Loading...

นักศึกษาวิศวะฯ ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัล ‘Huawei ICT’ พร้อมเป็นตัวแทนประเทศแข่งระดับเอเชียแปซิฟิก

นักศึกษาวิศวกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คว้า 2 รางวัล จาก Huawei ICT Competitions 2023 – 2024 พร้อมเป็นตัวแทนประเทศไทยแข่งขันระดับเอเชียแปซิฟิก ณ อินโดนีเซีย

วันศุกร์ที่ 12 มกราคม พ.ศ.2567

     ขอแสดงความยินดีกับ ทีม SUDO ประกอบด้วย ธรรมศาสตร์ ทองแกมแก้ว, ศุภกฤต นิธิเกตุกุล และธนบูรณ์ จิวริยเวชช์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลอันดับที่ 2 ในสาย Computing เรื่องการใช้งาน openEUler และ openGauss จากการแข่งขัน Huawei ICT Competitions 2023 – 2024 เมื่อวันที่ 20 ธันวาคม 2566 และได้เป็นตัวแทนประเทศไทยไปแข่งขันระดับภูมิภาค ณ ประเทศอินโดนีเซีย

     การแข่งขันแบ่งเป็น 3 สาย ได้แก่ 1.) Cloud เน้นการพัฒนาและการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีคลาวด์ (Cloud Technology) ในการแก้ไขปัญหาทางเทคนิคที่เกี่ยวข้องกับการจัดการข้อมูลและแหล่งข้อมูลที่ต้องการเก็บรักษาผ่านอินเทอร์เน็ต 2.) Network เน้นทักษะและความรู้ในการสร้างและบริหารจัดการเครือข่ายคอมพิวเตอร์เพื่อสื่อสารและแลกเปลี่ยนข้อมูล และ 3.) Computing เน้นทักษะในด้านการคำนวณและโครงสร้างพื้นฐานของระบบคอมพิวเตอร์ เพื่อให้สามารถแก้ไขปัญหาต่าง ๆ และประยุกต์ใช้เทคโนโลยีในการแก้ปัญหา

เตรียมพร้อมก่อนลงสนามจริง

     ในรอบ Preliminary และระดับประเทศ เป็นรูปแบบการตอบคำถามแยกกันและนำคะแนนมารวมกัน ส่วนในระดับภูมิภาคมีการวางแผนแบ่งหน้าที่ โดยเป็นการตอบคำถามและทำแล็บร่วมกัน ซึ่งผม (ธรรมศาสตร์) รับหน้าที่ดูแลเรื่องระบบ openEuler และ Database ส่วนธนบูรณ์ ดูแลระบบ openEuler การแก้ปัญหาบน Kunpeng โดยพื้นฐาน และศุภกฤต ดูแล Database และการสร้างแอปพลิเคชันสำหรับ Kunpeng โดยใช้ภาษา C/C++

ทำความเข้าใจการใช้งานของ openEUler และ openGauss

     openEuler เป็นระบบปฏิบัติการที่มีการพัฒนาขึ้นบนพื้นฐานของเทคโนโลยี Linux CentOS มุ่งเน้นให้เป็นระบบปฏิบัติการที่สามารถใช้งานได้อย่างยืดหยุ่นและมีความปลอดภัย นอกจากนี้ openEuler ยังมีการรวมระบบควบคุมแพลตฟอร์มในรูปแบบเปิด และเครื่องมือพัฒนาที่ช่วยในการสร้างและดูแลระบบอย่างมีประสิทธิภาพ

     ส่วน openGauss เป็นระบบฐานข้อมูลที่พัฒนาขึ้นโดย Huawei ที่ใช้เทคโนโลยีฐานข้อมูลแบบ SQL เพื่อรองรับการจัดเก็บและการจัดการข้อมูล โดยมีความสามารถในการปรับปรุงและเพิ่มประสิทธิภาพตามความต้องการของธุรกิจ ระบบนี้มีความสามารถในการทำงานอย่างเร็ว มีความน่าเชื่อถือและมีความปลอดภัยที่สูง

