Loading...

Marketing 5.0 ปี 2565 จับตา “Metaverse” และ “AI” พลิกพฤติกรรมผู้คนบนโลกออนไลน์

จับตาดูเทรนด์ Digital Marketing ปี 65 ผ่านมุมมองของอาจารย์คณะพาณิชยศาสตร์และบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เรื่องของ Metaverse มาแน่ และ AI จะฉลาดขึ้น

วันจันทร์ที่ 7 ธันวาคม พ.ศ.2564

     ศ.วิทวัส รุ่งเรืองผล อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ให้ความเห็นว่า ความน่าตื่นเต้นเริ่มตั้งแต่ตุลาคม 2564 ที่ผ่านมา ในส่วนของ Facebook เชื่อว่าเราจะได้เห็นการเปลี่ยนแปลงในเรื่องของ Metaverse พอสมควร ซึ่งน่าจะมีส่วนกระตุ้นให้สื่อสังคมออนไลน์อื่น ๆ ขยับเข้าไปเล่นในเรื่องของ Metaverse ด้วยเช่นกัน

     แนวโน้มของผู้คนกับแพลตฟอร์มออนไลน์ในปี 2565 นี้ จะมาจากฝั่งผู้ประกอบการรายใหญ่อย่าง Meta ที่จะเป็นตัว Boost หรือเสนอเครื่องมือใหม่ ๆ จนนำมาสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมของลูกค้าหรือผู้ใช้งาน นอกจาก Metaverse ยังมีแพลตฟอร์มที่น่าจับตาอย่าง TikTok ซึ่งมีอัตราการเติบโตที่ดีมากในเรื่องของ Entertainment

     ส่วนเรื่องของ NFT สินทรัพย์ดิจิทัล เป็นเทรนด์ที่มาแรงในช่วงนี้ และจะถูกนำไปผูกอยู่บนแพลตฟอร์มของ Metaverse ทั้งตัวเจ้าของแพลตฟอร์ม และ Creator (ลูกค้า) ที่เข้ามาสร้างคอนเทนต์ ทั้งการสร้างตัวตน และประกอบธุรกิจ

     ศ.วิทวัส กล่าวอีกว่า หากมองในเชิง Marketing เราได้ขยับมาสู่ Marketing 5.0” รวมถึงผู้ประกอบการที่เป็นเจ้าของแพลตฟอร์มต่าง ๆ เช่น Facebook, Shopee, Lazada ที่มีการวิเคราะห์ข้อมูลการเข้าชมโดยการใช้ AI ที่ช่วยให้คนแต่ละคนหรือลูกค้า มีปฏิสัมพันธ์อยู่ในแพลตฟอร์มนั้น ๆ นานขึ้น และดึงเอาโฆษณาที่คาดว่าจะทำให้คนแต่ละคน Respond กับโฆษณาได้ดีที่สุด บนฐานความสามารถในการประมวลผลของ AI ที่รวดเร็วขึ้น รวมถึงแพลตฟอร์มสั่งอาหารที่มีการสะสมข้อมูลของลูกค้า ตลอดจนกลุ่มของธนาคารที่เริ่มสะสม Data จากการทำธุรกรรมทางการเงินบนโลกออนไลน์เช่นกัน

     “ทุกวันนี้เราใช้ AI ในการ Insight หรือดูพฤติกรรมเชิงลึกของลูกค้า ซึ่งหากบริษัทนั้น ๆ หรือเจ้าของแพลตฟอร์ม สามารถใช้ AI ได้อย่างชำนาญ ก็จะสามารถเสนอสินค้าและบริการได้ตรงความต้องการของลูกค้ามากกว่า ทำให้ได้เปรียบกว่าแพลตฟอร์มในรูปแบบเดียวกัน” ศ.วิทวัส กล่าว

     อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และบัญชี มองว่า พฤติกรรมคนบนโลกออนไลน์ในปี 2565 จะเป็นปีที่ผู้คนใช้เวลากับหน้าจอ หรือโลกออนไลน์น้อยลง เมื่อเทียบกับ 2 ปีที่เราอยู่กับโควิด-19 ขณะเดียวกัน AI และอุปกรณ์อัจฉริยะต่าง ๆ จะเริ่มฉลาดมากขึ้น มีประสิทธิภาพมากขึ้น ประมวลผลได้ลึกขึ้น เช่น ช้อปปิ้งออนไลน์ จากเดิมเราใช้เวลาเฉลี่ย 2 ชม. อาจลดเหลือ 1.30 ชม. ต่อวัน แต่ AI จะสามารถช่วยในการเสนอคอนเทนต์ที่ตรงเป้า และคนกดเข้ามาซื้อได้เหมือนเดิม โดยใช้เวลาน้อยลงด้วยเช่นกัน

     “ในช่วง 2 ปีนี้ เราอยู่กับหน้าจอมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการประชุม Entertainment แต่พอโควิดคลี่คลาย การเที่ยวล้างแค้น กินล้างแค้น ก็เป็นไปได้ครับ ว่าอาจจะทำให้เวลา 24 ชม. หรือที่ผมเรียกว่า Real World คือโลกจริง ร้านอาหารจริง เที่ยวจริง มันจะเริ่มกลับมาเติบโต พวกนี้จะเข้าไปแย่งเวลาบนโลกออนไลน์มากขึ้น” ศ.วิทวัส กล่าว

     ศ.วิทวัส กล่าวอีกว่า การเชื่อมต่อผสมผสานเชื่อมโยงระหว่าง Online และ Offline จะมากขึ้นเรื่อย ๆ เช่น เมื่อเราออกไปทานข้าวนอกบ้าน แพลตฟอร์มสั่งอาหารเปิดให้จองร้านอาหารล่วงหน้าผ่านแอปฯ จ่ายเงินผ่านแอปฯ และได้ส่วนลดด้วย รวมถึงมีการเสนอให้นำเงินในกระเป๋าเงินที่อยู่ในแอปฯ เอาไปจ่ายที่ร้านได้ เหล่านี้ก็เพื่อเก็บพฤติกรรมการใช้งานของลูกค้า

     นอกจากนี้ อาจารย์ประจำคณะพาณิชยศาสตร์และบัญชี ยังให้ความเห็นเรื่องความน่าเชื่อถือของ  Influencer Marketing ว่า ในมุมของนักการตลาด อาจมองว่าการใช้ Influencer ยังเป็นอีกวิธีที่ได้ผลในการทำการตลาดอยู่ แม้ความไว้วางใจจากลูกค้าจะลดลง แต่ตลาด Influencer ก็เติบโตขึ้นมากเช่นกัน ซึ่งลูกค้าจะเป็นผู้ตัดสินใจเองว่าจะเชื่อหรือไม่

     “ไม่ว่าจะเป็น Influencer รายเล็กหรือรายใหญ่ จะมีวิธีสร้างความน่าเชื่อถือที่ต่างกัน เช่น สกรีนเนื้อหาที่จะรีวิว หรือมุ่งไปที่ด้านใดด้านหนึ่งเฉพาะทาง ซึ่งเป็นการสร้าง Brand Influencer ที่ชัดในทาง Marketing เช่น การทดสอบผลิตภัณฑ์หรือของที่รับมารีวิวในเชิงวิทยาศาสตร์ โดยไม่ใช้ความรู้สึกของผู้รีวิวเพียงอย่างเดียว จะช่วยให้คนดูมีความไว้วางใจมากขึ้นด้วย” ศ.วิทวัส กล่าว