Loading...

ร้านกาแฟ CO-F Escape “Young Entrepreneur” คนธรรมศาสตร์ ในรั้วธรรมศาสตร์

พูดคุยกับ “Young Entrepreneur” รุ่นใหม่ศิษย์เก่าธรรมศาสตร์ ร้าน CO-F & CO-W และ CO-F Escape ร้านกาแฟที่ฮิตที่สุดในย่านรังสิต

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2563

  

     พูดคุยกับ “Young Entrepreneur” รุ่นใหม่ ร้าน CO-F & CO-W และ CO-F Escape ร้านกาแฟที่ฮิตที่สุดในย่านรังสิต แน่นอนว่าชาวธรร มศาสตร์ ศูนย์รังสิต เกือบทุกคนต้องเคยแวะเวียนหรือคุ้นเคยกับร้านนี้แน่นอน

     คุณธาดา ชัยฤกษ์ ศิษย์เก่าคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง รหัส 54 จากร้าน CO-F & CO-W และ CO-F Escape เริ่มเปิดร้านมาตั้งแต่ยังเรียนอยู่ที่คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ เมื่อปี 2016 โดยหุ้นลงทุนร่วมกับเพื่อน ๆ อีก 7 คน ปัจจุบันเปิดบริการอยู่ 2 สาขา CO-F & CO-W สาขา U-Village และ CO-F Escape สาขาสถานีขนส่งแห่งใหม่ ตรงข้ามคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ

CO-F & CO-W เดิมทีไม่ได้ตั้งใจจะขายกาแฟ

     มันเริ่มมาจากที่เราตั้งใจจะไปนั่งทำงานในที่ร้านกาแฟแห่งหนึ่งใน AIT แต่ปรากฏว่าที่นั่งในร้านเต็มทุกที่ เราเลยเริ่มคุยกับเพื่อนว่าเราน่าจะลองทำ Co-working Space และในช่วงนั้นเราเรียนไม่กี่รายวิชาด้วย เราจึงเริ่มหาข้อมูล โจทย์คือถ้าจะทำ Co-working Space ลูกค้าส่วนใหญ่ต้องการอะไร ที่นั่งแบบไหนเหมาะสม บรรยากาศแบบไหนที่ส่งผลกับการทำงาน เพื่อให้ได้ผลลัพธ์ออกมาดีที่สุด หาข้อมูลในเชิงกายภาพเหมือนที่เราเรียนมาว่า โต๊ะ-เก้าอี้ต้องสูงเท่าไร ระยะห่างระหว่างหัวเข่าคนกับโต๊ะ ค่าแสงที่จะตกกระทบไปที่โต๊ะ แสงธรรมชาติ แสงประดิษฐ์ เสียง กลิ่นของร้านเป็นอย่างไร เรียกได้ว่าทุกอย่างที่เป็นประสาทสัมผัส โดยที่ความตั้งใจแรกของเราคือต้องการทำ Co-working Space ให้ลูกค้านั่งทำงานและก็จ่ายค่าที่นั่ง

     “เราก็ทำการรีเสิร์ชอีกว่า ลูกค้านั่งอยู่ห้องใช้ไฟเท่าไร แถวนี้คิดค่าหอพักเท่าไร เราต้องทำให้ตัวเลขของเราต่ำกว่าที่เขาจะอยู่ห้อง อยู่ห้องทำงานอาจจะไม่ได้ถูกกว่าที่ CO-F มากนัก แต่คุณจะไม่ได้สัมผัสแบบนี้แน่นอน”

     พอเปิดร้านมาสัปดาห์แรกเราได้ Feedback ว่า Co-working Space มันเหมาะกับ Freelance เข้ามาทำงานเพื่อหาเงิน แต่นักศึกษาเข้ามาทำงานเพื่อส่งงาน ทีนี้โจทย์เราพลิก เราจึงเอากาแฟมาเป็นตัวตั้งของร้าน ส่วนพื้นที่ Co-working Space เป็นของแถม แต่เดิมในส่วนของกาแฟเป็นแค่ทางเลือก

จุดเปลี่ยนในการขยายร้านที่ 2 - CO-F ESCAPE

     เรามองว่าโมเดลร้านเราน่าจะเวิร์กกับมหาวิทยาลัยที่มีเด็กคาแรกเตอร์คล้าย ๆ ธรรมศาสตร์ เราก็ไปรีเสริชมา ปรากฏว่าไม่มี เราเลยเลือกมาเปิดที่ธรรมศาสตร์อีกสาขา โดยเราตั้งโจทย์ว่า “เราจะต้องโตขึ้น” เราอยากได้ความเป็นธรรมชาติมากขึ้น จนมาอยู่ที่สถานีขนส่งแห่งใหม่ ตรงข้ามคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ แต่ข้อเสียคือ ติดท่ารถตู้ เราเลยทำผนังปิด เพื่อไม่ให้ไม่รบกวนสายตา

