Loading...

“ทูตอารยสถาปัตย์พบเมล็ดพันธุ์ใหม่ ครั้งที่ 4” ย้ำจุดยืน “ธรรมศาสตร์” เมืองอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดกิจกรรมทูตอารยสถาปัตย์พบเมล็ดพันธุ์ใหม่ ครั้งที่ 4 เพื่อพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้เรื่องอารยสถาปัตย์

วันพฤหัสบดีที่ 18 สิงหาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยึดมั่นในหลักความเสมอภาคและเท่าเทียม เคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์บนความแตกต่างหลากหลาย ทั้งในด้านความคิด ความเชื่อ อุดมการณ์ที่แตกต่าง เพศสภาพ รวมไปถึงความแตกต่างทางด้านร่างกาย ในปีที่ 88 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ยังคงก้าวต่อไป สู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน ซึ่งประชาชนนั้นหมายรวมถึงคนทุกกลุ่ม โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้ยึดหลักอันเป็นมาตรฐานสากลที่เรียกว่า “Universal Design” การออกแบบเพื่อคนทั้งมวล หรือที่เรียกว่า “อารยสถาปัตย์” ในการทำให้ทุกตารางนิ้วของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีความเท่าเทียมและเสมอภาคกัน

     เมื่อวันที่ 17 สิงหาคม 2565 ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้จัดกิจกรรม “ทูตอารยสถาปัตย์พบเมล็ดพันธุ์ใหม่ ครั้งที่ 4ณ อาคารเรียนกลุ่มสังคมศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อถ่ายทอดความรู้ความเข้าใจทางด้านอารยสถาปัตย์ อันเป็นความจำเป็นขั้นพื้นฐานที่สังคมควรคำนึงถึงและให้ความสำคัญ ซึ่งต้องทำให้ไม่ใช่เพียงในรั้วมหาวิทยาลัย แต่ทุกพื้นที่ในประเทศไทยต้องเป็นพื้นที่ที่คนทุกกลุ่มเข้าถึงได้อย่างอิสระและปลอดภัย ไม่ทำให้คนรู้สึกว่าตนแปลกแยก ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์สนับสนุนและผลักดันในการพัฒนาองค์ความรู้ด้านอารยสถาปัตย์อย่างจริงจังมาตลอด จนสามารถคว้ารางวัล Friendly Design Awards ถึง 4 ปีซ้อน ในฐานะองค์กรที่มีความโดดเด่นด้านการส่งเสริมและสร้างอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึงและใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม

     โดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานกล่าวเปิดกิจกรรม พร้อมด้วย รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ, ผศ.ดร.อรุณี ลิ้มมณี และคุณกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล ร่วมพูดคุยแลกเปลี่ยนความรู้ทางด้านอารยสถาปัตย์ แก่นักศึกษา และผู้ร่วมงาน

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมานั้นธรรมศาสตร์ได้มุ่งเน้นการสร้างการเข้าถึงสภาพแวดล้อม โดยเฉพาะพื้นที่สาธารณะ อันเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานของการใช้ชีวิตในสังคม และมุ่งพัฒนาด้านสภาพแวดล้อม เพื่อนักศึกษาพิการ ตั้งแต่สวัสดิการการศึกษาสำหรับนักศึกษาพิการ สิทธิในการเข้าศึกษาที่เปิดโควตาให้นักศึกษาพิการสามารถเข้าศึกษาได้ในทุกคณะ การปรับ EV Shuttle Bus on Campus หรือ รถบริการภายในพื้นที่มหาวิทยาลัยให้นักศึกษาวีลแชร์สามารถใช้บริการได้ทุกคัน การปรับอาคารสถานที่ให้มีความเป็นอารยสถาปัตย์ ทั้งในการก่อสร้าง ปรับปรุง ซ่อมแซม ทั้งทางลาด ห้องนํ้า ที่จอดรถ ป้ายสัญลักษณ์ และห้องเรียน ให้พร้อมต่อการใช้งานและอำนวยความสะดวก รวมถึงจัดตั้งศูนย์ดูแลนักศึกษาพิการที่ทันสมัยและครบวงจรด้วยการอำนวยความสะดวกมากที่สุดในประเทศไทย

     “การจัดกิจกรรมทูตอารยสถาปัตย์พบเมล็ดพันธุ์ใหม่ในครั้งนี้ ถือเป็นโอกาสที่ดีที่จะทำให้ผู้เข้าร่วมงานทุกท่านได้รับรู้และเข้าใจเรื่องของการออกแบบที่เป็นมาตรฐานสากลและเป็นมิตรกับคนทั้งมวล รวมถึงเข้าใจและใส่ใจเรื่องอารยสถาปัตย์มากยิ่งขึ้น” รศ.เกศินี กล่าว

