Loading...

จ.ปทุมธานี สัญญาณดี! ‘ธรรมศาสตร์’ ประกาศปิด ‘โรงพยาบาลสนาม’

ธรรมศาสตร์ประกาศปิด “โรงพยาบาลสนาม” ยุติการรับผู้ป่วยโควิด-19 หลังการระบาด จ.ปทุมธานี เริ่มคลี่คลาย พร้อมตั้งกรรมการเฝ้าระวัง หากสถานการณ์เปลี่ยน พร้อมเปิดได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง

วันพุธที่ 17 มีนาคม พ.ศ.2564

     โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกาศปิดและขอยุติการรับผู้ป่วยโควิด-19 เข้ารับการรักษา ตั้งแต่วันที่ 16 มี.ค. เป็นต้นไป ภายหลังประเมินแล้วว่าสถานการณ์โควิด-19 ของ จ.ปทุมธานี เริ่มคลี่คลาย ประกอบกับโรงพยาบาลระดับต่าง ๆ ใน จ.ปทุมธานี มีศักยภาพที่จะรองรับและดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ได้มากขึ้น

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า หลังจากที่ผู้ป่วยรายสุดท้ายออกจากโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ เราได้ร่วมกันประเมินสถานการณ์และพบว่าจำนวนผู้ป่วยใน จ.ปทุมธานี โดยภาพรวมลดลง ขณะที่โรงพยาบาลใน จ.ปทุมธานี ก็มีศักยภาพในการรองรับผู้ป่วยมากขึ้น นั่นทำให้โรงพยาบาลสนามมีความจำเป็นน้อยลงและนำมาสู่การปิดตัวในครั้งนี้

     อย่างไรก็ตาม ธรรมศาสตร์ได้จัดตั้งคณะกรรมการติดตามและเฝ้าระวังสถานการณ์อย่างใกล้ชิดต่อไป ซึ่งหากในอนาคตสถานการณ์มีความเปลี่ยนแปลง ก็พร้อมเปิดโรงพยาบาลสนามได้ทันทีภายใน 24 ชั่วโมง

     รศ.เกศินี กล่าวว่า การเปิดโรงพยาบาลสนามในสถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 นับเป็นอีกหนึ่งเหตุการณ์ในหน้าประวัติศาสตร์ ที่ชาวธรรมศาสตร์ได้ร่วมแรงร่วมใจกัน ดำเนินงานอันเป็นประโยชน์ต่อประชาชนและประเทศชาติ ที่กำลังเผชิญกับสถานการณ์อันยากลำบาก ด้วยการดึงทรัพยากรที่มีอยู่เข้ามาช่วยในการแก้ไขปัญหา

     “การดำเนินการเหล่านี้เป็นไปเพื่อสังคมส่วนรวมและเพื่อประชาชน ตามเจตนารมณ์ในการก่อตั้งมหาวิทยาลัย ซึ่งทันทีที่เราเปิดโรงพยาบาลสนามก็มีศิษย์เก่าจำนวนมากติดต่อเข้ามาเพื่อขอสนับสนุน ตรงนี้ทำให้เห็นภาพชัดว่าชาวธรรมศาสตร์ไม่เคยทิ้งความรักประชาชน และการทำงานเพื่อส่วนรวม” รศ.เกศินี กล่าว

     ศ.ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ ประธานกรรมการบริหารโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ กล่าวว่า การประกาศจัดตั้งโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ไม่ได้เป็นเพียงโรงพยาบาลสนามแห่งแรกของไทยเท่านั้น แต่ยังเป็นการนำเสนอแนวทางที่สำคัญต่อระบบสาธารณสุขของประเทศ ในการจัดการกับวิกฤตโควิด-19 ที่ได้ช่วยเพิ่มความมั่นใจทั้งกับบุคลากรและประชาชนที่ต่างกำลังเกิดความวิตกในเวลานั้น ว่าระบบสาธารณสุขของประเทศยังคงมีศักยภาพและความเข้มแข็งที่เพียงพอในการดูแล

