Loading...

เตือนทาสแมว! ระวังโรคติดต่อจากแมว

 

รักมากยิ่งต้องดูแลเป็นพิเศษ เพราะถ้าดูแลแมวของคุณไม่ดี แมวอาจนำโรคร้ายถึงชีวิตมาสู่คุณและคนรอบข้าง

วันอังคารที่ 13 กรกฎาคม พ.ศ.2564

     ในปัจจุบันแมวเป็นสัตว์เลี้ยงที่คนนิยมเลี้ยงกันมากขึ้นเรื่อย ๆ อาจเป็นเพราะแมวเป็นสัตว์ขี้อ้อน ช่างเอาใจ รักความสะอาด ใช้พื้นที่ในการเลี้ยงน้อย สามารถเลี้ยงในห้องเช่าคอนโดมิเนียม โดยไม่ก่อให้เกิดเสียงดังสร้างความรำคาญให้กับห้องข้างเคียง บางคนเลี้ยงเอาใจเหมือนลูกหลาน นอนด้วยกัน กินด้วยกัน จนเกิดนิยามคำว่า “ทาสแมว” ขึ้นมา แต่หากเจ้าของไม่นำแมวของตนไปฉีดวัคซีนตามกำหนด แมวสุดที่รักตัวนั้นอาจนำโรคร้ายมาหาทาสได้โดยไม่รู้ตัว

     อาจารย์สุกัญญา พูลโพธิ์กลาง กลุ่มวิชาการพยาบาลอนามัยชุมชน คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า การคลุกคลีอย่างใกล้ชิดกับแมว อาจนำโรคบางชนิดมาสู่คนเลี้ยงได้โดยที่ไม่ทันได้ระวังตัว บางโรคเป็นโรคชนิดไม่รุนแรง แต่บางโรคอาจรุนแรงถึงขั้นเสียชีวิตได้ 

โรคติดต่อที่เกิดจากแมว ได้แก่ 

   1. โรคพิษสุนัขบ้า (Rabies) โรคพิษสุนัขบ้าในคนนิยมเรียก “โรคกลัวน้ำ (Hydrophobia)” ส่วนในภาษา อีสานเรียก “โรคหมาว้อ” เกิดจากเชื้อไวรัสพิษสุนัขบ้า (Rabies Virus) เป็นโรคติดต่อจากสัตว์เลือดอุ่นโดยเฉพาะสัตว์ เลี้ยงลูกด้วยน้ำนม ติดต่อมาสู่คนโดยถูกสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้ากัด ข่วน หรือเลีย บริเวณที่มีแผลรอยข่วน หรือน้ำลาย ของสัตว์ที่มีเชื้อพิษสุนัขบ้าเข้าตา ปาก จมูก สัตว์ที่นำโรคที่สำคัญที่สุดได้แก่ สุนัข แมว และอาจพบในสัตว์อื่น ๆ เช่นหมู ม้า วัว ควาย ลิง ชะนี เป็นต้น เมื่อคนได้รับเชื้อแล้ว และไม่ได้รับการป้องกันที่ถูกต้อง ส่วนใหญ่จะมีอาการหลังจาก รับเชื้อ 15-60 วัน บางรายอาจน้อยกว่า 10 วัน หรือนานเป็นปี เนื่องจากขณะนี้ไม่มียาที่ใช้ในการรักษาโรคพิษสุนัขบ้า ผู้ที่ป่วยด้วยโรคนี้จะเสียชีวิตทุกราย ฉะนั้นการป้องกันโรคจึงสำคัญที่สุดอาการที่สำคัญ คือ เริ่มด้วยอาการปวดศีรษะ มีไข้ต่ำ เจ็บคอ ปวดเมื่อยตามตัว เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย อาการที่พบได้บ่อย คือ คันบริเวณบาดแผลที่ถูกกัดซึ่งแผลอาจหายสนิทไปนานแล้ว ต่อมาลุกลามไปที่อื่นๆ ผู้ป่วยจะเกามากจนเลือดออกซิบๆ และมีอาการกลืนลำบากเพราะกล้ามเนื้อที่ลำคอและกล่องเสียงหดเกร็งตัว อยากดื่มน้ำแต่กลืนไม่ได้ ทำให้มีอาการกลัวน้ำ น้ำลายฟูมปาก บ้วนน้ำลายบ่อย กระวนกระวาย ตื่นเต้น ใจคอหงุดหงิด หายใจเร็ว ประสาทสัมผัสจะไวต่อการกระตุ้น ทำให้ตกใจง่ายและสะดุ้งผวาเมื่อถูกลม หรือได้ยินเสียงดัง กล้ามเนื้อแขนขาเกร็ง กระตุก ระยะหลังจะเป็นอัมพาตหมดสติและเสียชีวิตภายใน 2-7 วัน นับจากเริ่มแสดงอาการ  

