Loading...

ทีมสหเวชฯ ธรรมศาสตร์ คว้าแชมป์นวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งชาติ 2565

คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรม “เครื่องวัดออกซิเจนและอัตราการเต้นของหัวใจที่ปลายนิ้ว รายงานผลด้วยระบบการแพทย์ทางไกล”

วันศุกร์ที่ 5 สิงหาคม พ.ศ.2565

     Telemedicine Pulse Oximeter (เครื่องวัดออกซิเจนและอัตราการเต้นของหัวใจที่ปลายนิ้ว รายงานผลด้วยระบบการแพทย์ทางไกล) นวัตกรรมสร้างสรรค์จากทีมคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ผศ.ดร.สายรัก สอาดไพร, ผศ.สุภัทรา ศิลปบรรเลง, ผศ.ดร.ศุภชัย วรพจน์พิศุทธิ์, นางสาววินิธา ผึ้งถนอม นักวิทยาศาสตร์การกีฬา, นางสาวดาราวดี พานิช นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ ชั้นปีที่ 4, นายสุทธิรักษ์ อาจณรงค์ นักศึกษาคณะสหเวชศาสตร์ ชั้นปีที่ 4, นางสาวกัญญาลักษณ์  แทนคร นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 และนางสาวอภิรัตน์ ตันติวรารัตน์ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 4 ได้รับรางวัลชนะเลิศในการประกวดนวัตกรรมด้านวิทยาศาสตร์การกีฬาแห่งชาติ ประจำปี 2565 (Sport Science Innovation Contest 2022) จัดโดยสำนักวิทยาศาสตร์การกีฬา กรมพลศึกษา

     ผศ.ดร.สายรัก สอาดไพร อาจารย์ประจำสาขาวิชาวิทยาศาสตร์การกีฬาและพัฒนากีฬา คณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 การรับมือกับการเข้ารับการรักษาผู้ติดเชื้อจำเป็นต้องได้รับการประเมินและติดตามอาการต่าง ๆ ทั้งผู้ป่วยในโรงพยาบาล โรงพยาบาลสนาม และการแยกกักตัวที่บ้าน (Home Isolation) ซึ่งทำให้บุคลากรทางการแพทย์ต้องดูแลผู้ป่วยเป็นจำนวนมาก อีกทั้งในปัจจุบันจะเห็นว่ามีนักวิทยาศาสตร์การกีฬาปรับเปลี่ยนรูปแบบการให้คำแนะนำเป็นการออกกำลังกายแบบการแพทย์ทางไกล เช่น ผู้ฝึกสอนกีฬาให้คำแนะนำการออกกำลังกายผ่านระบบออนไลน์ ซึ่งข้อดีก็คือ ผู้ฝึกสอนและผู้ออกกำลังกายลดการสัมผัสใกล้ชิด ลดการใช้อุปกรณ์ร่วมกัน แต่ข้อเสียที่สำคัญก็คือการออกกำลังกายแบบระบบทางไกลนี้ไม่สามารถติดตามข้อมูลสัญญาณชีพที่สำคัญได้ เช่น อัตราการเต้นของหัวใจ และความอิ่มตัวของออกซิเจนในเม็ดเลือดแดง

     รวมไปถึงการช่วยติดตามอาการของผู้ที่มีความเสี่ยงในการออกกำลังกายด้วยตนเองที่บ้าน เช่น ผู้ป่วยโรคอ้วน โรคเบาหวาน โรคความดัน หรือผู้ที่มีความเสี่ยงของเชื้อ COVID-19 ยิ่งไปกว่านั้นยังพบว่ามีผู้เสียชีวิตจากการมีกิจกรรมทางกาย หรือเล่นกีฬา เป็นอัตรา 1:80,000 ถึง 1:200,000 สำหรับนักกีฬาที่ลงแข่งในสนาม แต่หากนักกีฬามีการติดตามอัตราการเต้นของหัวใจและความอิ่มตัวของออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงอย่างต่อเนื่องในขณะมีกิจกรรมทางกาย บุคลากรทางการแพทย์จะสามารถช่วยชีวิตได้ทัน ด้วยเหตุนี้ทางทีมคณะสหเวชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมีความตั้งใจที่จะทำการศึกษาอุปกรณ์โทรเวชกรรมในการวัดอัตราการเต้นหัวใจและความอิ่มตัวของออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงแบบต่อเนื่องในขณะมีกิจกรรมทางกายเพื่อใช้ในการติดตามการเปลี่ยนแปลงของระดับอัตราการเต้นของหัวใจและความอิ่มตัวของออกซิเจนในเม็ดเลือดแดงระหว่างการออกกำลังกายและรายงานผลแบบการแพทย์ทางไกล อุปกรณ์นี้จึงถูกพัฒนาขึ้นมาเพื่อวัดอัตราการเต้นของหัวใจและค่าร้อยละของฮีโมโกลบินที่จับอยู่กับออกซิเจนในเลือด