     คุณกฤษณะ ละไล ประธานมูลนิธิอารยสถาปัตย์เพื่อคนทั้งมวล เผยว่า ทุกครั้งที่มาเยือนธรรมศาสตร์จะรู้สึก “อิสระ” ไม่รู้สึกว่าตนเป็นคนพิการ เพราะสามารถเข้าถึงทุกพื้นที่ได้ด้วยตัวเองอย่างปลอดภัย โดยความเป็นจริงแล้ว สภาพแวดล้อมข้างนอกนั้นขับให้คนที่มีความแตกต่างทางด้านสภาพร่างกายรู้สึกว่าตนเองเป็น ‘คนพิการ’ เช่นบางครั้งเข็นรถไปบนฟุตบาทต้องไปเจอกับเสาไฟฟ้าที่ทำให้เราไปต่อไม่ได้ หรือตึกอาคารที่ไม่มีทางลาดก็ต้องลำบากให้คนอื่นช่วยยกช่วยเข็น รู้สึกต้องพึ่งพาหรือเป็นภาระของคนอื่น หากไม่มีสภาพแวดล้อมที่พิการเหล่านี้ มันก็จะไม่มีคนพิการ เหมือนอย่างที่รู้สึกทุกครั้งเมื่อมาเยือนมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     “หัวใจของการทำอารยสถาปัตย์คือต้องตอบโจทย์การใช้ชีวิตอิสระ คือการไม่เป็นภาระของคนรอบข้าง รู้สึกว่าธรรมศาสตร์สามารถทำและตอบโจทย์อารยสถาปัตย์เพื่อประชาชนได้โดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง และในวันนี้ได้มาพบเมล็ดพันธุ์ใหม่ที่จะเบ่งบานต่อไปในการสร้างความเข้าใจเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างยอมรับและเคารพกันและกันบนความแตกต่างหลากหลาย” คุณกฤษณะ กล่าว

     รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ประโยชน์ที่ได้จากกิจกรรมนี้ไม่ใช่เพียงแค่นักศึกษาพิการ แต่นักศึกษาไม่พิการที่ได้เข้าร่วมจะได้เรียนรู้ ปรับวิธีคิด ทัศนคติในการอยู่ร่วมกันบนความแตกต่างหลากหลายอย่างเข้าใจมากยิ่งขึ้น ให้สามารถมองความหลากหลายเป็นเรื่องธรรมดา แนวคิดนี้เป็นสิ่งที่ธรรมศาสตร์พยายามบ่มเพาะนักศึกษามาตลอดในเรื่องความเสมอภาคและความเท่าเทียม ดังนั้นเรื่องของอารยสถาปัตย์ จึงมาช่วยหนุนเสริมให้ความเท่าเทียมในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในมิติด้านสภาพแวดล้อมดียิ่งขึ้น

 

     ผศ.ดร.อรุณี ลิ้มมณี ผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นมหาวิทยาลัยของประชาชน ที่เน้นเรื่องการอยู่ร่วมกันอย่างเคารพศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ ทุกคนอยู่ร่วมกันโดยไม่รู้สึกว่าเป็นส่วนเกิน ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มีการพัฒนามาตลอดจนถึงปัจจุบัน ในการทำให้นักศึกษาทุกคนสามารถเข้ามาเรียนได้อย่างเท่าเทียม โดยเมื่อมีปัญหาเกิดขึ้นในด้านต่าง ๆ ทางมหาวิทยาลัยพร้อมที่จะรับฟังและนำมาแก้ไข

     ทั้งนี้ ในวันที่ 15 - 18 ธันวาคม 2565 จะมีการจัดงาน “มหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวลครั้งที่ 6” ณ ฮอลล์ 102 ไบเทค-บางนา โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นหนึ่งในองค์กรที่สนับสนุนและเข้าร่วมจัดบูธเผยแพร่องค์ความรู้ด้านนวัตกรรมเกี่ยวกับที่อยู่อาศัยซึ่งออกแบบด้วยแนวคิด “Universal Design” ซึ่งจะมีการแจกแปลนบ้านที่มีการออกแบบด้วยหลักคิดดังกล่าวฟรีแก่ผู้ร่วมงาน นอกจากนี้ภายในงานยังมีการจัดกิจกรรมการประกวดนางงามทูตอารยสถาปัตย์ 2565 อีกด้วย สำหรับผู้ที่สนใจสามารถติดตามได้ที่ เพจเฟซบุ๊ก Thailand Friendly Design Expo