Loading...

โลกเปิดกว้างให้กับผู้มีความรู้ด้าน ‘พยาบาล’ นี่คือหลักสูตรแห่งโอกาส กรุยทางสู่การสร้างธุรกิจ

วิสัยทัศน์คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์ โลกเปิดกว้างให้กับผู้มีความรู้ด้านพยาบาล นี่คือหลักสูตรแห่งโอกาส กรุยทางสู่การสร้างธุรกิจ

วันพุธที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2565

     เมื่อก่อนหากพูดถึง ‘พยาบาล’ สังคมอาจจะติดภาพจำว่ามีหน้าที่เป็นเพียง ‘ผู้ช่วย’ ของแพทย์ ซึ่งถือเป็นความเข้าใจผิดอย่างรุนแรง เพราะพยาบาลมีหน้าที่และมีบทบาทต่อระบบสาธารณสุขมากกว่านั้น

     ใครบางคนเปรียบเปรย ‘พยาบาล’ เป็นกระโถนของโรงพยาบาล ความข้อนี้อาจจะดูใกล้ความเป็นจริงขึ้นมาบ้าง

     แท้ที่จริงแล้ว พยาบาลไม่ต่างไปจาก ‘ด่านหน้า’ ในระบบบริการสุขภาพ ซึ่งก่อนอื่นต้องแยกให้ชัดก่อนว่า เวลาผู้คนไม่สบายจะเกี่ยวข้องกับ 2 ส่วนหลัก ๆ ได้แก่ ‘โรค’ และ ‘ความเจ็บป่วย’ และแน่นอนว่า สองสิ่งนี้ไม่เหมือนกัน

     ถ้าอธิบายให้เข้าใจง่าย คือ ‘โรค’ เกิดจากเชื้อไวรัส ทำให้สุขภาพไม่ดีจึงต้องรับการรักษาด้วยยาหรือเทคโนโลยีต่างๆ ส่วน ‘ความเจ็บป่วย’ เป็นผลกระทบที่เกิดจากโรค ซึ่งต้องการการดูแลที่มีมิติมากกว่า ‘มด หมอ หยูกยา’ เพราะสิ่งที่เกิดขึ้นกับผู้ป่วยไม่ใช่เพียงความเปลี่ยนแปลงของร่างกาย แต่หมายรวมไปถึงการใช้ชีวิตด้วย

     การดูแลนี้เองคือ ‘บทบาทของพยาบาล’ ที่ตั้งอยู่บนฐานแนวคิดสำคัญเรื่อง การดูแลสุขภาพแบบองค์รวม (Holistic Health) หรือก็คือการดูแลตั้งแต่ร่างกาย จิตใจ สังคม และจิตวิญญาณ ของผู้ป่วยนั่นเอง

     “ในมุมของพยาบาลหรือสิ่งที่ถูกปลูกฝังในตัวเรา มันเป็นคนละมิติกับทางการแพทย์ แพทย์จะถูกสอนให้เป็นผู้รักษาตัวโรค แต่พยาบาลเราถูกปลูกฝังในการดูแลความเจ็บป่วย” ผศ.ดร.ปรีย์กมล รัชนกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชี้ให้เห็นถึงความแตกต่าง

     ทว่า นั่นเป็นเพียงบทบาทด้านหนึ่งของ ‘พยาบาล’ เท่านั้น ยังมีบทบาทอีกหลายหลายที่คนจำนวนไม่น้อยยังไม่รู้ ซึ่งนำไปสู่ทางเลือกของอาชีพที่มากขึ้นด้วย เช่น ‘การสร้างนวัตกรรมทางสุขภาพ’ ให้กับสังคม ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมการบริการไปจนถึงสิ่งประดิษฐ์ที่จะช่วยเพิ่มคุณภาพชีวิตให้กับผู้ป่วย ซึ่งเป็นบทบาทหนึ่งที่คณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ให้ความสำคัญ

     “เรามีอาจารย์ที่คิดค้นนวัตกรรมอยู่หลายชิ้นในการช่วยผู้ป่วย เช่น เบาะนอนช่วยพลิกตัวสำหรับผู้ป่วยที่เป็นแผลกดทับ โถปัสสาวะเคลื่อนที่สำหรับผู้ป่วยจิตเวช ซึ่งในส่วนนี้นับเป็นอีกหนึ่งจุดเด่นของทางคณะเมื่อไหร่ที่สภาการพยาบาลอยากหาคนไปบรรยายเรื่องนวัตกรรมก็จะนึกถึงบุคลากรของทางธรรมศาสตร์เป็นอันดับแรก” ผศ.ดร.ปรีย์กมล ระบุ

