีการศึกษาที่เป็นมาตรฐาน รวมถึงสารประกอบต่าง ๆ ที่อยู่ในกัญชา อาจมีข้อดีและโทษในทางการแพทย์เช่นกัน

วันจันทร์ที่ 4 กรกฎาคม พ.ศ.2565

     หลังประเทศไทยมีการปลดล็อกกฎหมาย “กัญชา-กัญชง” มาได้ระยะหนึ่งตามประกาศกระทรวงสาธารณสุข ทำให้แวดวงวิชาการหลากหลายศาสตร์ รวมถึงภาครัฐและเอกชนต่างตื่นตัวกับประเด็นนี้ ส่วนหนึ่งอาจมาจากปัญหาช่องโหว่ทางกฎหมาย และข้อแนะนำคำเตือนต่าง ๆ ในการใช้ “กัญชา” ที่ยังไม่ครอบคลุมทุกประเด็น ขณะเดียวกันหลังการเปิดกัญชาเสรี ก็มีข่าวของผู้ใช้ “กัญชา” เกินขนาดจนทำให้เสียชีวิต รวมถึงมีบางรายต้องเข้ารักษาตัวในโรงพยาบาล ทำให้แวดวงวิชาการเฉพาะทางอย่างด้านการแพทย์ ต้องเร่งศึกษาวิจัยถึงประโยชน์และโทษของการใช้กัญชา ท้ายที่สุดแล้ว “กัญชา” จะสามารถนำมาใช้ประโยชน์ในทางการแพทย์ได้จริงหรือไม่?

     รศ.นพ.สมบัติ มุ่งทวีพงษา หัวหน้า Center of Excellence in Stroke และอาจารย์ประจำภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ปัจจุบันมีการวิจัย “กัญชา” เกี่ยวกับการนำมารักษาโรคในการรักษาแผนปัจจุบัน ซึ่งมีบางส่วนที่นำมาใช้รักษาบางโรค เช่น โรคลมชักบางชนิดที่รักษาด้วยยาแผนปัจจุบันและไม่สามารถควบคุมได้ โดยมีรายงานว่าช่วยควบคุมการชักได้ดีขึ้น รวมทั้งการรักษาอื่น ๆ เช่น ใช้ทำให้นอนหลับง่ายขึ้นในกลุ่มผู้ป่วยโรคมะเร็งระยะสุดท้ายหรือโรคเรื้อรัง และมีผลกระทบแทรกซ้อนจากการให้ยาเคมีบำบัด โดยจะใช้กัญชาช่วยบรรเทาผลแทรกซ้อน ทำให้ผู้ป่วยหลับสบายขึ้น แต่ทั้งนี้ยังไม่มีการศึกษาอย่างเป็นทางการที่เป็นมาตรฐาน ซึ่งจะต้องศึกษาแบบสุ่มเพื่อเปรียบเทียบการใช้และไม่ใช้กัญชาในโรคกลุ่มเหล่านี้ เพื่อใช้เป็นมาตรฐานต่อในอนาคต

     “ปัจจุบันการใช้ ‘กัญชา’ ในทางการแพทย์ ยังอยู่ในงานวิจัยเกือบทั้งหมด มีเพียงการใช้เพื่อช่วยในการรักษาแผนปัจจุบันที่อาจจะยังไม่ได้ผลถึงที่สุด ซึ่งสามารถจะนำมาช่วยได้ในบางกรณี และยังไม่มีการใช้กัญชาเป็นมาตรฐานหรือใช้เป็นหลักในการรักษาทางการแพทย์” รศ.นพ.สมบัติ กล่าว

     รศ.นพ.สมบัติ กล่าวถึงสาเหตุของการเมาหรือแพ้กัญชาว่า “กัญชา” มีสารสำคัญ 2 ชนิด คือ สาร CBD เป็นสารที่ไม่มีฤทธิ์ต่อจิตประสาท ซึ่งอาจช่วยในการรักษาหรือใช้ในทางการแพทย์ได้ และ สาร THC เป็นสารที่ค่อนข้างก่อให้เกิดผลกระทบด้านลบและระบบประสาท ไม่ว่าจะเป็นเรื่องของการเมาหรืออาการหลอน ฉะนั้น การติดกัญชา การเมา หรืออาการหลอน จึงมาจากสาร THC เป็นหลัก ซึ่งกัญชาที่ใช้ในการบำบัดต่าง ๆ จะมีสาร THC ในปริมาณจำกัด เพื่อควบคุมไม่ให้เกิดผลแทรกซ้อน

