Loading...

“ศ.ณรงค์ ใจหาญ” นักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ “เมื่อเวลาเป็นอนันต์ กฎหมายต้องไม่หยุดนิ่ง”

ศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขานิติศาสตร์

วันศุกร์ที่ 6 พฤษภาคม พ.ศ.2565

     กฎหมายเป็นกลไกสำคัญในการจัดระเบียบความสัมพันธ์ระหว่างบุคคล ระหว่างบุคคลกับรัฐ หรือเพื่อใช้ในการบริหารประเทศ เมื่อกาลเวลาเดินหน้าอย่างไม่หยุดนิ่ง ผู้คนจึงมีความคิดเติบโตและเปลี่ยนแปลงไปตามกาลเวลาที่เดินหน้าไปด้วยเช่นกัน และกฎหมายที่เกิดจากมนุษย์จึงไม่สามารถที่จะหยุดนิ่งได้ ต้องมีการปรับเปลี่ยนกฎหมายนั้นให้ตอบสนองกับผู้คนและยุคสมัยที่หมุนล้อไปกับกาลเวลาที่เดินหน้า เมื่อเป็นเช่นนั้นงานวิจัยเกี่ยวกับด้านนิติศาสตร์จึงเป็นเรื่องสำคัญ ผู้วิจัยจะต้องค้นหาปัญหาข้อขัดแย้งที่อาจจะเกิดขึ้นในทุกมิติและความสัมพันธ์ และหาวิธีจัดการแก้ไขปัญหาเหล่านั้น เพื่อที่จะสร้างกฎหมายให้สอดรับกับทัศนคติความต้องการของผู้คนยุคปัจจุบัน โดยสุดท้ายผลลัพธ์ที่กฎหมายให้ไม่ว่ากี่ยุคกี่สมัยคือทำให้ทุกความสัมพันธ์อยู่ร่วมกันบนโลกใบนี้อย่างมีความสุข

     ศ.ณรงค์ ใจหาญ คณะนิติศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ผู้ต้องการเห็นมนุษย์ที่ไม่ได้รับความเป็นธรรมในการดำเนินชีวิต ต้องการที่จะปรับเปลี่ยนกฎหมายซึ่งไม่สอดคล้องกับสถานการณ์ไม่เหมาะสมและมีข้อบกพร่อง ให้สอดรับกับสังคมปัจจุบันให้ได้มากที่สุด และสิ่งสำคัญคือทำให้กฎหมายประเทศไทยก้าวทันเวทีโลก จึงนับเป็นหนึ่งในนักวิจัยแนวหน้าไม่กี่ท่านที่ศึกษางานด้านนิติศาสตร์จนได้รับรางวัลเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ ประจำปี 2565 สาขานิติศาสตร์

     “งานวิจัยที่ผมได้รับการเสนอเพื่อเป็นนักวิจัยดีเด่นแห่งชาตินั้น มีทั้งหมด 3 ชิ้น จะเน้นหนักที่ด้านกระบวนการยุติธรรมทางอาญา 1.เป็นการนำเสนอรูปแบบของการใช้กระบวนการยุติธรรมเชิงสมานฉันท์ในศาลยุติธรรม 2.เป็นเรื่องการช่วยเหลือทางกฎหมายแก่ประชาชนของประชาคมอาเซียน และ 3.การปฏิรูปกระบวนการยุติธรรม เรื่องของการช่วยเหลือผู้เสียหายในคดีอาญาในประเทศไทยและในอาเซียน งานส่วนใหญ่ของผมก็จะเป็นงานวิจัยเชิงนิติศาสตร์ที่มีข้อเสนอการแก้ไขกฎหมาย ผลของการศึกษาออกมาในรูปของการยกร่างกฎหมายหรือการแก้ไขกฎหมายเดิมให้สอดคล้องบริบทสังคม ซึ่งทางหน่วยงานที่เกี่ยวข้องจะนำไปเสนอกฎหมายให้เป็นรูปธรรม” ศ.ณรงค์ กล่าว

     ศ.ณรงค์ กล่าวต่อไปอีกว่า ผมคิดว่าเป้าหมายของผลงานทั้ง 3 ชิ้นนั้น หรืองานวิจัยอื่น ๆ ข้อสำคัญก็คือต้องตอบโจทย์ประโยชน์ส่วนรวมของสังคมไทย เป็นหลักเกณฑ์ที่สร้างความสงบสุขให้กับสังคมไทย รวมทั้งการยกระดับให้ไทยเรามีบทบาทต่าง ๆ ในระหว่างประเทศ เพราะฉะนั้นงานวิจัยที่ผมพยายามทำอยู่ตลอดเวลา ประมาณ 30 ปี เมื่อผมทำขึ้นมาแล้วจะต้องสามารถตอบโจทย์ความต้องการของคนในประเทศ และบทบาทของไทยในระดับโลกได้ เราเป็นประเทศเล็ก แต่ในแง่ของภารกิจ เรื่องของสิทธิมนุษยชน เรื่องของการดำเนินคดีอาญา ประเทศไทยก็ใช้โมเดลที่เป็นมาตรฐานสากล ฉะนั้นพอผมศึกษา concept เหล่านี้แล้ว การที่ผมได้รับโอกาสที่จะเสนอการแก้ไขกฎหมายหรือปรับปรุงระบบกฎหมายเหล่านี้ให้ดี ก็จะส่งผลต่อภาพลักษณ์ของประเทศไทยให้เป็นที่น่าชื่นชมในสายตาของประชาคมโลกว่ามีความก้าวหน้าในกฎหมายระดับสากล

     “หลังจากที่ทำงานวิจัยเหล่านี้ไป ก็ยังมีงานที่เข้าไปช่วยในเรื่องอื่นคือเรื่องการปรับปรุงกฎหมายที่เกี่ยวกับสังคมอยู่ 2 เรื่อง เรื่องที่หนึ่งได้ทำเสร็จไปแล้ว กำลังจะผลักดันเป็นกฎหมายก็คือ กฎหมายที่เกี่ยวกับเรื่องของการคุ้มครองผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงในครอบครัว ส่วนอันที่สองก็เป็นเรื่องกฎหมายที่เกี่ยวกับการป้องกันและปราบปรามการค้าประเวณี แล้วก็อีกโครงการหนึ่งที่กำลังจะเข้าไปช่วยเหลือคือเรื่องเกี่ยวกับการปรับปรุงกฎหมายน้ำบาดาล ซึ่งถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะมีส่วนร่วมในการผลักดันขึ้นมาเพื่อให้มีกฎหมายที่สามารถตอบโจทย์สังคมไทยที่กำลังมีปัญหาอยู่ในปัจจุบันได้” ศ.ณรงค์ กล่าวทิ้งท้าย