Loading...

ก้าวสู่การเป็นเมืองยั่งยืน “ธรรมศาสตร์” ประชุมวิเคราะห์-วางแผน “รองรับภัยพิบัติ-พัฒนาที่อยู่อาศัย”

คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประชุมวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน รองรับภัยพิบัติและพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อย

วันจันทร์ที่ 7 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

     หน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมืองแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (Thammasat University Research Unit in Urban Futures and Policy: UFP) คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติ ในหัวข้อ “Stakeholder workshop on Linking Disaster Risk Governance and Land-use Planning (LIRLAP): The Case of Informal Settlements in Hazard Prone Areas in the Philippines, Thailand and Vietnam ครั้งที่ 2 ” เพื่อนำเสนอ “การวิเคราะห์และเชื่อมโยงการวางแผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน เพื่อรองรับภัยพิบัติและการพัฒนาที่อยู่อาศัยสำหรับคนรายได้น้อย สู่การเป็นเมืองที่ยั่งยืนในอนาคต” เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้อง 619 ชั้น 6 อาคารคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยส่วนหนึ่งจากการประชุมได้ความตอนหนึ่งว่า

     รศ.ดร.วิจิตรบุษบา มารมย์ หัวหน้าหน่วยวิจัยอนาคตและนโยบายเมือง คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ (Disaster risk) นั้น แตกต่างจากผลกระทบจากภัยพิบัติ (Disaster impact) ที่เราเคยเข้าใจกันมา เนื่องจาก “ความเสี่ยงจากภัยพิบัติ” เกี่ยวข้องกับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ (Climate Change) อย่างมีนัยยะสำคัญ สภาวะภูมิอากาศโลกที่แปรปรวนส่งผลให้ภัยธรรมชาติที่จะเกิดขึ้นในอนาคตทวีความรุนแรงและความถี่ในการเกิดมากขึ้น และอาจส่งผลให้พื้นที่ที่เคยปลอดน้ำท่วมในยุคก่อนอาจกลายเป็นพื้นที่เสี่ยงภัยน้ำท่วมในปัจจุบันหรืออนาคตอันใกล้ได้ นอกจากนั้น ความเสี่ยงภัยพิบัติในอนาคตระยะยาวยังสัมพันธ์กับเวลา โดยภัยธรรมชาติที่นาน ๆ เกิดขึ้นสักครั้งหนึ่งมักจะมีความรุนแรงมากกว่าภัยที่เกิดขึ้นบ่อยครั้งหรือที่มีความถี่มากกว่า กล่าวคือความเสี่ยงภัยพิบัติที่เป็นผลจากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศทำให้รูปแบบการเกิดภัยมีความไม่แน่นอนต่างไปจากภัยพิบัติเดิมในอดีต

     ผศ.ดร.ทวิดา กมลเวชช รองผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร กล่าวเสริมว่า หลังเหตุการณ์ภัยพิบัติสึนามิในปี 2547 การรับรู้และมุมมองต่อการวางแผนจัดการและการพัฒนาของหลาย ๆ ประเทศทั่วโลกเปลี่ยนแปลงไป มหันตภัยในครั้งนั้นปลุกกระแสความตระหนักถึงความสำคัญและความต้องการองค์ความรู้ที่ช่วยลดความเสี่ยงและสร้างความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน ท่ามกลางความผันผวนและความเปลี่ยนแปลงนานัปการในปัจจุบัน

     การพัฒนาพื้นที่ในอดีตเน้นประโยชน์จากการใช้งานโดยเฉพาะทางด้านเศรษฐกิจเป็นสำคัญ เนื่องจากความเปลี่ยนแปลงและความผันผวนของสภาวะภูมิอากาศโลก เราจำเป็นต้องคำนึงถึงความเชื่อมโยงในภาพรวมของการวางผังเมือง การใช้ประโยชน์ที่ดิน หรือแม้กระทั่งการใช้พื้นที่ในอาคาร ความรวดเร็วของการพัฒนาควรพิจารณาตั้งแต่ความคุ้มค่าในการใช้ทรัพยากร ปัจจัยเสี่ยง ความยืดหยุ่นและการปรับตัว ตลอดจนถึงการลดความเสี่ยงต่อภัยที่อาจเกิดในอนาคต

