Loading...

BBA ธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลแก้ปัญหาสถานการณ์ธุรกิจ เวที IMA AsiaPac Student Case Competition 2021

นักศึกษาทีม The Survivors คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารองอันดับ 2 จาก IMA AsiaPac Student Case Competition 2021

วันพุธที่ 16 มิถุนายน พ.ศ.2564

     ทีม The Survivors นักศึกษาโครงการปริญญาตรีบริหารธุรกิจ หลักสูตรนานาชาติ (BBA) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบไปด้วย นางสาวณิชากร สยามิภักดิ์ นายเมธพล มานิตขจรกิจ นายภูมิภพ อารีย์สว่างกิจ และนางสาวอรณิชา พิริยะสงวนพงศ์ ได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 2 จาก IMA AsiaPac Student Case Competition 2021 จัดโดย Institute of Management Accountants, Inc. ณ ประเทศสิงคโปร์ ในโจทย์วิเคราะห์สถานการณ์ธุรกิจเพื่อพัฒนาข้อแนะนำและเสนอแผนธุรกิจด้วยทักษะที่ได้เรียนรู้จากการศึกษาในมหาวิทยาลัย

     นางสาวณิชากร สยามิภักดิ์ กล่าวว่า ปีนี้โจทย์การแข่งขันเกี่ยวกับบริษัทขายส่งเสื้อผ้าชาวอินเดีย Kurta Pyiama ชื่อ Star Textiles (นามสมมติ) ตั้งอยู่ใกล้ ๆ เมืองมุมไบ ในตลาด Reddy Cloth Market โดยทำธุรกิจแบบซื้อมาขายไปจากนายหน้าจัดซื้อเสื้อผ้าอีกที่หนึ่ง ซึ่งในตอนแรกธุรกิจทำกำไรได้ดีมาก เนื่องจากตลาดขายส่งของ Kurta Pviama ยังมีผู้เล่นน้อย และ margin ดี

     แต่เมื่อเวลาผ่านไปก็มีผู้เล่นเข้ามาเรื่อย ๆ จนกลายเป็น red ocean อำนาจการต่อรองตกไปอยู่ที่ฝั่งลูกค้าหมด การชำระลูกหนี้ก็ไม่ตรงเวลา และที่สำคัญ margin ตกลงไปต่ำมาก ทายาทที่รับช่วงต่อของบริษัทจากผู้ก่อตั้งจึงคิดหาทางเพิ่มกำไร โดยการตัดการซื้อจากนายหน้าออก และเปลี่ยนไปสั่งผลิตโดยตรงจากผู้ผลิตแทน เพื่อเพิ่ม margin และสร้างจุดเด่นให้บริษัทด้วยคุณภาพของเนื้อผ้า ซึ่งเรามีหน้าที่ทำ feasibility analysis ผ่าน financial model ว่าการปรับเปลี่ยนกลยุทธ์ครั้งนี้จะคุ้มทุนหรือไม่ ทั้งด้านเงินทุนที่ลงไป และผลกระทบอื่น ๆ ต่อบริษัทในระยะยาว และตัดสินใจว่า Star Textiles ควรปรับเปลี่ยนกลยุทธ์หรือไม่

     นายเมธพล มานิตขจรกิจ กล่าวเสริมว่า สำหรับการแข่งขันนี้แบ่งเป็นสองรอบ รอบแรกคือส่งสไลด์นำเสนอกลยุทธ์ของทีม และทางคณะกรรมการจะคัดเหลือเพียง 4 ทีม เพื่อเข้ารอบ final โดยนำเสนอต่อหน้ากรรมการผ่าน Zoom Meeting ซึ่งพวกเราทราบผล finalist ประมาณปลายเดือนเมษายน 2564 ทำให้มีเวลาเตรียมตัวการนำเสนอได้พอสมควร ในช่วงแรกที่เริ่มทำเคส พวกเราหวังว่าจะเข้ารอบ finalist เพราะรู้สึกว่าทุ่มเทกับเคส และคิดว่าข้อมูล การวิเคราะห์ต่าง ๆ ทำออกมาได้ค่อนข้างละเอียดและครบถ้วน แต่ลึก ๆ ก็แอบลุ้นตอนประกาศผล เพราะเขารับแค่ 4 ทีมจากทั้งภูมิภาค Asia Pacific

