Loading...

ธรรมศาสตร์ จับมือ สสส. ผลิตคู่มือสนับสนุนจิตใจ-จิตสังคม เด็กและครอบครัว ช่วงโควิด-19

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ และ สสส. จัดทำคู่มือให้นักสังคมสงเคราะห์ใช้เป็นเครื่องมือให้คำปรึกษาทางจิตใจและจิตสังคมแก่ครอบครัวระดับชุมชนในช่วงการระบาดของ COVID-19

วันพุธที่ 15 มิถุนายน พ.ศ.2564

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) พัฒนาแนวทางการดูแลช่วยเหลือทางสังคม โดยนักสังคมสงเคราะห์ โดยได้พัฒนาคู่มือการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม สำหรับเด็กและครอบครัวระดับชุมชนในภาวการณ์ระบาด COVID-19 เพื่อให้นักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาใช้เป็นเครื่องมือในการทำงานกับเด็ก ๆ ในชุมชน และเด็กที่ครอบครัวมีสมาชิกป่วยโรค COVID-19 โดย สสส. มีแผนการขยายบริการของนักสังคมสงเคราะห์จิตอาสาไปสู่หน่วยบริการปฐมภูมิ เพื่อให้เกิดความครอบคลุมของบริการทั้งมิติการส่งเสริมป้องกัน และการช่วยเหลือเยียวยาอย่างต่อเนื่องในระดับชุมชน

     ดร.ขนิษฐา บูรณพันศักดิ์ หัวหน้างานสังคมสงเคราะห์ โรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า จากการขยายผลโครงการพัฒนาสมรรถนะ และรูปแบบการดูแลทางสังคม และเสริมพลังชุมชนในการเฝ้าระวังดูแลและจัดการสังคมสำหรับผู้ป่วย จะมีการจัดทำคู่มือการดูแลทางสังคมผู้ป่วยโควิดในชุมชน 1 เล่ม และคู่มือการปฏิบัติงานของนักสังคมสงเคราะห์ในการดูแลทางสังคมผู้ป่วย COVID-19 อีก 1 เล่ม ในเร็วๆ นี้

     “สิ่งที่ทุกคนเจอคือ ความเครียด และวิตกกังวลจากการแพร่ระบาดของ COVID-19 อยู่แล้ว แต่มากกว่านั้น COVID-19 ทำให้วิถีชีวิตเปลี่ยน เมื่อป่วยด้วย COVID-19 กลับไปบ้านเพื่อกักตัวต่อก็ยังกังวลสถานที่กักตัว กลัวจะนำไปติดคนที่บ้าน คนป่วย หรือลูกหลาน ซึ่งส่วนใหญ่ปัญหามากกว่าร้อยละ 50 คนที่ป่วยจะเป็นหัวหน้าครอบครัว เป็นกำลังหลัก แต่ถูกให้ออกจากงาน ขาดรายได้ หรือประสบกับการทำมาหากินที่ยากลำบาก หรือบางคนถูกแยกจากคนที่รัก บางคนกลัวสูญเสียคนที่รัก ยิ่งคนที่มีความเสี่ยงด้านสุขภาพสูงอย่างเช่น ผู้ป่วยโรคเรื้อรัง มีโรคประจำตัว พิการ เด็ก ก็จะมีปัญหาสุขภาพจิตตามมาด้วย ขณะนี้มีหลายเคสที่ชุมชนไม่รับกลับสังคม โดยเฉพาะที่พักอาศัยในคอนโดมิเนียม ซึ่งทางทีมงานต้องเข้าไปช่วยดูแลสร้างความเข้าใจ” ดร.ขนิษฐา กล่าว

     พญ.ขจีรัตน์ ปรักเอโก ผู้อำนวยการสำนักสนับสนุนการพัฒนาระบบสุขภาพ สสส. กล่าวว่า นักสังคมสงเคราะห์จิตอาสา จะทำหน้าที่ในการเป็นพี่เลี้ยง พัฒนาให้ผู้ป่วยโควิดที่รักษาหายแล้วที่มีจิตอาสา ลุกขึ้นมาเป็นอาสาสมัครให้คำปรึกษาลดการตีตรา ซึ่งกับกลุ่มผู้ป่วยรายใหม่ในโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ และผู้ป่วยในโรงพยาบาลพื้นที่จังหวัดปทุมธานี ซึ่งเราพบว่าการทำงานของแกนนำเหล่านี้ สามารถเข้าถึงและได้รับความไว้วางใจจากผู้ป่วยด้วยกันอย่างมาก สสส. เองพร้อมหนุนเสริมเพื่อยกระดับและขยายผลแกนนำเหล่านี้ในระยะต่อไป

     ทั้งนี้ สามารถดาวน์โหลด คู่มือการสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคม สำหรับเด็กและครอบครัวระดับชุมชนในภาวะการระบาด COVID-19 ได้ที่ https://www.thaihealth.or.th/Books/721/ การสนับสนุนทางจิตใจและจิตสังคมสำหรับเด็กและครอบครัวระดับชุมชนในภาวะการระบาดโควิด-19.html