Loading...

“ฟิตปอด-ฝึกหายใจ” ช่วยลดความเสี่ยง COVID-19 ได้!

ชวนทุกคนมาสร้างเสริมสุขภาพด้วยการบริหารปอดเป็นประจำ จะช่วยให้ร่างกายผ่อนคลาย ลดความเครียด และลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค COVID-19 ได้

วันพฤหัสบดีที่ 10 มิถุนายน พ.ศ.2564

     ในสถานการณ์ปัจจุบัน การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (COVID-19) ยังคงทวีความรุนแรงอย่างต่อเนื่อง จากจำนวนผู้ติดเชื้อและจำนวนผู้เสียชีวิตที่เพิ่มสูงขึ้นในแต่ละวัน ทั้งในกลุ่มผู้สูงอายุ กลุ่มผู้ที่มีโรคประจำตัว รวมถึงกลุ่มวัยทำงานและเด็ก ล้วนเป็นกลุ่มเสี่ยงที่จะมีโอกาสติดเชื้อได้ หากมีพฤติกรรมการดูแลสุขภาพที่ไม่เหมาะสม การสร้างเสริมสุขภาพจึงเป็นอีกแนวทางหนึ่งที่มีความสำคัญเพื่อยกระดับสุขภาพให้ดีขึ้นเพื่อลดความเสี่ยงในการติดโรคและความรุนแรงของ COVID-19

     อาจารย์กิตรวี จิรรัตน์สถิต สาขาการสร้างเสริมสุขภาพเชิงนวัตกรรม คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า โรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 เป็นโรคติดต่อทางระบบทางเดินหายใจที่ส่งผลกระทบอย่างมากต่อการดำเนินชีวิตประจำวันของผู้คน ซึ่งอาการของโรคมักจะรุนแรงขึ้นเมื่อมีการแพร่กระจายของเชื้อไวรัสไปยังบริเวณปอด ปอดเป็นอวัยวะที่สำคัญของระบบทางเดินหายใจ หากปอดมีประสิทธิภาพการทำงานที่ดี ก็จะเป็นปัจจัยหนึ่งที่ช่วยลดความเสี่ยงในการติดโรคและความรุนแรงของ COVID-19 ได้ หลักการสำคัญของการบริหารปอดคือ “การฝึกการหายใจที่ดี หรือการหายใจที่มีประสิทธิภาพ”

     “วิธีการฝึกการหายใจที่มีประสิทธิภาพคือการฝึกและพัฒนากล้ามเนื้อที่ช่วยในการหายใจได้แก่ กล้ามเนื้อกะบังลม และกล้ามเนื้อยึดซี่โครง สามารถทำได้โดยการนำมือข้างหนึ่งวางไว้บนบริเวณหน้าท้อง มืออีกข้างหนึ่งวางไว้บริเวณหน้าอก ขณะที่หายใจเข้า จะสัมผัสได้ถึงการเคลื่อนไหวของท้องจากมือข้างที่วางไว้บริเวณหน้าท้องว่ามีการพองออก ในจังหวะที่หายใจออก ให้หายใจออกทางปากโดยให้ทำปากในลักษณะของการเผยอปาก คล้ายกับการเป่าเทียน ซึ่งเทคนิคดังกล่าวเรียกว่า Pursed lip breathing”

     การศึกษาที่ผ่านมาพบว่า การฝึกหายใจแบบ Pursed lip breathing จะช่วยเพิ่มปริมาตรของอากาศในขณะที่หายใจเข้าและออก และช่วยในการลดความเสี่ยงของการเกิดภาวะหลอดลมตีบได้ โดยระยะเวลาในการหายใจเข้าและออกของการฝึกเทคนิค Pursed lip breathing ให้เกิดประสิทธิผลสูงสุด ควรหายใจออกเป็นระยะเวลา 2 เท่าของระยะเวลาที่หายใจเข้า เช่น ถ้าใช้เวลาในการหายใจเข้า 3 วินาที ระยะเวลาที่ใช้ในการหายใจออกที่เหมาะสมคือ 6 วินาที การฝึกหายใจที่ดีสามารถทำได้ 5-10 ครั้งต่อรอบเพื่อให้เกิดประสิทธิภาพสูงสุด