     ทั้ง openEuler และ openGauss เป็นโครงการที่เน้นการพัฒนาเป็นระบบเปิดเพื่อให้สามารถปรับปรุงและพัฒนาได้ต่อเนื่องตามความต้องการของผู้ใช้และองค์กร มีการรับผิดชอบในด้านความปลอดภัยและการทดสอบเพื่อให้มั่นใจว่ามีความเสถียรและมีประสิทธิภาพในการทำงานอย่างเหมาะสม

จุดเด่นของทีม SUDO

     สมาชิกทุกคนในทีมเคยมีประสบการณ์ในการ Server config ที่ใช้งาน Linux OS ที่เป็น Distribution ของ Redhat ทำให้มีความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับการใช้งาน Linux เบื้องต้น ซึ่งตรงกับเนื้อหาที่ใช้ในการแข่งขันของ Huawei ทำให้พื้นฐานความรู้ server ของทีมค่อนข้างแข็งแรงและมีประสบการณ์ใช้งานจริง

ความรู้สึกที่ได้รับรางวัล

     พวกเราแปลกใจที่ได้คะแนนสูงถึงอันดับสอง เนื่องจากเวลาเตรียมตัวที่จำกัด แต่ก็ดีใจและภูมิใจที่ได้เป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และตัวแทนของประเทศไทย ไปแข่งในระดับภูมิภาค ประเทศอินโดนีเซีย ซึ่งตอนนี้ในทีมก็ได้เตรียมความพร้อม และได้ทำการเปลี่ยนระบบปฏิบัติการหลักที่ใช้ทุกวันมาเป็น openEuler แล้ว ซึ่งจะทำให้เกิดความคุ้นเคยมากขึ้นในการทำแล็บรอบต่อไป

     นอกจากนี้ ในการแข่งขันฯ ทีม KAP นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาวิชาวิศวกรรมคอมพิวเตอร์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ ยังคว้าอันดับ 4 ในสาย Cloud, Big data และ AI มาได้อีกด้วย ซึ่งสมาชิกในทีมประกอบด้วย  กิตติศักดิ์ สุดแดน, อรรคพล เมืองฮาม และปริวรรต สวัสดิ์ชาติ

     กิตติศักดิ์ เล่าถึงการแข่งขันในครั้งนี้ว่า การแข่งขันส่วนใหญ่จะใช้คำถามทฤษฏีเกี่ยวกับ Frameworks, Tools และ Cloud ของ Huawei รวมไปถึงเนื้อหาอื่น ๆ ที่เกี่ยวกับ Big data และ AI ซึ่งสอบบนเว็บไซต์ของ Huawei ซึ่งจะบันทึกหน้าจอเรา อย่าง Cloud Track ที่ผมแข่ง เน้นถามเกี่ยวกับ services ต่าง ๆ ใน Huawei Cloud ว่าอันนี้ทำอะไร คืออะไร มีข้อจำกัดอะไรบ้าง รวมถึงมีคำถามเกี่ยวกับการจัดการ Big data ผ่าน services ของ Huawei, AI พื้นฐาน และ Framework ที่ใช้ train AI ของ Huawei เช่น MindSpore

     กลุ่มเราพยายามทำดีที่สุดครับ ทีม KAP รู้สึกยินดีด้วยกับเพื่อน ๆ ทั้งในทีมตัวเอง และเพื่อนๆ อีกหลายทีม การแข่งรอบนี้อาจมีความท้าทายเนื่องด้วยการแข่ง Huawei ICT Competitions 2023 – 2024 เป็นช่วงสอบปลายภาคพอดี ซึ่งแต่ละคนก็ทำดีสมกับที่ได้รับรางวัลมาครับ กิตติศักดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

     ทั้งนี้ การแข่งขันวัดความรู้ Huawei ICT Competitions 2023 – 2024 เป็นความร่วมมือระหว่างหัวเว่ยกับสถาบันการศึกษาและมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการเรียนรู้ในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร (ICT) โดยเน้นไปที่นักศึกษาและนักศึกษาสหกิจศึกษาที่มีความสนใจในสายงานด้านนี้ เพื่อพร้อมก้าวเข้าสู่สายอาชีพในภาคอุตสาหกรรมต่อไปในอนาคต โดยนักศึกษาที่ได้รับรางวัลจะได้รับการคัดเลือกให้เข้าฝึกงาน ณ บริษัท Huawei ประเทศไทยต่อไป