Loading...

“น้ำกลิ้งบนใบบัว” พื้นที่สุขภาพและธรรมชาติ ผลงานนักศึกษาสถาปัตย์ฯ มธ. คว้าแชมป์ COTTO Design 2022

นักศึกษาคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง ธรรมศาสตร์ ออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยในฝัน “น้ำกลิ้งบนใบบัว” ใส่ใจสุขภาพและธรรมชาติรอบตัว

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

     นายรหัท มีกุศล และนางสาวภัณฑิรา คชเสนี นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผลงาน “น้ำกลิ้งบนใบบัว” คว้ารางวัลชนะเลิศจากเวที COTTO Design Contest 2022

     COTTO Design Contest 2022 เป็นเวทีการแข่งขันสำหรับนักศึกษา โดยมีโจทย์ให้ออกแบบพื้นที่อยู่อาศัยในฝัน (Dream Space) ภายใต้แนวคิด “ใส่ใจสุขภาพและธรรมชาติรอบตัว”

     นายรหัท มีกุศล เล่าถึงจุดเริ่มต้นของผลงานว่า เราตีความโจทย์นี้ว่าเป็นพื้นที่ที่อยู่ในความฝัน ไม่สามารถเกิดขึ้นได้ในความเป็นจริง จึงออกแบบให้เสมือนอยู่ใต้น้ำ โดยต้องการสร้างประสบการณ์ในการอยู่ร่วมอาศัย และเกิดการรับรู้ธรรมชาติผ่านประสาทสัมผัสทั้ง 5 ซึ่งเป็นการบำบัดและเชื่อมผู้อาศัยเข้าสู่ธรรมชาติ พวกเราได้นำองค์ประกอบของการกลิ้งของน้ำบนใบบัวมาเป็นแรงบันดาลใจในการออกแบบ มีการปรับเปลี่ยนและลดทอนองค์ประกอบให้เกิดเป็นพื้นที่ขึ้นมาใหม่ จึงออกมาเป็นผลงาน “น้ำกลิ้งบนใบบัว”

     นางสาวภัณฑิรา คชเสนี กล่าวถึงจุดเด่นของผลงานว่า จุดเด่นคือ ความกลมกลืนของพื้นที่ ทำให้ผู้อาศัยเกิดการหลอมรวมกับธรรมชาติได้มากที่สุด ตั้งแต่ฟอร์มของตัวอาคารที่ได้รับแรงบันดาลใจมาจากใบบัวที่มีน้ำกลิ้ง ด้านบนมีลักษณะกลมมน แสงของช่องเปิดที่ส่องผ่านลงมาถึงบริเวณพื้นที่การใช้งาน มีความโดดเด่นด้วยแสงที่หักเหกับกระจกเกิดเป็นเส้นริ้วคล้ายน้ำฉายอยู่ภายในห้อง การปรับเปลี่ยนเฟอร์นิเจอร์ให้สามารถหมุนได้ เพื่อปรับเปลี่ยนมุมมองในการรับรู้ธรรมชาติ อีกทั้งยังตรงกับแนวคิด “น้ำที่กลิ้งไปมาบนใบบัว”

     ส่วนหนึ่งที่ทำให้เกิดจุดเด่นมากขึ้นคือ การเลือกใช้กระเบื้องที่มีความสอดคล้องกับฟังก์ชันการใช้งานที่เหมาะสม เช่น การใช้กระเบื้องฟอกอากาศในห้องนั่งเล่น การใช้กระเบื้องฆ่าเชื้อโรคในห้องครัว และลักษณะของลายกระเบื้องที่ทำให้รู้สึกมีความกลมกลืนกับธรรมชาติมากที่สุด

     “พวกเราได้ออกแบบและเลือกเฟอร์นิเจอร์ให้เข้ากับผลงาน อย่างการออกแบบการใช้งานของแต่ละพื้นที่ การเลือกกระเบื้องของทาง COTTO เพื่อให้เหมาะสมกับฟังก์ชันการใช้งาน โดยคำนึงถึงความกลมกลืนกับธรรมชาติและความสวยงามให้ได้มากที่สุด ซึ่งผลงานนี้เป็นเพียงภาพเปอร์สเปกตีฟ ถ้าสร้างจริงอยากจะสร้างให้อยู่ในป่า ใกล้สระน้ำ หรือสวนหลังบ้าน เพื่อให้เป็นพื้นที่ของคนในครอบครัวได้มาผ่อนคลายทั้งทางกายและใจ” นางสาวภัณฑิรา กล่าว

     นางสาวภัณฑิรา กล่าวต่ออีกว่า การออกแบบนี้ได้สร้างประโยชน์แก่ผู้ที่อยู่อาศัยคือ ทำให้ผู้ที่ใช้งานใกล้ชิดกับธรรมชาติมากยิ่งขึ้น อีกทั้งยังใส่ใจในสุขภาพและการใช้งานของผู้อยู่อาศัยอีกด้วย และถ้าหากได้นำไปต่อยอดในอนาคต พวกเราอาจเริ่มจริงจังกับโครงสร้างและระบบภายในมากยิ่งขึ้น เพื่อความสะดวกสบายของผู้อยู่อาศัยและนำไปพัฒนาต่อให้สามารถสร้างจริงและอยู่อาศัยได้

     “รู้สึกดีใจมาก ไม่คิดว่าจะได้รางวัลที่ 1 เป็นครั้งแรกที่รู้สึกภูมิใจในผลงานที่พวกเราทำมาก ทำให้รู้สึกอยากสร้างสรรค์ผลงานดี ๆ แบบนี้อีกต่อไป ต้องขอขอบคุณอาจารย์ประจำสาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่คอยแนะนำและสนับสนุนผลงานของพวกเรา รวมไปถึงทางบริษัท COTTO ที่จัดกิจกรรมนี้ เป็นพื้นที่ให้พวกเราสามารถแสดงศักยภาพ แสดงแนวคิดการออกแบบต่าง ๆ เพื่อเป็นประสบการณ์ และสามารถต่อยอดนำไปใช้ในอนาคต” นายรหัท กล่าวทิ้งท้าย

     นอกจากนี้ ผลงาน “The Playground of Alltopia” โดย นายทรงพล กุศลสนอง และนายกณิศ เต็งธนกิจ นักศึกษาชั้นปีที่ 4 สาขาวิชาสถาปัตยกรรมภายใน คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 และรางวัล Popular Vote ทั้งนี้ ผลงานทั้งหมดที่ได้รับรางวัล จะได้รับการเผยแพร่ในนิตยสารบ้านและสวน และจัดแสดงในบูธ Room Showcase ที่งานบ้านและสวนแฟร์ ณ ชาเลนเจอร์ฮอลล์ เมืองทองธานี