Loading...

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เข้าเฝ้าฯ สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี

 

คณะกรรมการอำนวยการโครงการฯ กราบบังคมทูลรายงานผลการดำเนินงานโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวพระราชดำริ

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ.2564

     สมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดา เจ้าฟ้ามหาจักรีสิรินธร มหาวชิราลงกรณวรราชภักดี สิริกิจการิณีพีรยพัฒน รัฐสีมาคุณากรปิยชาติ สยามบรมราชกุมารี พระราชทานพระราชวโรกาส ให้พลเอกวิชิต ยาทิพย์ ประธานคณะกรรมการอำนวยการโครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ตามแนวพระราชดำริ นำนายอูก ซอต์พวน (H.E. Ouk Sorphorn) เอกอัครราชทูตราชอาณาจักรกัมพูชา ประจำประเทศไทย นายธานี ทองภักดี ปลัดกระทรวงการต่างประเทศ พร้อมด้วยคณะกรรมการอำนวยการ เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาท กราบบังคมทูลรายงานความก้าวหน้าผลการดำเนินงานระหว่างปี พ.ศ. 2563 จนถึงปัจจุบัน พร้อมทั้งพระราชทาน พระราชานุญาต ให้ผู้บริหารสถาบันการศึกษา จำนวน 37 สถาบัน นำคณาจารย์ และนักเรียนทุนพระราชทาน ประจำปีการศึกษา 2561 – 2564 จำนวนทั้งสิ้น 855 คน เข้าเฝ้าทูลละอองพระบาทสำนึกในพระมหากรุณาธิคุณ เมื่อวันพฤหัสบดีที่ 16 กันยายน 2564 ผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์)

     โครงการพระราชทานความช่วยเหลือแก่ราชอาณาจักรกัมพูชา ดำเนินการต่อเนื่องตั้งแต่ปีพุทธศักราช 2554 ถือกำเนิดจากพระราชปณิธาณในสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยามบรมราชกุมารี ที่จะพัฒนาระบบการศึกษาที่มีคุณภาพให้แก่เยาวชนกัมพูชา เสมือนเป็นของขวัญพระราชทานที่ยั่งยืนแก่ประชาชนแห่งราชอาณาจักรกัมพูชา ซึ่งเป็นเพื่อนกันมายาวนานของขวัญล้ำค่านี้คือ ระบบการศึกษาทั้งสายสามัญ และสายวิชาชีพ ทำให้เกิดโรงเรียนซึ่งจัดการเรียนการสอนสองระบบ หรือ dual system อันเป็นต้นแบบของการเรียนการสอนปัจจุบัน นอกเหนือไปจากนั้นยังทรงห่วงใยในเรื่องสุขภาพอนามัยของนักเรียน ทรงเน้นว่า การศึกษาที่ดีจะต้องควบคู่ไปกับนักเรียน นักศึกษาที่มีสุขอนามัยที่ดีด้วย

     การดำเนินโครงการภายใต้สถานการณ์การระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 (COVID 2019) ทำให้ประสบปัญหาในการเดินทาง นักเรียนที่เดินทางเข้ามาจากราชอาณาจักรกัมพูชา จะต้องดำเนินการตามมาตรการป้องกันและควบคุมโรคอย่างเข้มงวด ตามที่กระทรวงสาธารณสุขไทยกำหนด เมื่อพำนักอยู่ในประเทศไทย นักเรียนทุกคนจะต้องปฏิบัติตัวตามมาตรการควบคุมที่รัฐบาลไทยกำหนดภายใต้การดูแลของสถาบันการศึกษาเจ้าของทุน นักเรียนทุกคนจะเข้ารับการศึกษาผ่านระบบการเรียนผ่านสื่ออิเล็กทรอนิกส์ (ออนไลน์) เช่นเดียวกับนักเรียนไทย การบริหารโครงการภายใต้ภาวะการระบาดของไวรัสโคโรนา 2019 ก่อให้เกิดทักษะและความรู้ใหม่ในการบริหารโครงการแบบ New Normal ที่จะต้องใช้เทคโนโลยีเข้ามาช่วย การประสานงานการประชุมผ่านระบบสื่อสารอิเล็กทรอนิกส์

     การดำเนินโครงการที่ผ่านมาก่อให้เกิดความสัมพันธ์ที่ดี และความร่วมมือที่ดีระหว่าง ราชอาณาจักรไทย และราชอาณาจักรกัมพูชา ทั้งในภาครัฐบาล ภาคเอกชน และภาคประชาชน ทำให้เกิดการพัฒนาบุคลากรรุ่นใหม่ที่ได้รับทุนพระราชทานเป็นบุคลากรมีคุณภาพ ทยอยกลับไปพัฒนาราชอาณาจักรกัมพูชา กว่า 800 คน จึงเป็นสิ่งที่ยืนยันได้ว่า โครงการนี้ เป็นของขวัญพระราชทานที่ยั่งยืนอย่างแท้จริง