Loading...

ธรรมศาสตร์ ผนึกภาคีเครือข่าย ร่วมพัฒนาทักษะ Digital Resilience สำหรับเยาวชน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ลงนาม MOU ร่วมกับเครือข่ายเพื่อสร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) ให้กับเยาวชน ครู และผู้ปกครอง

วันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน พ.ศ.2564

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ โดยคณะสาธารณสุขศาสตร์ ร่วมลงนามความร่วมมือด้านการส่งเสริมและพัฒนาทักษะ Digital Resilience อย่างรอบด้านสำหรับเยาวชนไทย ภายใต้ "โครงการวัคซีนเพื่อรับมือปัญหา: การศึกษาภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล (Digital Resilience) และ Cyberbullying ของกลุ่มนักเรียนระดับมัธยมศึกษาใน 5 ภูมิภาคของประเทศไทย" เมื่อวันที่ 10 กันยายน 2564 ที่ผ่านมา เพื่อส่งเสริมให้เกิดความตระหนักถึงความไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์ให้กับเยาวชน ครู และผู้ปกครอง ส่งเสริมให้เกิดความรู้และความเข้าใจในเรื่อง Digital Resilience ผ่านสื่อสร้างสรรค์ พัฒนาเครื่องมือประเมิน Digital Resilience สำหรับเยาวชน ส่งเสริมให้เยาวชนมีส่วนร่วมในการพัฒนาสื่อสร้างสรรค์ในประเด็น Digital Resilience พัฒนาเครือข่ายและแนวทางความร่วมมือแบบบูรณาการในการร่วมกันส่งเสริมทักษะ Digital Resilience และพัฒนาช่องทางรูปแบบการให้ความช่วยเหลือสำหรับเยาวชนที่ประสบปัญหาความไม่ปลอดภัยบนโลกออนไลน์

     หมุดหมายสำคัญของความร่วมมือระหว่างกองทุนสื่อ และภาคีเครือข่าย จะร่วมกันขับเคลื่อนงานด้านการแก้ไขปัญหา Cyberbullying รวมไปถึงการสร้างภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัล หรือ Digital Resilience ให้มีนิเวศสื่อที่ปลอดภัยและสร้างสรรค์

     รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นมหาวิทยาลัยที่มีอัตลักษณ์โดดเด่น เป็นต้นแบบในเรื่องสิทธิความเป็นประชาธิปไตย การต่อต้านความรุนแรงและคุกคามทางเพศ ทั้งมหาวิทยาลัยและคณะสาธารณสุขศาสตร์ให้ความสำคัญกับประเด็นการล่วงละเมิด หรือความรุนแรงที่เกิดขึ้นในโลกออนไลน์กับวัยรุ่น โดยเฉพาะประเด็นที่กระทบกับประเด็นสุขภาพ หรือสุขภาวะของวัยรุ่น ฉะนั้นมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และคณะสาธารณสุขศาสตร์มุ่งมั่นที่จะทำงานป้องกัน แก้ไข เยียวยา และสร้างเสริมสุขภาพวัยรุ่นที่ใช้ชีวิตในโลกออนไลน์ ซึ่งเป็นงานที่เราได้ดำเนินการอยู่แล้วและจะดำเนินการต่อไปอย่างต่อเนื่อง

     โดยข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้ ถือเป็นกฎหมายทางการสำคัญที่จะนำประเด็นเรื่อง Cyber resilience เป็นแรงขับเคลื่อน และส่งเสริมอาจารย์ และนักวิจัยในคณะสาธารณสุขศาสตร์ ให้นำเอาแนวคิดเรื่อง Cyber resilience ไปบูรณาการกับการเรียนการสอน วิจัยเชิงลึกในสาขาการสร้างเสริมสุขภาพเชิงนวัตกรรม  และคณะสาธารณสุขศาสตร์จะทำหน้าที่เป็นตัวหลักในการสื่อสาร รณรงค์ โน้มน้าวให้ประชาคมธรรมศาสตร์ ตลอดจนคณะอื่น ๆ ได้ร่วมทำในประเด็นนี้เพิ่มมากขึ้น

     ทั้งนี้ การลงนามในครั้งนี้ เป็นการลงนามร่วมกับ 8 หน่วยงาน ได้แก่ กระทรวงวัฒนธรรม, กรมสุขภาพจิต กระทรวงสาธารณสุข, กระทรวงศึกษาธิการ, มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์, มหาวิทยาลัยเชียงใหม่, สภาเด็กและเยาวชนแหง่ประเทศไทย, มูลนิธิอินเทอร์เน็ตร่วมพัฒนาไทย และกองทุนพัฒนาสื่อปลอดภัยและสร้างสรรค์ พร้อมด้วยการเปิดตัว Comprehensive online platform ที่พัฒนาขึ้นในโครงการ การบรรยายบทบาทและก้าวต่อไปในการทำงานด้าน Cyberbullying และ Digital Resilience โดยผู้แทนจาก 9 หน่วยงาน และการบรรยายพิเศษหัวข้อ "ทำอย่างไรให้เด็กไทยมีภูมิคุ้มกันในการใช้สื่อออนไลน์"

ร่วมเรียนรู้วิธีการเพิ่มภูมิคุ้มกันในโลกดิจิทัลได้ด้วยตนเองผ่าน https://manudsocial.insidethesandbox.studio

รับชมบรรยากาศงานย้อนหลังทาง

https://www.facebook.com/MUSHFanpage/videos/283467109894012