     นายภูมิภพ อารีย์สว่างกิจ เปิดเผยว่า จริง ๆ แล้ว การเตรียมตัวในการแข่งขันครั้งนี้ให้ระยะเวลาในการ crack the case ค่อนข้างนานพอสมควร พวกเราจึงไม่ได้เตรียมวางแผนอะไรล่วงหน้าเท่าไหร่ แต่ในช่วงที่ทำเคส วิธีที่พวกเราใช้ในการแบ่งหน้าที่เพื่อให้ทำออกมาได้ให้ได้มีประสิทธิภาพมากที่สุด คือ เริ่มจากการแยกย้ายกันไปอ่านเคสให้ถี่ถ้วน แล้วมานัดคุยกัน brainstorm เพื่อวิเคราะห์หาปัญหาหลัก ๆ ของเคส หรือหา key points ที่ควรค้นคว้าข้อมูลเพิ่มเติม หลังจากนั้นจึงแบ่งพาร์ทกันไปหาข้อมูล แล้วเอาข้อมูลมาถกกัน จนสามารถเข้าใจถึงปัญหาจริง ๆ จากนั้นก็สร้าง storyline คร่าว ๆ ว่าจะเล่าเรื่องอย่างไร จากนั้นจึงแบ่งพาร์ทกันไปทำงานต่อ คนที่ถนัดด้าน finance ก็ไปทำโมเดล ระหว่างนั้นคนที่ถนัดด้าน qualitative ก็หา research เพิ่มเติม ค่อย ๆ ทำไปจนสุดท้ายพอทุกคนทำพาร์ทตัวเองเสร็จ ก็มาตรวจเช็กและแก้ไขเพื่อให้ storyline ไหลลื่นและน่าสนใจ

     การทำเคสแข่งขันในครั้งนี้เป็นการเอาความรู้ที่ได้จากในห้องเรียน โดยเฉพาะกลุ่มวิชา 201 ตั้งแต่เนื้อหาที่อาจารย์สอนในคาบเรียน จนถึงการทำโปรเจกต์มาประยุกต์ใช้ ช่วยให้เรามีความรู้ครอบคลุมทุกมุมมองของ business มากขึ้น ตั้งแต่ marketing, finance, accounting, operating, economics และ human resources มาต่อยอดในการแก้ปัญหาในชีวิตจริง ในการทำเคสเราควรมองธุรกิจในภาพกว้างเพื่อไม่ให้มีตัวแปรหลักตกหล่น และการวิเคราะห์ตัวแปรต่าง ๆ ด้วย Sensitivity Analysis เพื่อดูว่าตัวแปรใดเสี่ยงสูงสุดกับธุรกิจ ซึ่งในจุดนี้เราควรคิดให้รอบครอบครบทุกด้าน เช่น ทั้งอุปสงค์และอุปทาน ทั้งด้าน financial เช่น อัตราดอกเบี้ย และ non-financial เพื่อให้เรามองเห็นความเป็นไปได้ ในสถานการณ์ต่าง ๆ มากขึ้น นางสาวอรณิชา พิริยะสงวนพงศ์ กล่าวทิ้งท้าย

     อนึ่ง การแข่งขัน AsiaPac Student Case Competition 2021 จัดขึ้นโดย IMA ® (Institute of Management Accountants หรือสถาบันการบัญชีบริหาร) คือหนึ่งในสมาคมที่ใหญ่ที่สุดและน่าเชื่อถือมากที่สุดในด้านการพัฒนาอาชีพนักบัญชีบริหาร ซึ่งได้จัดการแข่งขันขึ้นเป็นครั้ง มุ่งเน้นปัญหาด้านบัญชีและการเงินโดยตรง ซึ่งส่งเสริมให้นักศึกษาใช้ทักษะเชิงเทคนิคและเชิงทฤษฎีในสถานการณ์ที่ปฏิบัติได้จริง