     ส่วนเรื่องอาการแพ้ “กัญชา” สามารถเจอได้ทุกกลุ่ม เป็นเรื่องของแต่ละบุคคลในการแพ้ยาแต่ละชนิด การแพ้กัญชาจะพบได้ไม่บ่อยหรือพบได้น้อย เพราะกัญชาเป็นสารที่อยู่ในธรรมชาติอยู่แล้ว แต่มักเป็นอาการข้างเคียงที่ส่วนใหญ่พบในกลุ่มคนที่ใช้ในการเสพเพื่อการสันทนาการหรือใช้ในการสูบ เนื่องจากไม่ได้มีการกำหนดปริมาณของกัญชาหรือสาร THC ที่ได้รับเข้าไป และยังขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น ชนิดของกัญชาที่ใช้สูบ วิธีการ และขั้นตอนในการใช้

     ในกรณีการใช้น้ำมันกัญชาหยดใต้ลิ้น มีโอกาสเกิดผลข้างเคียงน้อยกว่าการสูบ แต่ปริมาณเป็นสิ่งสำคัญเช่นกัน เพราะการดูดซึมด้วยการหยดใต้ลิ้นอาจมีความแตกต่างกันในแต่ละราย รวมถึงเทคนิค และวิธีการในการปฏิบัติในการหยดหรือการแตะใต้ลิ้น รวมทั้งปริมาณของ THC ที่อยู่ในตัวน้ำมันที่ใช้ก็ส่งผลด้วยเช่นเดียวกัน ฉะนั้นจึงไม่แนะนำให้ใช้กัญชาในการสันทนาการ เพราะมีโอกาสค่อนข้างสูงที่จะเกิดผลแทรกซ้อน

     รศ.นพ.สมบัติ เล่าอีกว่า สาร CBD และ THC ในกัญชานั้น ถ้าใช้ให้เป็นประโยชน์ จะใช้ในการบรรเทาอาการหรือว่ารักษาโรคบางโรคได้ เช่น การลดการอักเสบ หรือการช่วยทำให้นอนหลับได้ดีขึ้น เพียงแต่วิธีการบริหารสาร CBD และ THC ที่จะเข้าไปในร่างกายจะใช้วิธีใด ใช้ปริมาณเท่าไหร่ และใช้ระยะเวลาเท่าไหร่ ยังต้องการการวิจัยเพื่อพิสูจน์ให้ได้ถึงผลลัพธ์และผลแทรกซ้อนที่ต้องระมัดระวัง คล้ายกับยาในกลุ่มมอร์ฟีนหรือฝิ่น หากใช้อย่างถูกต้องจะสามารถช่วยลดอาการปวดได้โดยไม่มีผลแทรกซ้อน แต่การใช้กัญชาในทางการแพทย์ยังไม่มีการศึกษาที่ชัดเจนเนื่องจากก่อนหน้านี้ยังเป็นสิ่งผิดกฎหมายอยู่ ปัจจุบันการเปิดให้ “กัญชา” เป็นสิ่งถูกกฎหมายถือว่าเป็นประโยชน์ต่อการศึกษาวิจัยอย่างมาก

     “เราอาจยังไม่สามารถบอกถึงข้อดีทั้งหมดของกัญชาในทางทางคลินิกหรือทางการแพทย์ได้อย่างชัดเจน แต่เชื่อว่าหากศึกษาและนำสิ่งดีของกัญชามาใช้ประโยชน์ทางการแพทย์ก็จะได้รับประโยชน์จากส่วนนี้มากอยู่พอสมควร” รศ.นพ.สมบัติ กล่าว

     แน่นอนทุกอย่างมีสองด้าน มีดีก็ต้องมีโทษ รศ.นพ.สมบัติ เล่าเสริมอีกว่า มีรายงานผลแทรกซ้อนจากกัญชา เกี่ยวกับผลลัพธ์ที่ทำให้เกิดโรคต่าง ๆ ซึ่งเป็นเรื่องที่เคยรายงานในช่วงที่ศึกษาอยู่ที่สหรัฐอเมริกา กรณีมีผู้ป่วยอายุน้อย หรือผู้ป่วยที่ยังไม่ได้มีความเสี่ยงใด ๆ ต่อเรื่องหลอดเลือดสมอง เข้ามาโรงพยาบาลด้วยเรื่องหลอดเลือดสมองกว่าสิบราย และผู้ป่วยบางคนมีอาการรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิต จากการผ่าพิสูจน์ ตรวจพบกัญชาในร่างกายและหลอดเลือดสมอง ซึ่งได้พิสูจน์ชัดเจนว่ากัญชาค่อนข้างเกี่ยวข้องกับการเกิดโรคเลือดสมองได้ แต่เมื่อก่อนไม่ได้มีการศึกษาอย่างชัดเจนเพราะเป็นสิ่งผิดกฎหมาย จึงยังไม่สามารถตอบได้ว่ามีโทษในลักษณะใด

     “ยาทุกชนิดแน่นอนว่ามีประโยชน์ก็ต้องมีโทษ ถ้าเราสามารถควบคุมโทษของมันได้มันก็จะสามารถที่จะบรรเทาเบาบางหรือป้องกันไม่ให้เกิดโทษนั้นได้” รศ.นพ.สมบัติ กล่าวทิ้งท้าย