Loading...

ธรรมศาสตร์ จัดทัพนักศึกษา ลุย Startup Thailand League 2021 ปั้นไอเดียขับเคลื่อนประเทศไทย

 

เปิดตัว 10 ทีมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความรู้ความสามารถโดดเด่นจากโครงการ “คัดทีมแข่งขัน Startup Thailand League 2021” พร้อมลงสนามโชว์ไอเดียธุรกิจขับเคลื่อนประเทศ

วันพฤหัสบดีที่ 17 มิถุนายน พ.ศ.2564

     “Startup Thailand League 2021” ลีกใหญ่ระดับประเทศของเยาวชน นิสิต นักศึกษา ซึ่งเป็นพื้นที่ประชันความคิดและไอเดีย ในการแข่งขันสร้างผลงานนวัตกรรมชั้นสูงเพื่อตอบโจทย์อนาคตของประเทศไทย ซึ่งกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้จัดลำดับความสำคัญให้อยู่ใน 1 ใน 5 โครงการใหญ่ ที่ อว. ต้องการเห็นรูปธรรมภายใน 1 ปี

     ในปี 2564 จะมีการจัดแข่งขันกันในธีม “เมกกะแฮกกาธอน” (Mega-Hackathon) ซึ่งเป็นการสอดประสานระหว่างการใช้ “จินตนาการ” เข้ากับ “เทคโนโลยีนวัตกรรม” เพื่อปั้นไอเดียธุรกิจสตาร์ทอัพสำหรับขับเคลื่อนประเทศไทย โดยคาดว่าจะมีผู้เข้าร่วมกว่า 8,000 ชีวิตทั่วประเทศ

     สำหรับ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ขณะนี้มีความพร้อมอย่างมาก และการเข้าร่วมโครงการดังกล่าวนี้ ยังตอบโจทย์ของ Thammasat Hackathons ที่จะช่วยเสริมความคิดอย่างสร้างสรรค์ในด้านธุรกิจและเป็นประโยชน์ให้กับภาคธุรกิจ ภาคอุตสาหกรรม และภาคประชาสังคม ในการขับเคลื่อนประเทศอย่างยั่งยืน ซึ่งเป็นหนึ่งในเป้าหมายของ Future Collaboration ตามกลยุทธ์ของมหาวิทยาลัย ปัจจุบันได้ผู้เข้าร่วมแข่งขันในรายการ “Startup Thailand League 2021” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว รวมทั้งสิ้น 10 ทีม ซึ่งเป็นทีมที่มีความรู้ความสามารถอันโดดเด่น พิสูจน์แล้วจากผลงานการเอาชนะในการแข่งขันโครงการ “คัดทีมแข่งขัน Startup Thailand League 2021” ดำเนินการโดย กองกิจการนักศึกษา

     แม้จะเป็นกิจกรรมภายใน หากแต่ “การคัดทีมแข่งขันฯ” ดังกล่าว ก็มีระเบียบ เกณฑ์ กติกา ในมาตรฐานเดียวกับระดับชาติ โดยนักศึกษาจะต้องผ่านกิจกรรมจำนวน 4 ช่วง ได้แก่

     1. Meeting Camp ซึ่งเป็นกิจกรรมที่เปิดรับสมัครนักศึกษาธรรมศาสตร์ทุกชั้นปีที่สนใจในการทำธุรกิจ Startup เข้ามาร่วมในกิจกรรมการค้นหาทีม, Business Mindset และ Design Thinking

     2.Incubation เป็นกิจกรรมบ่มเพาะธุรกิจผ่านหลักสูตรต่าง ๆ ในการทำธุรกิจ โดยเฉพาะ Business Model Canvas (BMC) โดยที่ผ่านมาได้เชิญ คุณพัฒนพงศ์ รานุรักษ์ และคุณธเนศ จิรเสวกดิลก บริษัท Divana Spa ศิษย์เก่ามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ที่ประสบความสำเร็จด้านการทำธุรกิจ และนักศึกษาปริญญาโท คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี และคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์

