Loading...

วิศวะฯ ธรรมศาสตร์ ผุดไอเดียประดิษฐ์ ‘เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสด้วยแก๊สโอโซน’ ป้องกัน COVID-19

นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประดิษฐ์เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสด้วยแก๊สโอโซน’ ป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019

วันพุธที่ 7 เมษายน พ.ศ.2564

     ทีมนักศึกษาชมรมแมคคาทอร์นิก คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำทีมโดย นายสรวิศ ลิขิตพฤกษ์ไพศาล นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล นายอิทธิกร ประกายศักดิ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 ภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล และนายกริช สุวัตถิกุล นักศึกษาชั้นปีที่ 2 ภาควิชาวิศวกรรมไฟฟ้า ได้ประดิษฐ์คิดค้นผลงานนวัตกรรม “เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสด้วยแก๊สโอโซน” (Ozone Sterilizer) เพื่อเป็นอีกทางเลือกหนึ่งสำหรับการป้องกันการแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ที่กำลังแพร่ระบาดทั่วโลกอยู่ขณะนี้

     นายสรวิศ ลิขิตพฤกษ์ไพศาล เปิดเผยว่า นวัตกรรมนี้เป็นเครื่องกำจัดเชื้อไวรัสด้วยแก๊สโอโซน (Ozone Sterilizer) ที่สามารถใช้ฆ่าเชื้อไวรัสโคโรน่า 2019 (COVID-19) และเชื้อแบคทีเรีย โดยจะทำการฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียที่อยู่ภายในห้องปิด หลักการคือ การสร้างแก๊สโอโซนที่สร้างขึ้นจากปฏิกิริยาทางไฟฟ้าด้วยวิธีการคอโรนาดิสชาร์จ (Corona Discharge) จนได้เป็นแก๊สโอโซนที่มีความเข้มข้นเพียงพอในการฆ่าเชื้อ และภายในเครื่องฆ่าเชื้อนี้ได้ใช้พัดลมโบลเวอร์ เป็นตัวพาแก๊สโอโซนที่ผลิตได้ ให้กระจายไปทั่วบริเวณภายในห้องปิด รวมไปถึงจุดที่เข้าถึงได้ยาก เช่น ใต้โต๊ะ ซอกเล็ก ๆ หรือแม้กระทั่งมุมอับหลังจากอบฆ่าเชื้อด้วยแก๊สโอโซนตามระยะเวลาที่กำหนดเรียบร้อยแล้วเครื่องจะหยุดทำงานโดยอัตโนมัติ ซึ่งแก๊สโอโซนจะสามารถสลายตัวได้เองโดยธรรมชาติภายใน 50-60 นาที โดยประมาณ ณ อุณหภูมิห้อง แต่ควรต้องเปิดห้องให้มีการถ่ายเทของอากาศก่อนใช้งานสัก 30 นาที หลังจากนั้นก็สามารถใช้ห้องทำงานหรือเรียนได้อย่างปลอดภัย

     นายอิทธิกร ประกายศักดิ์ กล่าวว่า สำหรับการใช้งานของเครื่องกำจัดเชื้อไวรัสด้วยแก๊สโอโซน (Ozone Sterilizer) ที่สร้างขึ้นนี้ โดยเริ่มจากเราเลือกเปิดความเร็วลมบนเครื่องซึ่งมี 3 ระดับ คือต่ำ กลาง สูง ตามลำดับเพื่อให้ได้ความแรงของลมตามที่ต้องการจะเป่าให้กระจายไปในห้องตามแต่ละขนาด จากนั้นเปิดสวิตซ์ข้าง ๆ ปุ่มความเร็วลมเพื่อเปิดชุดตั้งเวลานับถอยหลังการเปิดการทำงานที่จะผลิตแก๊สโอโซน พอตั้งเวลาเปิดล่วงหน้าตามความต้องการเสร็จแล้วจึงเปิดสวิตซ์ใหญ่ตรงกลางเครื่อง เพื่อเริ่มการนับถอยหลังตามเวลาที่ตั้งไว้ ก่อนให้เครื่อง Ozone Sterilizer เปิดผลิตแก๊สโอโซนเป็นเวลา 50 นาที

     “ส่วนการประดิษฐ์เครื่องกำจัดเชื้อไวรัสด้วยแก๊สโอโซนจำนวน 6 เครื่องนี้ ใช้เวลาประมาณ 4-5 เดือน ในการศึกษาแหล่งข้อมูลที่เชื่อถือได้จากทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งทำการสร้างเครื่องอบฆ่าเชื้อด้วยแก๊สโอโซน 2 version แรกที่ใช้พัดลมแตกต่างกัน และทดสอบการผลิตแก๊สโอโซนในห้องเรียนหลากหลายขนาด เพื่อหาปริมาณแก๊สโอโซนที่ผลิตได้ และระยะทางที่แก๊สโอโซนสามารถฟุ้งกระจายไปยังตำแหน่งต่าง ๆ ได้ประสิทธิภาพ จนได้เป็นตัวต้นแบบเครื่องกำจัดเชื้อไวรัสด้วยแก๊สโอโซน version ที่ 3 ขึ้นมานี้ทั้ง 6 เครื่อง”

     นายกริช สุวัตถิกุล กล่าวเสริมว่า ในอนาคตเราจะมีการพัฒนาและต่อยอดเครื่องกำจัดเชื้อไวรัสด้วยแก๊สโอโซน (Ozone Sterilizer) นี้อย่างแน่นอน เพราะเครื่องนี้ยังสามารถใช้ช่วยฆ่าเชื้อไวรัสและแบคทีเรียชนิดอื่นที่สะสมในห้องเรียน นอกจากนั้นแล้วในอนาคตอาจจะเพิ่มฟังก์ชันพิเศษ เช่น การกรองฝุ่นละอองขนาดเล็กและกลิ่นอับในอากาศ และการกำจัดแก๊สโอโซนหลังจากการฆ่าเชื้อในช่วงเวลา 50 นาที เพื่อให้สามารถเข้าใช้ห้องเรียนและห้องประชุมได้เร็วขึ้นกว่า 60 นาที ซึ่งในอนาคตจะเป็นไปในรูปแบบไหนสามารถติดตามรอชมได้เลยครับ

     ด้านอาจารย์ที่ปรึกษาโครงการ ผศ.ดร.ปรัชญา เปรมปราณีรัชต์ อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมเครื่องกล คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ต้องบอกเลยว่าท่านเป็นกำลังสำคัญในโปรเจกต์นี้ เพราะอาจารย์เป็นทั้งที่ปรึกษาและคอยช่วยเหลือมาตลอดทั้งส่วนการศึกษา ไม่ว่าจะเป็นขั้นตอนการค้นคว้า หรือแม้กระทั่งส่วนขั้นตอนในการทดลองเก็บค่าในห้องเรียน ทั้งยังช่วยชี้แนะแนวทางการแก้ไข ยิ่งไปกว่านั้นในขั้นตอนการลงมือสร้างอาจารย์ก็เข้ามามีส่วนร่วมลงมือและให้คำปรึกษาในทุก ๆ ครั้ง เรียกว่าอยู่ทั้งเบื้องหน้าและเบื้องหลังความสำเร็จนี้เลยก็ว่าได้ นายอิทธิกร กล่าวทิ้งท้าย