     ด้าน คุณธนัช นฤพรพงศ์ รองผู้อำนวยการสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (องค์การมหาชน) กล่าวว่า ชุมชนที่อยู่ในกรุงเทพมหานครและเมืองใหญ่ ๆ มักประสบภัยหลายอย่าง เช่น น้ำท่วม ไฟไหม้ การเปลี่ยนแปลงหรือสร้างชุมชนขึ้นใหม่ จึงต้องคำนึงถึงการป้องกันที่อยู่อาศัยจากภัยที่อาจเกิดขึ้นได้ในอนาคตด้วย เช่น ระดับความสูงของบ้านที่เหมาะสม สามารถรองรับสภาวะน้ำท่วมได้ หรือทางเข้า-ออกบ้าน และชุมชนที่เอื้อต่อการเข้าถึงเพื่อช่วยเหลือกรณีเกิดไฟไหม้

     ดร.สิทธิพร ชาญนำสิน ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศ สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) กล่าวในส่วนของศูนย์วิจัยเทคโนโลยีอวกาศว่า มีโครงการ Earth Space System (ESS) เป็นหนึ่งในการวิจัยขั้นแนวหน้า (Frontier Research) จาก 6 เรื่อง ซึ่งเป็นการวิจัยเชิงลึกและบูรณาการข้ามสาขาที่ทางกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ให้ความสำคัญ

     ESS คือ Roadmap ที่ทาง GISTDA พัฒนาขึ้นมาเพื่อมองอนาคตว่า ในระยะเวลา 10 หรือ 20 ปี ประเทศชาติควรจะต้องพัฒนาอย่างไรให้ยั่งยืน ยกตัวอย่างในปัจจุบันที่เราเผชิญปัญหาทั้งโควิด-19 น้ำท่วม และฝุ่น PM 2.5 พร้อมกัน ส่งผลกระทบต่อความเป็นอยู่และชีวิตมากขึ้นเรื่อย ๆ ดังนั้นจึงจำเป็นต้องสร้างองค์ความรู้และพัฒนาเทคโนโลยีให้พร้อมรับสถานการณ์ที่อาจรุนแรงมากขึ้นในอนาคต

     ใน ESS ประกอบด้วย 2 เรื่องหลัก คือ เรื่องโลกและอวกาศ (Earth and Space) เรื่องของโลกจะเกี่ยวกับสภาวะน้ำท่วมและการวางแผนผังเมืองในอนาคต การเพิ่มผลผลิตทางการเกษตร Smart Farming หรือแก้ปัญหาการใช้พื้นที่ตามจุดต่าง ๆ ในประเทศไทย ส่วนเรื่องของอวกาศ จะเกี่ยวกับด้านภัยจากอวกาศ เช่น ขยะอวกาศที่เพิ่มมากขึ้น หรือวัตถุชนกับดาวเทียมในอวกาศ รวมถึงโอกาสของอุตสาหกรรมอวกาศที่จะเกิดขึ้นอีกมากมาย เช่น เทคโนโลยีในการเก็บขยะอวกาศ การซ่อมดาวเทียมในอวกาศ หรือเติมเชื้อเพลิงในอวกาศ รวมไปถึงเรื่องการทำการสำรวจอวกาศ (Space Exploration) ซึ่งประเทศไทยได้มีการวางแผนในส่วนนี้ มีการทดลองเพื่อองค์ความรู้ใหม่ ทั้งนี้เพื่อเป้าหมายในระยะยาว 10-20 ปี

     โดยการประชุมเชิงปฏิบัติการนานาชาติในครั้งนี้ ได้ร่วมกับพันธมิตรโครงการ TU Dortmund University, Institute of Spatial Planning (TUDO) (Lead), University of Stuttgart, Institute of Spatial and Regional Planning (IREUS), Ludwig Maximilian University of Munich (LMU), Human-Environment Relations, University of the Philippines School of Urban and Regional Planning (UP SURP) และ Vietnam National University of Agriculture (VNUA), Faculty of Land Management, Ha Noi, Vietnam ภายใต้การสนับสนุนทุนวิจัยจาก Sustainable Development of Urban Regions (SURE) กระทรวงศึกษาและวิจัยประเทศเยอรมัน (Federal Ministry of Education and Research)