     มากไปกว่านั้น องค์ความรู้ของทางพยาบาล ซึ่งมีความกว้างขวางในเรื่องการดูแล ยังเปิดโอกาสให้สามารถประกอบอาชีพอื่น ๆ ที่ไม่ใช่เพียงแค่การเป็นพยาบาลในโรงพยาบาล ตลอดจนสร้างธุรกิจได้อีกจำนวนมาก เช่น พยาบาลในแท่นขุดเจาะน้ำมัน เนอสเซอรีดูแลเด็กเล็ก ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ คลินิกเสริมความงาม นอกจากนี้ยังสอดคล้องกับเทรนด์ดูแลสุขภาพองค์รวม (Wellness) ของสังคมและธุรกิจในปัจจุบัน รวมถึงจะกลายเป็นเทรนด์สำคัญทางธุรกิจของโลกในอนาคตอีกด้วย

     ข้อมูลจาก Global Wellness Institute ระบุว่า ในปี 2562 เศรษฐกิจเพื่อสุขภาพของโลก สร้างมูลค่ากว่า 4.9 ล้านล้านดอลลาร์ และลดลงเหลือ 4.4 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2563 จากผลกระทบของโควิด-19

     อย่างไรก็ดี คาดการณ์ว่าหลังพ้นช่วงการระบาดของโควิด จะกลับมาเติบโตเฉลี่ยปีละ 9.9% โดยจะมีมูลค่าสูงถึง 7 ล้านล้านดอลลาร์ ในปี 2568

     ผศ.ดร.ปรีย์กมล บอกว่า คณะพยาบาลฯ และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ซึ่งเล็งเห็นถึงโอกาสที่จะเกิดขึ้นกับนักศึกษาจึงมีรายวิชาที่หนุนเสริมให้ได้เรียนรู้เกี่ยวกับการบริหารจัดการธุรกิจ ควบคู่ไปกับการสร้างประสบการณ์ ความรู้ทางศาสตร์ของพยาบาลและนวัตกรรม เพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกให้นักศึกษาสามารถนำไปต่อยอดทางอาชีพได้มากขึ้น

     ตัวอย่างรายวิชา เช่น การฝึกปฏิบัติในศูนย์พัฒนาเด็ก และหน่วยบริการสุขภาพ ซึ่งทั้งสองแห่งมีอยู่ในคณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์

     “นักศึกษาเองจะสามารถที่จะมองเห็นภาพว่าการจะเปิดศูนย์ดูแลเด็กหรือดูแลผู้สูงอายุที่ดีมีมาตรฐานมีอะไรบ้าง ต้องทำอะไรบ้าง สำหรับกรณีผู้สูงอายุ ต้องบอกว่า ณ วันนี้ศูนย์ที่ดูแลผู้สูงอายุซึ่งมีภาวะสมองเสื่อม หรือภาวะผิดปกติอื่น ๆ ทางร่างกาย กำลังเป็นที่ต้องการมาก และทางคณะก็มีพยาบาลที่เชี่ยวชาญในการดูแลผู้สูงอายุที่มีภาวะสมองเสื่อม รวมถึงยังเป็น Training Center ในด้านนี้ด้วย” คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ

     ผศ.ดร.ปรีย์กมล กล่าวว่า อีกหนึ่งจุดแข็งของคณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คือการมี โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นพาร์ทเนอร์ โดยเฉพาะฝ่ายอำนวยการพยาบาล ซึ่งได้ร่วมทำงานและวางแผนในการพัฒนาศักยภาพพยาบาลของธรรมศาสตร์ให้มีความพร้อมเพื่อที่จะเป็นกำลังสำคัญให้กับระบบบริการสุขภาพของประเทศอีกด้วย

     นอกจากนี้ ยังมีศูนย์ธรรมศาสตร์ธรรมรักษ์ ซึ่งเป็นการร่วมกันกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยให้ความสำคัญกับการสร้างบุคลากรด้านการดูแลแบบประคับประคองสำหรับผู้ป่วยระยะสุดท้ายในประเทศ

     “เรากำลังจะจัด International Conference กับคู่ความร่วมมือกับทางคณะ ซึ่งจะมี Palliative Center จากประเทศต่าง ๆ เพราะฉะนั้นเราก็มองว่าความเข้มแข็งตรงนี้ ของที่เรามีกับองค์ความรู้ที่คนอื่นมีมันจะสามารถที่จะผสานกันยังไงได้บ้าง เพื่อนำไปใช้ให้เกิดประโยชน์กับประเทศเราได้” คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ระบุ