Loading...

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีธรรมศาสตร์ บอร์ด EFMD ร่วมกำหนดเทรนด์การศึกษาบริหารธุรกิจระดับโลก

 

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ ร่วมกำหนดเทรนด์การศึกษาด้านบริหารธุรกิจระดับโลก หนึ่งเดียวของไทยที่ได้รับตำแหน่งบอร์ดสูงสุดของ EFMD

วันอังคารที่ 17 สิงหาคม พ.ศ.2564

     แม่ทัพธรรมศาสตร์ หนึ่งเดียวของไทยที่ได้นั่งเก้าอี้บอร์ดสูงสุดของ EFMD ร่วมกำหนดนโยบายชี้นำการศึกษาด้านบริหารธุรกิจระดับนานาชาติควรไปทิศทางใด

     วิกฤตสุขภาพครั้งประวัติศาสตร์ในขณะนี้ กำลังทำให้คำกล่าวที่ว่า “One world One destiny” และ “โลกเชื่อมร้อยกันเป็นหนึ่งเดียว” กลายเป็นรูปธรรมที่สามารถจับต้องได้

     การแพร่ระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ที่ยังมองไม่เห็นจุดสิ้นสุดนั้น นอกจากสร้างผลกระทบเชิงลบต่อสุขภาพคนทั่วโลกแล้ว ยังได้เขย่าเศรษฐกิจและสั่นคลอนภาคธุรกิจอย่างรุนแรง

     โดยเฉพาะกับ “ประเทศไทย” ที่ต้องอาศัยการท่องเที่ยว-ส่งออก เป็นเครื่องยนต์หลักในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจและผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ซึ่งผลพวงจาก “มาตรการปิดเมือง” ได้ทำให้ทุกอย่างหยุดชะงักลง ก่อนจะขยายวงกลายเป็นความเดือดร้อนทุกหย่อมหญ้า

     การพลิกฟื้นเศรษฐกิจ ตลอดจนการบริหารธุรกิจในโลกยุคโควิด-19 และหลังโควิด-19 จึงกลายมาเป็นโจทย์ใหญ่ที่ท้าทาย มีความสำคัญไม่ต่างไปจากการวิจัยพัฒนาวัคซีนให้เท่าทันเชื้อกลายพันธุ์

     ทุกวันนี้ ทิศทางและเทรนด์การบริหารธุรกิจระดับโลก มักจะเกี่ยวข้องและถูกชี้นำโดย สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับโลกด้านบริหารธุรกิจ ซึ่งมียักษ์ใหญ่อยู่ 3 สถาบัน

     ได้แก่ 1. EFMD หรือ European Foundation for Management Development สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาจากยุโรป 2. AACSB หรือ The Association to Advance Collegiate Schools of Business สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสหรัฐอเมริกา 3. AMBA หรือ The Association of MBAs สถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาจากสหราชอาณาจักร

     ที่จริงแล้ว หน้าที่หลักของทั้ง 3 สถาบันนี้ คือการให้การรับรองมาตรฐานการศึกษาแก่ “คณะบริหารธุรกิจ” โดยมหาวิทยาลัยที่ผ่านการรับรองมาตรฐานจะได้รับการยกย่องว่า “เป็นผู้ครอบครอง Crown”

     อย่างไรก็ดี แม้ว่าหลักสูตรบริหารธุรกิจจะมีการจัดการเรียนการสอนในมหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก แต่มีไม่ถึง 1% ของมหาวิทยาลัยที่เปิดสอน ที่ผ่านการรับรองมาตรฐานครบทั้ง 3 สถาบัน หรือเป็นผู้ครอบครอง “Triple Crown”

     ทว่า Business School ของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ภายใต้การนำของ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กลับทำได้สำเร็จ นับเป็น 1 ในจำนวน 1% ที่ได้ครอบครอง “Triple Crown”

     ในสถานการณ์โควิด-19 ชื่อของ “รศ.เกศินี” ได้รับการพูดถึงอย่างกว้างขวางในฐานะต้นแบบของการนำ “สถาบันการศึกษา” มารับใช้สังคม และเมื่อปีที่ผ่านมา ชื่อของเธอได้ถูกกล่าวขวัญถึงอีกครั้งหลังได้รับแต่งตั้งเป็น “สมาชิกกิตติมศักดิ์ตลอดชีพ” (EFMD Fellow) ของ EFMD หนึ่งเดียวในอาเซียน

     “ทาง EFMD จะเป็นผู้คัดเลือกจากมหาวิทยาลัยที่มีศักยภาพและสามารถทำงานเชื่อมโยงเป็นเครือข่ายกันในระดับโลกได้เท่านั้น การเป็นสมาชิกกิตติมศักดิ์จะทำให้ได้ทำงานร่วมกันในเชิงลึก ช่วยกันออกแบบหลักสูตรและองค์ความรู้ทางธุรกิจเพื่อนำไปปรับใช้ทั่วโลก” รศ.เกศินี อธิบาย

     รศ.เกศินี บอกว่า EFMD คาดหวังให้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเครือข่าย หรือเป็น Hub ของอาเซียน ที่จะไปเชื่อมโยงกับองค์กรภาคธุรกิจ ตลอดจนสถาบันที่จัดการเรียนการสอนด้านการบริหารธุรกิจ เพื่อให้ก้าวไปสู่คุณภาพในระดับนานาชาติด้วยกัน