     ผศ.ดร.สายรัก กล่าวเสริมว่า จากการพัฒนาระบบต้นแบบ Telemedicine Pulse Oximeter จะมีการวัดและรายงานค่าความอิ่มตัวของออกซิเจนในเลือดและอัตราการเต้นของหัวใจ โดยจะสามารถส่งข้อมูลผ่านระบบแพทย์ทางไกล ผ่านทาง Line ChatBot โดยข้อมูลที่เราได้จากอุปกรณ์จะถูกนำมารายงานเป็นกราฟ สามารถเรียกดูข้อมูลย้อนหลังได้ ไม่เพียงเท่านั้นอุปกรณ์ที่เราได้พัฒนาขึ้นยังมีความใกล้เคียงกับอุปกรณ์ทางการแพทย์ หรือเครื่อง Pulse Oximeter OxyTrue

     ระบบที่ใช้ในการพัฒนาตัว Hardware เรามีการใช้อุปกรณ์ LilyGo Heart Rate Kit และสมาร์ตโฟน เป็นองค์ประกอบหลักที่ใช้ในการพัฒนา โดยจะใช้ภาษา C/C++ ผ่านทางโปรแกรม Arduino IDE ในขณะตัว Software เราจะใช้ Line message API สื่อสารไปยังบุคลากรทางการแพทย์ ผู้ประมวลผล หรือผู้ฟื้นตัวจาก COVID-19 โดยรูปแบบของ Line Bot ที่เราพัฒนาขึ้น จะใช้ภาษา Python ผ่านทาง Google Colab ร่วมกับ Line Server ในรูปแบบของ Webhook จากนั้นจะมีการรายงานผลแบบเรียลไทม์ โดยใช้ไฟล์ JSON และมีการเก็บข้อมูลในรูปแบบของ Google Sheet อีกด้วย

     “จะเห็นได้ว่าการพัฒนา Telemedicine Pulse Oximeter จะช่วยลดต้นทุนในการติดตามการตอบสนองของร่างกายในระบบหัวใจไหลเวียนเลือดและหายใจแบบทางไกล ซึ่งเป้าหมายหลักคือจะทำให้ผู้ออกกำลังกายด้วยตนเองด้วยระบบทางไกลมีโอกาสได้รับการติดตามอย่างทั่วถึงมีประสิทธิภาพ ลดการเสียชีวิตที่อาจเกิดขึ้นจากการออกกำลังกาย และรับทราบถึงสมรรถภาพการตอบสนองของร่างกายในระบบหัวใจไหลเวียนเลือดและหายใจ อีกทั้งยังช่วยลดความเสี่ยงให้กับผู้ออกกำลังกายและนักวิทยาศาสตร์การกีฬา ผู้ฝึกสอนกีฬาจาก COVID-19 และยังเป็นเครื่องมือที่จะมาช่วยประเมินประเมินสมรรถภาพของระบบหัวใจไหลเวียนเลือดและหายใจในผู้ป่วย COVID-19 ที่รักษาตัวและพักฟื้นอยู่ที่บ้านเพื่อให้บุคลากรทางการแพทย์ได้ประเมินผู้ป่วยได้แบบระบบการแพทย์ทางไกลและช่วยเหลือผู้ป่วย ผู้พักฟื้นได้ทันท่วงที” ผศ.ดร.สายรัก กล่าวทิ้งท้าย