Loading...

ไขข้อข้องใจ ‘ฟันคุด’ เจ้าปัญหา จำเป็นต้องผ่าหรือไม่? ฟังคำแนะนำจากอาจารย์ทันตแพทย์ มธ.

‘ฟันคุด’ ปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญ และหลายคนยังลังเล ไม่กล้าผ่าหรือถอนออก วันนี้มาไขข้อสงสัยให้กระจ่างกับอาจารย์คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

วันจันทร์ที่ 16 ตุลาคม พ.ศ.2566

     ‘ฟันคุด’ ปัญหาที่ทุกคนต้องเผชิญ และหลายคนยังลังเล ไม่กล้าผ่าหรือถอนออก วันนี้ ผศ.ทพญ.ณฤษพร ชัยประกิจ อาจารย์ประจำสาขาศัลยศาสตร์ช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล คณะทันตแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาไขข้อสงสัยเกี่ยวกับ ‘ฟันคุด’ ให้กระจ่างถึงสาเหตุ อาการและผลเสียหากไม่ผ่าหรือถอนฟันคุด

สาเหตุการเกิดฟันคุด

     ‘ฟันคุด’ คือ ฟันที่ไม่สามารถขึ้นอย่างสมบูรณ์ได้ภายในช่องปาก ไม่ว่าจะเป็นฟันหน้า ฟันเขี้ยว หรือฟันกรามน้อย โดยสาเหตุของการเป็นฟันคุดก็จะแตกต่างกันไป อย่างเช่น การมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฟันขึ้นมาได้ จากโครงสร้างกระดูกขากรรไกรที่มีขนาดเล็กลง หรือมีพื้นที่ไม่เพียงพอให้ฟันขึ้นได้ เช่น กรณีฟันกรามซี่สุดท้าย หรือจากสาเหตุอื่นๆ เช่น ฟันเขี้ยวที่เราเรียกกันว่าฟันฝังหรือฟันกรามน้อยที่ไม่สามารถขึ้นได้ มาจากการที่เนื้อเยื่อเหงือกมีลักษณะที่หนาเกินไปหรือมีการกีดขวางด้วยของแข็ง รวมไปถึงฟันซี่อื่น ๆ ที่ขัดขวางไม่ให้ฟันซี่นั้นขึ้นมาได้ภายในช่องปาก เป็นต้น

ช่วงวัยไหนควรผ่าหรือถอนฟันคุด

     โดยทั่วไปฟันคุดของคนเรา จะเริ่มมีตัวฟันคุดเจริญตอนช่วงอายุประมาณ 13-14 ปี เวลาที่มีตัวฟันแล้วฟันจะขึ้นมาได้ต้องมีการสร้างรากฟันก่อน ซึ่งใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี เราเลยมักจะเจอฟันคุดตอนช่วงอายุตั้งแต่ 17-20 ปี ถึงจะสังเกตเห็นว่ามีฟันขึ้นในช่องปากที่ไม่สามารถขึ้นมาได้สมบูรณ์ ทันตแพทย์จะมีการแนะนำว่าควรเก็บฟันเอาไว้หรือไม่ ถ้าพิจารณาดูแล้วฟันซี่นั้นไม่มีประโยชน์ภายในช่องปาก ก็อาจแนะนำให้ถอนหรือผ่าฟันซี่นั้นออก

     ‘ฟันคุด’ ควรผ่าตั้งแต่อายุน้อยจริงหรือ...?

     ผศ.ทพญ.ณฤษพร กล่าวว่า อายุที่เหมาะสมในการผ่าฟันคุด ตำราทั่วไปมักระบุว่า 18-20 ปี เป็นเหมือนโกลเด้น พีเรียด (Golden Period) แต่จริง ๆ แล้วเราต้องพิจารณากันที่ลักษณะของฟันคุด และการดูฟิล์มเอกซเรย์เป็นหลัก ซึ่งในคนอายุน้อยผ่าฟันคุดจะดีกว่าในผู้ใหญ่จริง เพราะว่ากระดูกคนอายุน้อยจะมีความยืดหยุ่นกว่า นำฟันคุดออกได้ง่ายกว่าเนื่องจากฟันกับกระดูกจะมีความหลวมกันมากกว่า

     คนเรามีกระดูก 2 ประเภทคือกระดูกพรุนกับกระดูกแข็ง สำหรับคนที่อายุเยอะ กระดูกพรุนจะหนาแน่นมากขึ้น มีลักษณะเหนียวแข็ง ทำให้นำฟันคุดออกยากขึ้นเพราะฟันจะแน่นกับตัวกระดูก นอกจากนั้นโดยรอบ ๆ อย่างเช่นถุงหุ้มฟันคุดในคนที่สูงอายุ บางครั้งพอกระดูกมีความหนาแน่นขึ้นก็มีโอกาสที่ตัวถุงหุ้มฟันเองจะมีการลดขนาดลงได้เช่นกัน เป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้การผ่าฟันคุดเอาออกยากขึ้น