     ล่าสุด เมื่อเดือน ก.ค. 2564 “รศ.เกศินี” ได้รับการแต่งตั้งจาก EFMD อีกครั้ง โดยถือเป็น “คนไทยคนแรก” ที่ได้เข้าไปนั่งในตำแหน่งบริหารระดับสูง คือ “คณะกรรมการ EFMD” (Board of Trustees)

     Board of Trustees เป็นคณะกรรมการระดับสูงสุดที่กำหนดนโยบายของ EFMD ซึ่งจะรวมไปถึงการเชื่อมโยงภาครัฐ ธุรกิจ และสถาบันการศึกษาทั่วโลกให้ร่วมกันพัฒนาองค์ความรู้ด้านการบริหารธุรกิจแล้วเอาไปใช้ รวมถึงการกำหนดเกณฑ์การประเมินเพื่อพัฒนาศักยภาพของสถาบันการศึกษาด้านบริหารธุรกิจทั่วโลก และการชี้นำว่าการศึกษาในอนาคตควรเป็นอย่างไร

     ตัวอย่างเช่น EFMD ระบุว่า เทรนด์ในขณะนี้เป็นเรื่องความเป็นนานาชาติ จริยธรรม และความร่วมมือกับองค์กรต่าง ๆ เพื่อพัฒนาองค์ความรู้ คน และสังคมร่วมกัน ก็จะชี้นำคณะบริหารธุรกิจทั่วโลกให้พัฒนาหลักสูตรตาม ไม่เช่นนั้นจะไม่ผ่านการรับรองมาตรฐานจาก EFMD

     “เขาจะชี้นำเลยว่าในยุคปัจจุบันถึงอนาคต หากต้องการสร้างคนมาเป็น Business Leader จะต้องสอนอย่างไร สอนเกี่ยวกับอะไรบ้าง ที่สำคัญคือ EFMD มีสมาชิกที่เป็นผู้บริหารระดับสูงจากองค์กรเอกชนทั่วโลก นี่จึงเป็นโอกาสดีของประเทศไทยที่จะสร้างความร่วมมือระหว่างองค์กรเอกชนและสถาบันการศึกษาชั้นนำระดับโลก” รศ.เกศินี ระบุ

     การแต่งตั้ง รศ.เกศินี ให้ดำรงตำแหน่งผู้บริหารระดับสูงของสถาบันรับรองมาตรฐานการศึกษาระดับโลกด้านบริหารธุรกิจ เท่ากับเป็นการปักธงให้กับประเทศไทยว่า การศึกษาไทยมีคุณภาพและได้รับการยอมรับจากนานาชาติ ในระดับที่แต่งตั้งให้เข้ามาเป็นกรรมการสูงสุด เพื่อช่วยชี้นำว่าการศึกษาด้านบริหารธุรกิจระดับนานาชาติควรเป็นไปในทิศทางใด

     ในมุมมองของ รศ.เกศินี แล้ว การบริหารธุรกิจในยุคโควิด-19 และหลังโควิด-19 จะเปลี่ยนแปลงไปโดยสิ้นเชิง ธุรกิจจะต้องมีความยืดหยุ่น (Agility) พร้อมปรับตัวตลอดเวลาตามสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว การพัฒนาคนอย่างต่อเนื่องผ่านการ Upskill/Reskill จึงเป็นหัวใจสำคัญของความสำเร็จขององค์กร การเข้าถึงเทคโนโลยีใหม่ ๆ จะไม่จำกัดอยู่เพียงแค่กับบริษัทยักษ์ใหญ่ เช่น ร้านอาหารเล็ก ๆ ก็สามารถใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชัน Food Delivery เพื่อเข้าถึงฐานลูกค้ารายใหม่ ๆ นับเป็นการเพิ่มขีดการแข่งขันแบบที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อน ดังนั้น มหาวิทยาลัยจึงมีหน้าที่ในการทำให้ทุกคนสามารถเข้าถึงองค์ความรู้ใหม่ได้ทุกที่ ทุกเวลา พัฒนาทักษะการเรียนรู้ตลอดชีวิต (Lifelong Learning) ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้พัฒนาแพลตฟอร์มออนไลน์สำหรับบุคคลทั่วไปที่สนใจพัฒนาทักษะใหม่ ๆ อีกทั้งยังสามารถเก็บหน่วยกิตจนได้รับปริญญาโทได้

     สำหรับภารกิจแรกหลังจากได้รับการแต่งตั้งเป็นบอร์ด EFMD รศ.เกศินี และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เตรียมที่จะเป็นแม่งานในการจัดการประชุมระดับ International เพื่อให้ความรู้แก่องค์กรทั้งในประเทศไทยและภูมิภาคอาเซียน

     “งานที่เรากำลังจะจัดขึ้นนี้ จะเป็นการนำองค์กรนานาชาติและมหาวิทยาลัยชั้นนำระดับโลกที่ได้รับการยอมรับเรื่อง best practice ในด้านต่าง ๆ มาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ เพื่อให้เกิดการบูรณาการองค์ความรู้และความร่วมมือระหว่างองค์กรในระดับนานาชาติ” รศ.เกศินี ระบุ

     การประชุมครั้งนี้ จะเป็นการนำร่องการขยายการมีส่วนร่วม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะชักชวนองค์กรในอาเซียนมาร่วม เพื่อแลกเปลี่ยนเรียนรู้ถึงแนวทางการบริหารองค์กรที่ดีที่ได้รับการยอมรับระดับนานาชาติ