     ร้าน CO-F ESCAPE เราตั้งใจให้มันเป็น Speed Bar ไม่ได้เป็นที่นั่งทำงานแล้ว เราเลยปรับฟังก์ชันของร้านใหม่ เฟอร์นิเจอร์ การตกแต่ง อาจจะนั่งไม่ได้สบายเท่าร้านแรกของเรา แต่สิ่งที่เรายังคงไว้คือ “แสง” ส่วนพนักงานในร้านยังมีนักศึกษาด้วย ซึ่งจะทำเป็นพาร์ทไทม์ บางคนทำตั้งแต่ปี 1 จนเรียนจบก็มี โดยเราก็จะเทรนด์งานให้อยู่แล้ว

มุมมองความเสี่ยงในธุรกิจร้านกาแฟ

     เกือบ 5 ปีที่แล้ว เราไม่ได้เข้าใจกาแฟ แต่ตอนนี้เรายอมรับว่าธุรกิจกาแฟมันโตขึ้นเร็วมาก ทุกวันนี้มีร้านกาแฟเปิดใหม่แทบจะทุกวัน แต่ก็มีเซ้งทุกวันเหมือนกัน เรามองว่ามันขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายอย่าง ทำเลที่จะเปิดร้าน ลูกค้าบริเวณนั้น เราจะทำอย่างไรให้แมตช์กับคนในพื้นที่นั้น ราคาที่เราจะขาย หาจุดเหมาะสมที่ค่อนข้างยาก ทุกวันนี้ร้านก็ยังไม่ได้คืนทุน ซึ่งการคืนทุนค่อนข้างยาก คนที่ทำร้านกาแฟแล้วคืนทุนภายใน 2 ปีนั้น เก่งมาก ลงทุนสูงคืนทุนยากมาก อุปกรณ์ราคาสูง และราคาของเมล็ดกาแฟก็มีต้นทุนต่างกันไป

โควิด-19 ทำอะไรกับเราบ้าง

     ความโชคร้ายของร้าน CO-F ESCAPE เปิดมาได้ 2 สัปดาห์ ก็ปิดเทอม พอเปิดเทอมกลับมา ก็เจอโควิด-19 พอ Lock Down เราจึงเปิดเป็นแบบ Delivery ถึงรายได้จะได้ไม่เท่าเดิม แต่ก็พออยู่ได้ ซึ่งตอนนั้นคิดแค่ว่า เราจะทำยังไงก็ได้ที่จะเซฟพนักงานไว้ได้ทุกคน เพราะเรามองว่า ถ้าสถานการณ์โควิด-19 ดีขึ้น ทุกอย่างกลับมาปกติ ทุกคนก็จะกลับมาทำงานตามปกติได้ แต่เมื่อสถานการณ์เริ่มดีขึ้นน้อง ๆ พนักงานก็ต้องกลับไปช่วยธุรกิจที่บ้านด้วยเช่นกัน ทำให้เราก็ต้องหาทีมใหม่มาแทน ความยากคือ “บาริสต้า” หายาก

     คุณธาดา พูดคุยทิ้งท้ายกับเราว่า “ร้านมันต้องโตไปกับเรา สิ่งที่จะขายมันต้องไปกับเรา ถ้าทุกวันนี้เรายังขายอะไรแบบ 4-5 ปีที่แล้ว ร้านนี้ก็อาจจะเจ๊งไปนานแล้ว”

     สุดท้ายนี้ สิ่งหนึ่งที่เราได้เรียนรู้จาก “คุณธาดา” ก็คือความตั้งใจที่จะต้องการสร้างพื้นที่ Co-working Space โดยนำเอาสิ่งที่เรียนมาประยุกต์ใช้ในการออกแบบร้าน แม้จะไม่เคยมีประสบการณ์ในการทำธุรกิจมาก่อน และในขณะนั้นยังคงเรียนอยู่ปีสุดท้ายก่อนจะจบการศึกษา แต่ด้วยผลของทางธุรกิจแล้วทำให้ร้าน Co-working Space ต้องปรับเปลี่ยนเป็นร้านกาแฟ แต่ก็เป็นร้านกาแฟที่สมบูรณ์แบบและลงตัว ทางร้านมีการปรับเปลี่ยนเมนูพิเศษอยู่เสมอ โดยจะเปลี่ยนธีมไปเรื่อย ๆ แต่รับประกันเลยว่าทุกเมนูถูกรังสรรค์ออกมาด้วยความตั้งใจแล้วแน่นอน

ภาพบางส่วนจาก Facebook : CO-F & CO-W