นักศึกษาวิศวะฯ ธรรมศาสตร์ คว้า ‘เหรียญทอง’ Super AI Engineer Season 4
นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ โครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับเหรียญทอง Super AI Engineer Season 4 กับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
วันจันทร์ที่ 11 พฤศจิกายน พ.ศ.2567
เมื่อเร็ว ๆ นี้ ‘ภูรี เพ็ญหิรัญ’ นักศึกษาคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ชั้นปีที่ 3 หลักสูตรวิศวกรรมซอฟต์แวร์ (Soft-En) จากโครงการหลักสูตรนวัตกรรมทางวิศวกรรมศาสตร์ (TU-PINE) ได้รับรางวัลเหรียญทองการพัฒนาศักยภาพด้านปัญญาประดิษฐ์ พร้อมเงินรางวัล 50,000 บาท จากการเข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer Season 4 กับสมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย
ภูรี เพ็ญหิรัญ กล่าวว่า โครงการ Super AI Engineer เป็นโครงการที่มีเป้าหมายในการบ่มเพาะทักษะด้านปัญญาประดิษฐ์ให้กับผู้ที่สนใจทุกเพศทุกวัย โดยไม่มีค่าใช้จ่าย ซึ่งถูกแบ่งออกเป็น 3 Levels ดังนี้ Level 1 อบรมพื้นฐานและทฤษฎีด้าน AI แบบ Self-learning (AIAT MOOC) และ AI Lecture โดยผู้เชี่ยวชาญ ผ่านระบบ Online และในช่วง 1-2 เดือน ก่อนการคัดเลือกเข้าสู่ Level 2 ทุกสัปดาห์จะมีการจัด AI Hackathon 36 ชั่วโมง พร้อมกับสอบวัดความรู้ภาคทฤษฎี การทำคลิปวิดีโอเกี่ยวกับ AI ลง Youtube และสอบสัมภาษณ์ เพื่อคัดเลือกเข้าไปอบรมใน Level 2 แบบ Onsite จำนวนประมาณ 200 คน
Level 2 อบรมหลักสูตรเอไอขั้นสูง (Applied Level) เข้าค่ายอบรมเชิงปฏิบัติการ Onsite 1 เดือน และ Online 1 เดือน โดยในแต่ละวันมี Lecture จากผู้เชี่ยวชาญ ตั้งแต่เวลา 9.00-20.00 น. และในทุกสัปดาห์ จะได้รับโจทย์จริงจากบริษัทและหน่วยงานต่าง ๆ มาทำในรูปแบบ Hackathon โดยมีการแบ่งผู้เข้าอบรมเป็น 6 บ้าน โดยมีทั้ง Hackathon ระดับบ้าน ระดับกลุ่มย่อยในบ้าน และแบบเดี่ยว ซึ่งจะได้ช่วยเหลือซึ่งกันและกัน และเรียนรู้ไปด้วยกัน โดยจะมีการสอบท้าย Level 2 แบบ Onsite ซึ่งเป็นการสอบภาคทฤษฎี และ Final Hackathon โดยให้ทุกคนทำ Hackathon เดี่ยว ประมาณ 5-6 อันภายในเวลา 24 ชั่วโมง เพื่อพิจารณารางวัลในรอบชิงชนะเลิศ
“Level 3 ปฏิบัติงานจริงในองค์กรภาครัฐและเอกชน ภาคอุตสาหกรรม สถานประกอบการหรือศูนย์วิจัย ในสาขาปัญญาประดิษฐ์ เป็นระยะเวลาอย่างน้อย 2 เดือน โดยผู้อบรมจะต้องนำเสนอผลงานรายบุคคลต่อคณะกรรมการโครงการ แสดงความรู้ความสามารถด้านปัญญาประดิษฐ์ จากการทำงานกับสถานประกอบการ เพื่อพิจารณารางวัลในรอบชิงชนะเลิศ” ภูรี กล่าว
ภูรี กล่าวอีกว่า สำหรับการเตรียมตัวแข่ง Hackathon ในแต่ละครั้งก็จะมี lecture ที่เกี่ยวข้องกับหัวข้อนั้น ๆ จากผู้เชี่ยวชาญมาให้ในอาทิตย์นั้น ๆ อยู่แล้ว ซึ่งจะได้ทั้งทฤษฎี และการปฏิบัติเขียนโค้ด นอกจากนั้นจะเป็นการศึกษาด้วยตัวเอง แบ่งเนื้อหากับเพื่อนในบ้านไปช่วยกันศึกษา และอาจารย์ประจำบ้านก็จะช่วยแนะนำ หรือเชิญผู้ที่เชี่ยวชาญจากด้านนอกมาให้คำปรึกษา แล้วก็ลองศึกษาจากเพื่อนในบ้านดูครับ เพราะว่าในค่ายนี้มีคนที่เก่งเฉพาะทางหลากหลายมาก และสุดท้ายในยุคนี้ นอกจากการค้นความรู้เองในเน็ต ก็ใช้ Generative AI มาช่วย ทั้งในเรื่องการหาข้อมูล สอนสิ่งที่ไม่เข้าใจ หรือช่วย debug code รวมถึงการใช้ Generative AI มาสร้าง synthetic dataset ที่จะนำไปใช้ในการแก้โจทย์ Hackathon ได้ด้วยครับ
“ขอขอบคุณ สมาคมปัญญาประดิษฐ์ประเทศไทย (AIAT) องค์กรต่าง ๆ ที่ให้ความร่วมมือ และทุกคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องในการจัดโครงการ Super AI Engineer ขึ้นมาครับ ขอบคุณคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และอาจารย์ทุกคนที่ช่วยสนับสนุน ในการมาเข้าร่วมโครงการ Super AI Engineer” ภูรี กล่าวทิ้งท้าย
ทั้งนี้ ภูรี เพ็ญหิรัญ ยังได้รางวัลเรียนดีอันดับ 1 ในปีการศึกษา 2566 และนักศึกษาทุนส่งเสริมการวิจัย ความเป็นนานาชาติและการศึกษา (ทุนเต็มจำนวน) ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์