Loading...

นวัตกรรม "รถเข็นไฟฟ้า" เพื่อเด็กพิการทางสมอง-กล้ามเนื้ออ่อนแรง เสริมสร้างพัฒนาการสมวัย

 

นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรม "รถนั่งไฟฟ้าสำหรับเด็กพิการทางสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรง" ช่วยพัฒนาการเด็กเติบโตอย่างสมวัย

วันอังคารที่ 5 มกราคม พ.ศ.2564

     คงมีโอกาสไม่มากนักที่เด็กพิการทางสมองและเด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรงแต่กำเนิดจะมีพัฒนาการได้สมวัยเหมือนเด็กทั่วไป เพื่อเพิ่มโอกาสให้เด็กเหล่านี้ได้เติบโตและมีชีวิตอย่างสมบูรณ์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย นางสาวชนากานต์ อรุโณทัยสันติกุล นายไกรวิทย์  อุดมแสวงทรัพย์ นายวิศรุต ศรีสุวรรณวัฒนา และนายนัฐวุฒน์ มะยัง จึงคิดค้นนวัตกรรม "รถนั่งไฟฟ้าสำหรับเด็กพิการทางสมองและเด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรง" ขึ้น ให้เด็กพิการทางสมองและเด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรงสามารถทำกิจกรรมได้สมวัยเหมือนเด็กคนอื่น ๆ

     นางสาวชนากานต์ อรุโณทัยสันติกุล กล่าวว่า ปัจจุบันปัญหาที่ถูกมองข้ามของเด็กพิการทางสมองได้รับความสนใจแต่ยังไม่มากพอที่จะสร้างนวัตกรรมเพื่อช่วยบรรเทาอาการหรือช่วยเสริมสร้างพัฒนาการที่ดีที่เหมาะสมตามวัยได้ ทางทีมจึงเล็งเห็นว่าหากเด็กเหล่านี้ได้รับพัฒนาการที่เหมาะสมตามวัย ได้ทำกิจกรรมเข้าสังคมร่วมกับเด็กปกติทั่วไปจะช่วยให้พัฒนาการในการเจริญเติบโตของเด็กเป็นไปอย่างเหมาะสม ซึ่งข้อจำกัดของเด็ก ๆ คือการเคลื่อนไหวของร่างกาย ดังนั้นจึงเกิดแนวคิดที่จะสร้างรถเข็นไฟฟ้าสำหรับเด็กพิการทางสมองและกล้ามเนื้ออ่อนแรงขึ้นมา

     นายนัฐุวฒน์ มะยัง ระบุว่า หลักการทำงานของรถเข็นไฟฟ้า คือขับเคลื่อนและควบคุมทิศทางด้วยล้อกลางโดยใช้มอเตอร์ไฟฟ้า สามารถปรับความเร็วได้ 5 ระดับ ซึ่งควบคุมด้วยจอยสติ๊ก มีล้อหน้าและล้อหลังเป็นล้อพยุง ที่ใช้กลไก Parallel link เพื่อให้สมดุลของล้อตั้งฉากอยู่เสมอ อีกทั้งตัวรถสามารถถอดชุดนั่งออกเพื่อเปลี่ยนเป็นชุดปรับยืนเพื่อให้เด็กสามารถเปลี่ยนท่าทางและสามารถทำกิจกรรมได้มากขึ้น โดยชุดปรับยืนเริ่มต้นจากการปรับเป็นท่านอนก่อนแล้วจึงปรับเป็นท่ายืน โดยใช้ Linear actuator 

     จุดเด่นของนวัตกรรมรถเข็นไฟฟ้านี้คือ มีลักษณะ 6 ล้อ ซึ่งสามารถป้องกันการพลิกคว่ำได้ดีกว่ารถเข็นที่มี 4 ล้อ โดยตัวรถประกอบด้วย 2 ล้อกลางเป็นล้อขับเคลื่อน และล้อพยุง 4 ล้อ ซึ่งได้ติดตั้งโช๊คที่ช่วยให้ตัวรถสามารถขับขี่บนถนนที่ขรุขระได้อย่างนิ่มนวล สามารถขึ้นทางลาดเอียงได้ 20 องศา ตัวรถเข็นสามารถเปลี่ยนจากชุดนั่งเป็นชุดยืนได้โดยง่ายด้วยตัวคนเดียว ตัวชุดนั่งสามารถรับน้ำหนักได้ 80 กิโลกรัม ชุดยืนสามารถรับน้ำหนักได้ 50 กิโลกรัม และเหมาะกับเด็กที่มีส่วนสูงไม่เกิน 140 ซม. นายวิศรุต ศรีสุวรรณวัฒนา กล่าวเสริม

     ส่วนตอนนี้ตัวรถเข็นไฟฟ้านั้นได้นำไปส่งมอบให้กับโรงเรียนกายอุปกรณ์สิรินธร คณะแพทยศาสตร์ศิรราชพยาบาล มหาวิทยาลัยมหิดล เพื่อใช้ทดสอบกับผู้ป่วยและนำผลตอบรับจากการใช้งานมาปรับปรุงตัวรถเข็นให้สามารถใช้งานได้ดียิ่งขึ้น ก่อนจะผลิตเพื่อจำหน่ายต่อไปในอนาคต นายไกรวิทย์ อุดมแสวงทรัพย์ กล่าวทิ้งท้าย

     นวัตกรรม "รถนั่งไฟฟ้าสำหรับเด็กพิการทางสมองและเด็กกล้ามเนื้ออ่อนแรง" ของนักศึกษาคณะวิศวกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลการันตีคุณภาพมากมายไม่ว่าจะเป็น รางวัลเหรียญทอง Thailand Inventors’ Day 2020 รางวัลเหรียญเงิน I-new gen award 2020 รางวัล Merit i-CREATe 2020 ณ ไต้หวัน และรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 3 จากงาน motor expo 2019