Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือ 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ ร่วมสร้าง Thammasat AI City for Innovation, Digitalization and Sustainability

เมืองปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เสริมความร่วมมือการวิจัยและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม ภายใต้กรอบ Safe City-Smart Mobility-Smart Environment

วันจันทร์ที่ 7 มีนาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ บริษัทยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จำกัด บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) และ บริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด ลงนามในบันทึกข้อตกลงความร่วมมือด้านการวิจัยและพัฒนา โครงการ “เมืองปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” (Thammasat AI City for Innovation, Digitalization and Sustainability) เพื่อสร้างเสริมความร่วมมือทางด้านการวิจัยและพัฒนาต้นแบบนวัตกรรม โดยนำผลผลิตและผลิตภัณฑ์ที่วิจัยมาทดสอบเพื่อพัฒนาพื้นที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ให้เป็นเมืองปัญญาประดิษฐ์ (AI City) ตัวอย่าง และต่อยอดเป็นนวัตกรรมที่จะก่อให้เกิดประโยชน์ โดยมี ศ.ดร.ทพญ.ศิริวรรณ สืบนุการณ์ รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ ดร.วิรัช ศรเลิศล้ำวาณิช หัวหน้าโครงการวิจัยเมืองปัญญาประดิษฐ์ในเครือข่ายมหาวิทยาลัยวิจัย คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าร่วมพิธีดังกล่าวด้วย เมื่อวันที่ 23 กุมภาพันธ์ 2565 ณ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     โดยโครงการ “เมืองปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” จะดำเนินภายใต้กรอบการวิจัยหลัก 3 ด้าน คือ 1.การจัดการความปลอดภัยเมือง (Safe City) 2.การจัดการจราจรอัจฉริยะ (Smart Mobility) และ 3.การจัดการสิ่งแวดล้อมอัจฉริยะ (Smart Environment)

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ตระหนักมาโดยตลอดว่าควรมีเครื่องมือหรือนวัตกรรมที่คอยสังเกตเฝ้าระวังเหตุการณ์ที่น่าเป็นห่วง หรือสถานการณ์ต่าง ๆ ที่ไม่พึงประสงค์ เพื่อที่จะสามารถแก้ไขปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างทันท่วงที และนอกจากนี้ในบางครั้งประชาคมธรรมศาสตร์ต้องการข้อมูลจำนวนมากในการตัดสินใจ เช่น เรื่องเส้นทางในการคมนาคมเพื่อหลีกเลี่ยงเส้นทางการจราจรที่ติดขัด เนื่องจากในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีผู้คนอาศัยอยู่เป็นจำนวนมาก

     การสร้างความร่วมมือร่วมกับองค์กรที่มีความโดดเด่นเฉพาะทางในครั้งนี้ ทำให้ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เชื่อมั่นว่าความร่วมมือในครั้งนี้จะประสบความสำเร็จตามเป้าหมายที่วางไว้ ซึ่งไม่ใช่เพียงเพื่อแก้ปัญหาที่เกิดเท่านั้น แต่เพื่อให้เกิดงานวิจัยนวัตกรรมที่สามารถพัฒนาต่อยอดให้เชื่อมโยงกับการมีคุณภาพชีวิตที่ดีของประชาชนคนไทยและสังคมโลกในอนาคตได้อีกด้วย

     รศ.ดร.พิษณุ ตู้จินดา รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านคุณภาพชีวิต มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีความเฉพาะเจาะจงเหมาะสมอย่างยิ่งที่จะเป็นพื้นที่ต้นแบบ (Simulation) แก่การทำงานด้านเทคโนโลยี และ AI City ด้วยพื้นที่กว่า 1,800 ไร่ ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต มีความหลากหลายในเรื่องของคน ระดับการศึกษา อาชีพ เชื้อชาติ และที่สำคัญที่สุดของความเท่าเทียมกันทางสังคม ไม่ว่าจะเป็นผู้พิการ ผู้สูงอายุ และผู้ด้อยโอกาส ดังนั้นความร่วมมือในครั้งนี้ จะสร้างมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ให้เป็น Smart City อย่างเต็มรูปแบบ

     คุณธนาพันธ์ ตันติสัตยกุล กรรมการผู้จัดการร่วม บริษัท ยูไนเต็ด เทคโนโลยี เอ็นเตอร์ไพรส์ จํากัด (ยูทีอี) ในกลุ่มเบญจจินดา กล่าวว่า บริษัทฯ จะทำการวางโครงสร้างพื้นฐานทางด้านดิจิทัล โดยตั้งเสาอัจฉริยะ Smart Lucky Pole ซึ่งมีความเสถียรในการส่งข้อมูล มีความหน่วงเวลา (latency) หรือความหน่วงในการส่งข้อมูลต่ำในระดับ 1 มิลลิวินาที ที่เรียกว่า URLLC หรือ Ultra-reliable and Low Latency Communications พร้อมทั้งติดตั้งอุปกรณ์ IoT บนเสา พร้อมด้วย VDO Analytic จาก CCTV การแจ้งเตือนและการมีปฏิสัมพันธ์ กับตัวป้าย Digital signage ในรูปแบบ Interactive นอกจากนี้ ยังดึงข้อมูลจากอุปกรณ์  Environment Sensor, Flooding Sensor และ PM2.5 Sensor เพื่อนำมาวิเคราะห์และแสดงผลผ่าน Dashboard ซึ่งจะเป็นประโยชน์ในการทำวิจัยและพัฒนาบนพื้นที่ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ก่อนจะนำไปใช้กับพื้นที่อื่น ๆ ในอนาคต

     นายอราคิน รักษ์จิตตาโภค หัวหน้าฝ่ายขับเคลื่อนนวัตกรรม บริษัท แอดวานซ์ อินโฟร์ เซอร์วิส จำกัด (มหาชน) (AIS) เปิดเผยว่า นวัตกรรมสัญญาณ 5G ของ AIS ถูกออกแบบมาให้เหมาะกับทุกอุตสาหกรรม ไม่เพียงแต่ในรูปแบบของซิมโทรศัพท์มือถือเท่านั้น การร่วมมือในโครงการครั้งนี้ทางบริษัทเล็งเห็นว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะใช้นวัตกรรมสัญญาณ 5G ในการพัฒนางานด้านอื่น ๆ ให้เป็นประโยชน์ โดยเฉพาะมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่เปรียบเสมือนห้องแล็บขนาดใหญ่ที่เราจะได้ร่วมวิจัย คิดค้น และพัฒนานวัตกรรมใหม่ ๆ ให้ดียิ่งขึ้น

     นายฮิโรชิ สุกิตะ ผู้แทนจากบริษัท เอ็นเอ็มบี-มินีแบ ไทย จำกัด ผู้ผลิตตลับลูกปืน ชิ้นส่วนเชิงกล และชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์ กล่าวว่า ความร่วมมือโครงการ “เมืองปัญญาประดิษฐ์แห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์” ในครั้งนี้ บริษัทฯ จะนำเทคโนโลยีกระบวนการผลิตที่ทันสมัย ครบวงจร และทรัพยากรที่ทางบริษัทผลิตขึ้น มาช่วยในการวิจัยและพัฒนานวัตกรรมที่ทางมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์กำลังดำเนินการอยู่เพื่อตอบโจทย์การเป็น AI City ต่อไป