Loading...

ธรรมศาสตร์ จัดรำลึก “107 ปีชาตกาล ศ.ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์”

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงานวันอาจารย์ป๋วย อึ๊งภากรณ์ ประจำปี 2566 พร้อมเสวนาในหัวข้อ สันติประชาธรรมในยุค New Normal

วันจันทร์ที่ 13 มีนาคม พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน “9 มีนาคม วันศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์” เพื่อแสดงมุทิตาจิตและรำลึกถึงคุณงามความดีของศาสตราจารย์ ดร.ป๋วย อึ๊งภากรณ์ โดยมี รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร คณาจารย์ และบุคลากร เข้าร่วมงานเมื่อวันที่ 9 มีนาคม 2566 ณ โถงชั้นล่าง อาคารโดมบริหาร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต และในวันเดียวกันนี้ มีการจัดกิจกรรมเสวนาในหัวข้อ “สันติประชาธรรมในยุค New Normal” ณ ห้องประชุมใหญ่ ชั้น 5 คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

     ความตอนหนึ่งจากวงเสวนา ผศ.ชล บุนนาค ผู้อำนวยการศูนย์วิจัยและสนับสนุนเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDG Move) คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ผมมองว่า “สันติประชาธรรม” เป็นความคิดร่วมยอดในการมองเศรษฐกิจสังคมการเมืองและการพัฒนาของอาจารย์ป๋วย เหมือนเป็นคำที่สามารถแทนแนวคิดต่าง ๆ ที่อาจารย์ป๋วยพูดมาทั้งหมด และภูมิหลังของแนวคิดนี้ก็คือ ความขัดแย้งทางการเมืองในช่วง 2510 – 2520 เป็นต้นมา ตอนที่ผมคิดเรื่องนี้เลยพยายามมองผ่านมุมที่อาจารย์ป๋วยในบริบทนั้น ลองซูมตัวเองมามองในบริบทปัจจุบันบ้างว่าเป็นอย่างไรบ้าง ดังนั้น ผมจะเสนอมุมมองที่ต่างไปนิดนึง จะมองสันติประชาธรรมผ่านมุมมองของการพัฒนา

     ถ้าตีความคำว่า “สันติประชาธรรม” จากเอกสารต่าง ๆ อาจจะสรุปเป็นประโยคได้ว่า มันคือสันติวิธีอันนำไปสู่สังคมที่ประชาชนเป็นศูนย์กลาง และมีความเป็นธรรมเป็นหลักการใหญ่ของสังคม ผมคิดว่านี่เป็นคีย์คอนเซปต์ของสันติประชาธรรม ซึ่งเรื่องนี้มีความเป็นสากลมาก คืออาจารย์ป๋วยไม่ได้คิดเรื่องเหล่านี้ในบริบทของสังคมไทย แต่คิดในระดับของปรัชญาของมนุษยชาติเลยด้วยซ้ำ เพราะฉะนั้นเรื่องที่ออกมาจึงมีความสอดคล้องกับคอนเซปต์สากล เรื่องของการพัฒนาคนเป็นศูนย์กลาง (Human Development) ซึ่งสะท้อนจากผลงานจากครรภ์มารดาสู่เชิงตะกอน เราต้องการให้คนพัฒนาเพื่ออะไร เพื่อให้เขาสามารถมีส่วนร่วมในการกำหนดชะตากรรมของเขาในสังคมได้ ซึ่งส่วนหนึ่งต้องมีศักยภาพ อีกส่วนหนึ่งต้องมีเสรีภาพด้วย นี่คือสิ่งที่อาจารย์ป๋วยเน้นย้ำ

     ผศ.ชล กล่าวเสริมว่า สันติประชาธรรม จึงสอดคล้องแนวคิดสากลปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชนของ UN 1948 และสอดคล้องกับ Develop of Freedom ของ Amartya Sen นักเศรษฐศาสตร์และปราชญ์ชาวอินเดีย ที่บอกว่าการพัฒนามันไม่ใช่เพื่อการเติบโตทางเศรษฐกิจ แต่เป็นการที่ทำอย่างไรให้คนสามารถใช้ชีวิตในแบบที่ตนเองให้คุณค่าได้ ดังนั้นมันจะต้องมีทั้งเสรีภาพและศักยภาพประกอบกัน และทั้งนี้ สันติประชาธรรม ก็ได้เชื่อมโยงถึงการพัฒนาที่ยั่งยืน อาจจะโยงถึงเป้าหมายที่ 16 ของการพัฒนาที่ยั่งยืน (SDGs) ที่พูดถึงการส่งเสริมสังคมที่สงบสุขและครอบคลุมเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ให้ทุกคนเข้าถึงความยุติธรรม สร้างสถาบันที่มีประสิทธิภาพ รับผิดชอบ และครอบคลุมในทุกระดับ แต่ทั้งนี้ สันติประชาธรรม ไม่ได้คุมอยู่แค่เป้าหมายที่ 16 เท่านั้น แต่ยังกระจายอยู่ในทุกเป้าหมาย โดยเฉพาะวัตถุประสงค์ในเรื่องของ Inclusive Development ไม่ว่าจะเป็นการให้คนเข้าถึงในเรื่องของกลไกคุ้มครองทางสังคม ซึ่งจะทำให้เขามีศักยภาพที่จะไปมีส่วนร่วมกับสังคมคือไปกำหนดอนาคตตัวเองได้ สามารถปรับตัวเวลาที่เปลี่ยนแปลงหนัก ๆ ได้ เช่น เวลาเกิดปรากฏการณ์ทางสังคมเราก็จะได้ไม่ต้องกังวลการทำมาหากินของเรา เรายังสามารถมีใจไปช่วยเหลือสังคมได้ ถ้าเรายังมีการคุ้มครองทางสังคมอยู่ด้วย