     ประโยชน์ในระยะสั้นหลังจากฝึกการหายใจคือ ร่างกายจะรู้สึกผ่อนคลาย ช่วยลดความเครียด และช่วยในการขับเสมหะ ส่วนผลของการฝึกการหายใจในระยะยาวจะช่วยให้สมรรถนะการทำงานของปอดดีขึ้น และยังช่วยลดความเสี่ยงรวมถึงความรุนแรงของโรคระบบทางเดินหายใจได้

     อาจารย์กิตรวี แนะนำว่า หากฝึกการหายใจที่ดีหรือการหายใจอย่างมีประสิทธิภาพได้อย่างช่ำชองแล้ว ควรมีการฝึกยืดเหยียดกล้ามเนื้อบริเวณหลังส่วนบนเพิ่มด้วย โดย “การประยุกต์ท่าฤๅษีดัดตน” มาใช้ร่วมกับการฝึกหายใจ ซึ่งคือ ท่าแก้เกียจ เป็นท่าที่ช่วยยืดเหยียดและสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังส่วนบน และกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก ซึ่งกล้ามเนื้อหลังส่วนบนและกล้ามเนื้อบริเวณสะบักจะช่วยในการปรับโครงสร้างร่างกายให้อยู่ในตำแหน่งที่ปกติ หากกล้ามเนื้อหลังส่วนบนและกล้ามเนื้อบริเวณสะบักไม่แข็งแรงอาจทำให้สรีระบริเวณทรวงอกของร่างกายผิดปกติและส่งผลต่อการขยายตัวของพื้นที่ในทรวงอกให้ลดน้อยลง ทำให้สมรรถภาพการทำงานของปอดลดลงได้

     “ท่าแก้เกียจ เริ่มต้นให้เราประสานมือไว้บริเวณหน้าอกเป็นท่าเตรียม หายใจเข้าพร้อมกับยืดเหยียดแขนไปทางด้านซ้ายให้สุด ให้รู้สึกตึงบริเวณสะบัก ค้างไว้ประมาณ 5 วินาที หลังจากนั้นให้หายใจออกทางปากเป็นระยะเวลาประมาณ 5 วินาที โดยใช้เทคนิค Pursed lip breathing พร้อมกับค่อย ๆ นำแขนกลับมาสู่ท่าเตรียม หลังจากนั้นให้ดำเนินกระบวนการฝึกเหมือนในขั้นตอนแรกแต่ให้เปลี่ยนทิศทางการยืดเหยียดของแขนไปด้านบน ด้านหน้า และด้านขวา ตามลำดับ เพื่อเป็นการฝึกและสร้างเสริมความแข็งแรงให้กับกล้ามเนื้อหลังส่วนบนและกล้ามเนื้อบริเวณสะบัก”

     ฉะนั้นแล้วการบริหารปอดสามารถทำได้โดยง่าย สามารถทำได้ทุกสถานที่และทุกเวลา ซึ่งการฝึกบริหารปอดในระยะยาวจะช่วยในการลดความเสี่ยงและความรุนแรงของโรค COVID-19 ได้ อย่างไรก็ตาม การยึดแนวทางปฏิบัติในการดำรงชีวิตตามวิถี New normal ไม่ว่าจะเป็นการสวมหน้ากากอนามัย การล้างมือบ่อย ๆ การหลีกเลี่ยงสถานที่ ที่มีผู้คนแออัด รวมถึงการดูแลสุขภาพของตัวเอง การพักผ่อนให้เพียงพอ และการรับประทานอาหารที่มีประโยชน์ ล้วนเป็นแนวทางปฏิบัติที่สำคัญที่สุดในยุคปัจจุบัน เพื่อลดความเสี่ยงและความรุนแรงของ COVID-19 ด้วย