Loading...

‘มัชร้า’ น้ำปลาร้า Plant-based จาก ‘เห็ด-สาหร่ายคอมบุ’ ผลงานนักศึกษาคณะวิทย์ฯ มธ.

นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี คว้ารางวัลชนะเลิศโครงการ Vitafoods Asia Nutraceutical Awards 2024 ประเภทนักศึกษา

วันศุกร์ที่ 4 ตุลาคม พ.ศ.2567

     ทีม ‘MUSHAR มัชร้า’ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร ประกอบด้วย สุพิชญา อ่อนวงศ์, ธวัลรัตน์ วงษ์ศิริ และ ธนพรรณ พงศ์เลิศคณิต คว้ารางวัลชนะเลิศ รับเงินรางวัล 50,000 บาท จากการแข่งขันในโครงการ “Vitafoods Asia Nutraceutical Awards 2024” ประเภทนักศึกษา เมื่อเร็ว ๆ นี้

     ทั้งนี้ Vitafoods Asia Nutraceutical Awards 2024 เป็นการแข่งขันภายใต้โจทย์ “ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารและสารสกัด” โดยเน้นการส่งเสริมการใช้วัตถุดิบพื้นถิ่นในประเทศไทย เพื่อยกระดับวัตถุดิบในการสร้างมูลค่าเพิ่ม และทำให้เป็นที่รู้จักมากยิ่งขึ้น

‘มัชร้า’ ผลิตภัณฑ์น้ำปลาร้า Plant-based

     ธวัลรัตน์: วัตถุดิบหลักของ ‘มัชร้า’ คือเห็ดแครงสด ซึ่งเป็นเห็ดพื้นถิ่นจากทางภาคใต้ เห็ดหอมแห้ง สาหร่ายคอมบุ และสับปะรดพันธุ์ปัตตาเวีย โดยน้ำปลาร้าของเรามีจุดเด่นกว่าน้ำปลาร้าตามท้องตลาดคือ รสชาติอร่อย แซ่บนัว โซเดียมต่ำ มีโปรตีน มีเบต้ากลูแคน ไม่มีส่วนผสมของถั่วเหลืองและเนื้อสัตว์ ไม่มีผงชูรส ปราศจากสารกันบูด เก็บรักษาที่อุณหภูมิห้องได้นาน 1 ปี ผ่านกระบวนการฆ่าเชื้อด้วยวิธีสเตอริไลส์ ซึ่งเป็นการฆ่าเชื้อที่อุณหภูมิสูง จึงต้องใช้บรรจุภัณฑ์เป็นขวดแก้วเพื่อความปลอดภัยและป้องกันความเสียหายของผลิตภัณฑ์

     ธนพรรณ:มัชร้า’ เหมาะกับผู้บริโภคที่ต้องการโซเดียมต่ำ ทั้งยังมีโปรตีน และเบต้ากลูแคนจากเห็ดที่ช่วยเรื่องเสริมภูมิคุ้มกัน ไม่มีเชื้อจุลินทรีย์ก่อโรค เพราะผ่านความร้อนที่อุณหภูมิสูง ไม่มีผงชูรส และสารกันบูด และยังเป็นน้ำปลาร้าที่ผู้บริโภคยังได้รับความอร่อยเหมือนเดิม เพิ่มเติมคือรักสุขภาพยิ่งขึ้น สำหรับผู้บริโภคที่ไม่ชอบทานน้ำปลาร้าในท้องตลาดก็สามารถลองทานได้ เพราะไม่มีกลิ่นคาวปลา

กระบวนการคิดนวัตกรรม

     ธวัลรัตน์: พวกเราแบ่งหน้าที่กัน 2 ส่วน คือ 1. การวางแผนดำเนินงานในการเตรียมทำน้ำปลาร้า ประสานงานข้อมูลต่างๆ เพื่อจัดทำเอกสารนำส่งงานแข่ง และนำเสนอผลงาน 2. ขั้นตอนของการเตรียมส่วนผสม การปรุงรสชาติ การแต่งสีของน้ำปลาร้า และการจัดเสิร์ฟเพื่อนำเสนอ

ความรู้สึกของการได้รับรางวัล

     สุพิชญา: รู้สึกดีใจและเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้รับรางวัลในครั้งนี้ ทั้งยังมีผู้ให้ความสนใจผลิตภัณฑ์ Mushra (มัชร้า) น้ำปลาร้าของกลุ่มเราเป็นอย่างมาก และนอกจากนี้ยังทำให้ผู้คนรู้จักวัตถุดิบพื้นบ้านจากทางภาคใต้มากขึ้น ขอบคุณอย่างมากสำหรับรางวัลนี้ เพราะถือเป็นรางวัลแรกของพวกเรา ซึ่งจะเป็นแรงบันดาลใจ ให้พวกเราพัฒนาตนเองให้ดียิ่งขึ้น และค้นคว้าสร้างผลิตภัณฑ์ใหม่ ๆ ที่ดียิ่งขึ้นต่อไปในอนาคต

     นอกจากนี้ นักศึกษาคณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี สาขาวิชาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีการอาหาร และสาขาวิชาวิทยาศาสตร์และนวัตกรรมทางอาหาร โดย ทีม ‘MODICA’ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศลำดับที่ 2 ได้แก่ ตฤณญาดา แสงอ่อน, กุลิสรา พันธ์ทอง, กมลชนก ผิวขำ, ญาณิศา ไกวัลนรเศรษฐ์ และ กาณฑ์กมล พิมลสิทธิ์

     และ ทีม ‘Nutrary Roselle Jelly ผลิตภัณฑ์เสริมอาหารกระเจี๊ยบแดง’ ได้รับรางวัลชมเชย ได้แก่ ประภารัตน์ พอใจ, ญาณิศา โพธิสมภรณ์, รินรดา สระทองอ่อน, สุวิกร บุญคง และวรรนิดา ไชยพันนา