     3.Hackathon เป็นกิจกรรม Hack ที่เน้นให้ผู้เข้าร่วมอบรมเรียนรู้วิธีการหาข้อมูลด้านการทำธุรกิจ ผ่านเครื่องมือ Empathies, UXUI, MVP ตลอดจนเทคนิคการ Pitching โดยวิทยากรจากสมาคมผู้ประกอบการธุรกิจแห่งประเทศไทย และสมาคมหอการค้าไทย-อิสราเอล

เบื้องต้นในรอบนี้ กรรมการจะคัดเลือกทีมจาก 25 ทีมในรอบแรก คัดเหลือ 15 ทีม และมอบรางวัลชมเชย จำนวน 4 ทีมๆ ละ 5,000 บาท

     4.Pitching เป็นกิจกรรมการแข่งขันเพื่อคัดทีมธุรกิจ Startup ของนักศึกษา จาก 15 ทีม ให้เหลือ 10 ทีม เพื่อเข้าร่วมแข่งขันในรายการ Startup Thailand League 2021 พร้อมมอบเงินรางวัลแก่ทีมที่ชนะการแข่งขัน รางวัลที่ 1 เงินรางวัล 30,000 บาท รางวัลที่ 2 เงินรางวัล 20,000 บาท รางวัลที่ 3 เงินรางวัล 10,000 บาท และรางวัลชมเชยอีก 4 รางวัล ๆ ละ 5,000 บาท

     ประกอบด้วย รางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ทีม Verity รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 1 ได้แก่ ทีม Step Dance รางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 ได้แก่ ทีม Sukjai รางวัลชมเชย จำนวน 8 รางวัล ได้แก่ ทีม Fin-esse, ทีม Jaoruen, ทีม Bai–Prew, ทีม Help Care, ทีม Foodterest, ทีม Mavelous, ทีม Happi–Tech, ทีม Co-op

     นักศึกษาทั้ง 10 ทีมนี้ จะเป็นตัวแทนของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าไปแข่งขันในระดับ “ภูมิภาค” กับอีก 390 ทีม เพื่อคัดให้เหลือ 200 ทีมสุดท้าย ในการแข่งขันในระดับประเทศต่อไปในช่วงปลายเดือน มิ.ย. 64 นี้

     ล่าสุด รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เป็นประธานมอบรางวัลให้แก่ผู้ที่ชนะโครงการ Pitching ทั้ง 10 ทีม พร้อมแสดงความยินดีและให้กำลังใจแก่นักศึกษาทุกคน

     รศ.เกศินี ระบุว่า รู้สึกยินดีและดีใจที่นักศึกษาเห็นความสำคัญในการทำธุรกิจ การเป็นผู้ประกอบการ โดยเฉพาะการมีธุรกิจเป็นของตัวเอง ที่นับว่าเป็นนโยบายหลักของมหาวิทยาลัยที่ทุกฝ่ายจะร่วมกันสนับสนุน และจัดกิจกรรมให้แก่นักศึกษามาโดยตลอด

     “การเป็นตัวแทนไปแข่งขันในรายการ Startup Thailand League 2021 นอกจากประสบการณ์ตรงที่จะได้รับจากการลงมือทำจริง บริหารงานจริงแล้ว ยังเป็นโอกาสอันดีที่จะได้ต่อยอดธุรกิจและหาผู้ร่วมลงทุนในอนาคตต่อไปด้วย” รศ.เกศินี กล่าว

     ศ.พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม บอกว่า เมกกะแฮกกาธอน คือการให้เยาวชนเป็นผู้ขับเคลื่อนหลัก ช่วยกันคิด ช่วยกันทำ ช่วยกันระดมสมอง ซึ่งมั่นใจว่าโครงการนี้จะช่วยต่อยอดแนวความคิดเพื่อสร้างธุรกิจจริงที่เข้ากับจริตของคนไทย โดยทาง อว. มุ่งหวังให้ทุกคนได้ร่วมกันเสนอปัญหา ระดมสมองและความคิดในทางสร้างสรรค์ เพื่อหาโมเดลต้นแบบมาแก้ปัญหาให้กับประเทศ และรับมือกับสถานการณ์การเปลี่ยนแปลงของโลกปัจจุบัน เพราะเยาวชนคือผู้กำหนดอนาคตของประเทศ ที่สามารถเข้ามามีส่วนร่วมเพื่อขับเคลื่อนประเทศไทยไปด้วยกัน