   2. โรคแมวข่วน (Cat scratch disease) เป็นโรคที่เกิดจากเชื้อแบคทีเรียชนิดหนึ่ง สามารถติดต่อสู่คนได้จากการถูกแมวกัดหรือข่วน แมวที่ติดเชื้อมักไม่แสดงอาการป่วยแต่จะเป็นตัวแพร่โรคสู่คนได้ หากเจ้าของโดนข่วนหรือกัดอาการที่พบ คือ มีผื่นแดง ตุ่มพอง แผลหลุมที่บริเวณบาดแผล ต่อมน้ำเหลืองโต โรคนี้สามารถหายเองได้ ภายใน 4-8 สัปดาห์ส่วนคนที่มีร่างกายอ่อนแอหรือมีภูมิคุ้มกันบกพร่อง จะมีความเสี่ยงสูงมากต่อการติดเชื้อโรคนี้แล้ว ทำให้เกิดการติดเชื้อในกระแสเลือด ติดเชื้อที่ตา ระบบประสาท โรคนี้ไม่ติดต่อจากคนสู่คน

   3. โรคติดเชื้อจากแผล เกิดจากการติดเชื้อแบคทีเรีย โดยแบคทีเรียที่เป็นสาเหตุของการติดเชื้อของแผลแมวกัด ส่วนมากเป็นแบคทีเรียที่อาศัยอยู่ในช่องปากของแมว รวมทั้งแบคทีเรียที่พบอยู่บนผิวหนังของคน ที่ปนเปื้อนบนเขี้ยวแมว แล้วเข้าสู่บาดแผลแมวกัด ผู้ที่ถูกสัตว์กัดที่ไปพบแพทย์หลัง 8 ชั่งโมง มักมีการติดเชื้อแบคทีเรียแล้ว ส่วนมากบริเวณที่ถูกกัดจะมีรูเขี้ยวรอบ ๆ จะมีอาการปวด บวม แดง อาจมีหนองไหลออกจากรูเขี้ยว หากติดเชื้อจากแบคทีเรียสายพันธุ์รุนแรง ที่เรียกว่า “แบคทีเรียกินเนื้อคน” แบคทีเรียจะปล่อยสารที่ทำให้เส้นเลือดอุดตัน จนเกิดอาการปวด แผลอย่างรุนแรง มีไข้สูง อ่อนเพลีย และเกิดเนื้อตายสีดำลุกลามอย่างรวดเร็วในแผล เนื้อตายสีดำเป็นแหล่งที่ทำให้ แบคทีเรียเจริญเติบโตอย่างรวดเร็ว จนอาจลุกลามติดเชื้อในกระแสเลือด ทำให้เสียชีวิตได้ หากมีอาการดังกล่าวต้องรีบไปโรงพยาบาล แพทย์จะให้พักรักษาในโรงพยาบาล และรีบผ่าตัดเอาเนื้อตายสีดำออกจากแผล และฉีดยาปฏิชีวนะเข้าเส้นเลือด

   4. โรคบาดทะยัก จะเริ่มแสดงอาการหลังได้รับเชื้อแบคทีเรีย ตั้งแต่ 2-3 วันแรกและอาจกินเวลาหลายสัปดาห์ อาการที่พบคือ ภาวะกรามติด กล้ามเนื้อคอแข็ง ปัญหาการกลืน กล้ามเนื้อท้องแข็ง เหงื่อออก ความดันโลหิตสูง

          การดูแลเมื่อถูกกัดแมวกัด ข่วน หรือเลียบริเวณแผล 

     ส่วนใหญ่แล้วเราไม่อาจทราบได้ทันทีว่าแมวที่กัดหรือข่วนเรามีการติดเชื้อหรือไม่ ดังนั้น สิ่งแรกที่ควรปฏิบัติเลย คือการปฐมพยาบาลตนเองหรือผู้ที่ถูกกัดเพื่อทำความสะอาดบาดแผลไว้ก่อน ดังนี้ 

   1. ล้างบาดแผล รวมไปถึงอวัยวะส่วนที่สัมผัสกับน้ำลาย ด้วยน้ำสะอาดและสบู่โดยการถูเบาๆ เพื่อไม่ให้แผล ได้รับความกระทบกระเทือน นานอย่างน้อย 10-15 นาที หากเป็นแผลรูลึกอาจใช้สำลีพันปลายไม้หมุนเข้าไปล้างก้นแผลด้วยก็จะดี ทั้งนี้เพื่อจะล้างเชื้อออกจากแผลให้มากที่สุด

   2. เช็ดแผลให้แห้งด้วยผ้าก๊อซ ผ้าที่สะอาดหรือสำลี แล้วใส่ยารักษาบาดแผลสดประเภททิงเจอร์ไอโอดีน ยาเหลือง ยาแดง หรือแอลกอฮอล์สำหรับเช็ดแผล เท่าที่จะหาได้ในขณะนั้น กรณีแผลเหวะหวะให้ปล่อยแผลไว้โดยไม่ต้องเย็บแผล แต่ปิดแผลด้วยผ้าก๊อซสะอาด

   3. ไปพบแพทย์เพื่อไปรับการรักษาพยาบาล เช่น ฉีดท็อกซอยล์ป้องกันบาดทะยัก ฉีดยา รับยาไปกินเพื่อลดอาการปวด รักษาการติดเชื้อ รวมทั้งการเย็บแผลและการฉีดหรือไม่ฉีดวัคซีน หรืออิมมูโนโกลบูลิน (Immunoglobulin) ป้องกันโรคพิษสุนัขบ้า ซึ่งจะอยู่ในดุลพินิจของแพทย์