          “อีกเหตุผลหนึ่งก็คือเรื่องของรากฟัน เมื่ออายุน้อยรากฟันเราก็ยังเจริญไม่เต็มที่ แต่พออายุเยอะขึ้นไปรากฟันเจริญเต็มที่จึงมีโอกาสที่จะเจริญยาวไปจนถึงบริเวณของเส้นประสาทที่อยู่ภายในกระดูกขากรรไกรของเรา อันนี้ก็เป็นปัจจัยหนึ่งที่จะทำให้เวลาผ่าฟันคุดอาจเกิดอาการแทรกซ้อนได้ รากยิ่งยาวการผ่าฟันคุดจะยิ่งยากขึ้น แล้วถ้ารากงอเข้าไปอีกก็ยิ่งลำบากเลย เป็นความลำบากของหมอ ว้าวุ่นกันเลยทีเดียว...” ผศ.ทพญ.ณฤษพร กล่าว

ฟันคุดแบบไหนที่ควรถอน

ทันตแพทย์จะมีข้อพิจารณากันว่าฟันคุดที่ควรจะเอาออกต้องเป็นแบบไหนบ้าง ตัวอย่างลักษณะและอาการเช่น

     (1) ฟันคุดที่ไม่สามารถขึ้นมาได้เต็มซี่หรือสมบูรณ์ และอาจจะก่อให้เกิดอาการปวดหรือมีการล้มของฟันหรือมีการชนบริเวณของตัวฟันด้านหน้า ตัวอย่างเช่น ฟันกรามซี่สุดท้ายทำให้เสี่ยงต่อการเกิดฟันล้มเนื่องจากพื้นที่ไม่เพียงพอในการขึ้นของฟัน นอกจากนี้หากเศษอาหารสามารถไปติดบริเวณซอกฟันก็มีโอกาสที่จะเกิดฟันผุ ไม่ว่าจะฟันคุดเองผุหรือฟันซี่ด้านหน้าของฟันคุดที่ผุ ล้วนส่งผลเสียถ้าเราไม่เอาออก

          (2) ตรวจพบรอยโรคในฟันคุด จะเห็นได้จากฟิล์มเอกซเรย์ ตัวอย่างเช่น ปกติฟันของคนเราจะมีเหมือนถุงหุ้มฟันเอาไว้ ถุงหุ้มฟันมีโอกาสเปลี่ยนแปลงตัวเนื้อเยื่อถุงให้กลายเป็นถุงน้ำหรือเนื้องอกในกระดูกขากรรไกรได้ซึ่งค่อนข้างอันตราย ทำให้เราสูญเสียกระดูกเพราะว่าถุงน้ำหรือเนื้องอกจะไปละลายกระดูกได้ เป็นต้น

          นอกจากผลเสียในเรื่องของฟันผุ ฟันล้ม หรือรอยโรคที่เกี่ยวข้องกับฟันคุดแล้ว เวลาที่เกิดอุบัติเหตุที่มีแรงกระทบบริเวณของขากรรไกร จุดตรงนี้เองก็จะเป็นเหมือนจุดอ่อนที่สามารถทำให้มีกระดูกหักได้ง่ายกว่าบริเวณอื่น ๆ

          “ถ้าทันตแพทย์พิจารณาแล้วว่าฟันซี่ที่ไม่สามารถขึ้นมาได้ หรือขึ้นมาได้เพียงบางส่วน หรือขึ้นมาได้ไม่เต็มซี่แล้วก็ตามแต่ไม่ได้มีประโยชน์ด้านการบดเคี้ยวเป็นหลัก การสบฟันอาจจะไม่ดี ไม่เหมาะสม มีโอกาสที่จะทำให้ฟันข้างเคียงเกิดโรคได้ เราก็จะแนะนำให้คนไข้ผ่าหรือถอนฟันคุดนั้นออก” ผศ.ทพญ.ณฤษพ กล่าว

บริการผ่าฟันคุดที่ธรรมศาสตร์

     คณะทันตแพทย์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีให้บริการผ่าฟันคุดในราคาย่อมเยาว์ มีทั้งคลินิกทันตกรรมนักศึกษาก่อนปริญญา และหลังปริญญา นอกจากนี้ยังมีคลินิกทันตกรรมในโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ อีกด้วย

     “ในส่วนของคลินิกทันตกรรมนักศึกษาก่อนปริญญาและหลังปริญญา ตรงนี้จริง ๆ ไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เรามีอาจารย์ที่มีความเชี่ยวชาญซึ่งเป็นอาจารย์ทันตแพทย์เฉพาะทางในด้านศัลยกรรมช่องปากและแม็กซิลโลเฟเชียล ดูแลอย่างใกล้ชิด ก็ขอเชิญชวนทุกๆคนสามารถเข้ามารับบริการกันได้ค่ะ” ผศ.ทพญ.ณฤษพร ทิ้งท้าย

     อ่านรายละเอียดเพิ่มเติมเกี่ยวกับการให้บริการคลินิกฯ ได้ที่ https://dentistry.tu.ac.th/academic-services