     “การยุติโรงพยาบาลสนาม ไม่ได้เป็นการประกาศว่าสถานการณ์โควิด-19 จบสิ้น หรือไม่มีการระบาดแล้ว แต่เป็นการส่งสัญญาณว่าต่อไปนี้การระบาดจะอยู่ในระดับที่ควบคุมได้ ไม่ได้น่าตระหนกหรือน่ากลัวอีก เพราะระบบโรงพยาบาลของเรามีศักยภาพและความพร้อมรองรับผู้ป่วยได้ ซึ่งบทบาทและภารกิจในการดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ที่ยังมีอยู่ จะถูกส่งต่อให้กับโรงพยาบาลหลัก คือธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่มีศักยภาพในระดับสูงของประเทศ” ศ.ดร.สุรพล กล่าว

     ด้าน ผศ.นพ.ฉัตรชัย มิ่งมาลัยรักษ์ ผู้อำนวยการโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวความคิดของการจัดตั้งโรงพยาบาลสนามในครั้งแรกนับเป็นสิ่งที่ถูกต้อง เนื่องจากได้ทำให้ผู้ป่วยโควิด-19 สามารถเข้าถึงการดูแล และช่วยลดการแพร่ระบาดของโรค ซึ่งเป็นปัจจัยหนึ่งที่ทำให้ประเทศไทยสามารถควบคุมสถานการณ์ได้ ต่างกับในบางประเทศที่ล้มเหลวเพราะจำเป็นต้องให้ผู้ป่วยกักตัวที่บ้าน จึงไม่สามารถป้องกันการแพร่ระบาดได้

     “โรงพยาบาลสนามเป็นการบริหารทรัพยากรที่มีอยู่อย่างเหมาะสม เพื่อรับมือกับโควิด-19 โดยโรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์มีแพทย์อาสาจำนวนกว่า 150 ท่าน ที่สมัครเข้ามาร่วมช่วยเหลือในการดูแล มีการนำเทคโนโลยีต่าง ๆ เข้ามาใช้เพื่อดูแลคนไข้ ลดจำนวนบุคลากรที่ใช้ โดยยังเน้นการดูแลทั้งทางร่างกาย และจิตใจ มีทีมนักจิตบำบัดเข้ามาช่วยประเมิน ตลอดจนการกลับสู่สังคม ซึ่งมีทีมสังคมสงเคราะห์มาช่วยกันเตรียมความพร้อมชุมชน ในการยอมรับผู้ป่วยที่จะกลับสู่สังคมต่อไป” ผศ.นพ.ฉัตรชัย กล่าว

     อนึ่ง โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ขนาด 308 เตียง ได้เปิดดำเนินงานครั้งแรกในวันที่ 23 มี.ค. 2563 จากความคิดริเริ่มของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ที่ต้องการร่วมแบ่งเบาภาระงานในระบบสาธารณสุข และช่วยเหลือประเทศชาติในการรับมือกับสถานการณ์การแพร่ระบาดทุกรุนแรงในช่วงเวลานั้น ซึ่งนับเป็นโมเดลสำคัญที่ทำให้เกิดโรงพยาบาลสนามแห่งอื่น ๆ ทั่วประเทศตามมา

     ทั้งนี้ ในช่วงของการระบาดระลอกแรก โรงพยาบาลสนามธรรมศาสตร์ ได้เปิดให้ดำเนินการเป็นระยะเวลาราว 2 เดือน โดยให้การดูแลผู้ป่วยโควิด-19 ไปจำนวน 30-40 คน อย่างไรก็ตามภายหลังเหตุการณ์การระบาดระลอกใหม่ที่เกิดขึ้น โรงพยาบาลสนามแห่งนี้ได้กลับมาดำเนินงานอีกครั้ง ในช่วงระหว่างวันที่ 11 ม.ค. - 15 มี.ค. 2564 และได้ดูแลผู้ป่วยไปจำนวนทั้งสิ้น 311 คน โดยเป็นผู้ป่วยที่มีผลโควิด-19 เป็นบวก 271 คน กับผู้ป่วยที่มีประวัติสัมผัสเสี่ยงสูงอีก 40 คน