     ผศ.ชล กล่าวต่อไปว่า ส่วน “Next Normal” ก็เป็นคำที่ยากอีกคำหนึ่ง ก่อนมี Next Normal ก็ต้องมี Previous Normal มาก่อน ก็เลยลองตีความในเชิงเดียวกับที่อาจารย์ป๋วยเสนอคำนี้ขึ้นมา คือในเชิงของสังคมการเมือง ก็เลยมองว่าในสถานการณ์ของ Previous Normal แบ่งได้เป็น 2 ระดับ ระดับแรกคือภายในประเทศ คือการพัฒนาที่มีการรับราชการและสถาบันเป็นศูนย์กลาง สิทธิเสรีภาพและสันติวิธีมีความสำคัญ แต่มีความสำคัญหลังจากความสงบเงียบและความมั่นคง นอกจากนี้ เป็นการพัฒนาที่เน้นการพึ่งพา ถ้าเราดูจากสถิติของธนาคารแห่งประเทศไทยกลุ่มที่ยากจนที่สุด กลุ่มแรกได้รับสัดส่วนโอนเงินจากภาครัฐ 60% เลยทีเดียว นั่นแปลว่าคนจนที่สุดเอง ก็ยังไม่สามารถได้เงินจากการจ้างงานที่เพียงพอต่อการดำรงชีวิตยังต้องพึ่งพารัฐอยู่สม่ำเสมอ ดังนั้นสิ่งที่เกิดใน Previous Normal ตรงข้ามกับสันติประชาธรรมทั้งสิ้น

     ในบริบทระหว่างประเทศ ในช่วง 10 ปีที่ผ่านมาเราเริ่มเห็นการเปลี่ยนแปลงในกระแสทั่วโลก ที่กระแส Conservative ก้าวออกมามีบทบาทสำคัญ มีตัวอย่างสำคัญ เช่น EU ออกจาก Brexit โดนัลด์ ทรัมป์เป็นประธานาธิบดีสหรัฐอเมริกา และล่าสุดการที่รัสเซียเปิดเกมรุกยูเครน ซึ่งจริง ๆ แล้วเป็นการทดสอบกติกาของโลก ในสิ่งที่ UN ปฏิบัติเรื่องต่าง ๆ ต่อรัสเซียจะกลายเป็นมาตรฐานในการปฏิบัติแบบเดียวกันในประเทศอำนาจนิยมต่าง ๆ ทั่วโลก ซึ่งปัจจุบันเรากำลังอยู่ในโลกที่กระแสหลักไม่ใช่เสรีนิยมและประชาธิปไตยอีกต่อไป แต่มันเป็นการแข่งขันกันระหว่างสายอำนาจนิยมและเสรีนิยม โดยอำนาจนิยมอาศัยกระแส Conservative ในแต่ละประเทศเป็นตัวขับเคลื่อน

     “ดังนั้นถ้าเราจะตีความ Next Normal ในมุมนี้เราอาจจะบอกได้เลยว่าในอีก 5 ปีข้างหน้า ทั้งในและต่างประเทศเราจะเผชิญกับสถานการณ์ระหว่างขั้วการเมืองอำนาจนิยมและเสรีนิยมประชาธิปไตยต่อไปแน่นอน ในสถานการณ์เหล่านี้ผมคิดว่าสันติประชาธรรมจะมีความสำคัญอย่างยิ่ง กระบวนการเดินไปข้างหน้าในโลกที่ขัดแย้งและผันผวน เราจะไม่ควรทิ้งวิธีการและเป้าหมายแบบสันติประชาธรรม นั่นแปลว่าเราต้องค้นหาวิธีการแบบสันติวิธี เพื่อมารับมือกับความขัดแย้งเหล่านี้ให้ได้” ผศ.ชล กล่าวทิ้งท้าย