Loading...

สังคมสงเคราะห์ฯ ธรรมศาสตร์ เสริมพลังชุมชนคูบางหลวง ปทุมธานี เดินหน้าสร้างงานสร้างอาชีพ สู้วิกฤตโควิด

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ สสส. หนุนชุมชนคูบางหลวง ปทุมธานี ส่งเสริมอาชีพขนมไทยพื้นบ้าน และช่วยเหลือผู้ได้รับผลกระทบจากโควิด-19

วันศุกร์ที่ 17 กันยายน พ.ศ.2564

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมมือกับ สสส. หนุนชุมชนคูบางหลวง จ.ปทุมธานี เสริมพลังชุมชน ส่งเสริมอาชีพขนมไทยพื้นบ้าน และดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ใช้ความเข้มแข็ง จัดระบบเฝ้าระวังดูแลผู้ติดเชื้อ เตรียมนำทักษะอาชีพสร้างรายได้เสริม ชุมชนคูบางหลวง จ.ปทุมธานี ใช้ความเข้มแข็งจัดระบบเฝ้าระวังดูแลผู้ติดเชื้อ ขณะเดียวกันหน่วยงานต่าง ๆ ได้เร่งสนับสนุนให้ความช่วยเหลือ เพื่อรองรับสถานการณ์โควิด-19 ที่เริ่มฟื้นตัว เตรียมนำทักษะอาชีพสร้างรายได้เสริม

     ดร.กาญจนา รอดแก้ว อาจารย์ประจำคณะสังคมสงเคราะห์ศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะนักวิจัยในโครงการพัฒนารูปแบบการเสริมพลังชุมชนการเฝ้าระวังทางสังคม และดูแลช่วยเหลือผู้ที่ได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ สังคมจากการแพร่ระบาดโรคโควิด-19 ที่ได้รับการสนับสนุนจาก สสส. เปิดเผยว่า ได้รับผิดชอบพื้นที่ชุมชนคูบางหลวง ต.คูบางหลวง อ.ลาดหลุมแก้ว จ.ปทุมธานี ในโครงการฯ รับมือการระบาดของโควิด-19 ระลอกแรก เนื่องจากชุมชนแห่งนี้มี 7,742 ครัวเรือน ประชากร 11,000 คน มีความโดดเด่นทั้งความรู้ชุมชน ทักษะและภูมิปัญญาชุมชน ชุมชนมีความเป็นพหุวัฒนธรรมผสมผสาน มีทั้งไทยพุทธ มอญ มุสลิม แต่ชุมชนมีจุดเด่นคือ ชุมชนมีความร่วมมือกัน ตลอดจนการช่วยเหลือในการจัดการแก้ปัญหาชุมชน

     ดร.กาญจนา กล่าวว่า สถานการณ์การแพร่ระบาดโควิดรอบแรกที่ผ่านมา ชุมชนนี้ได้ร่วมมือป้องกันชุมชนตนเองไม่ให้เกิดการระบาด จนไม่มีใครติดเชื้อ แต่ก็มีคนในชุมชนได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจทั้งกลุ่มเกษตรกรดั้งเดิม และลูกจ้างในโรงงานอุตสาหกรรม ปัญหาอีกอย่างคือ ความเครียดในชุมชนมีมากขึ้น จึงประชุมร่วมกันทำแผนรับมือ เอาทุนของชุมชน องค์ความรู้ ก่อนจะตกผลึกเป็นโครงการส่งเสริมอาชีพทำขนมไทยพื้นบ้านของคูทองหลวง สร้างแบรนด์ของชุมชนเพื่อฟื้นฟูความรู้ชุมชน และเป็นรายได้เสริมให้ชุมชน

     ทั้งนี้ ขนมที่ทำมี 8 อย่าง ประกอบด้วย ขนมไข่หงษ์ ขนมทอง ขนมสาลี่ ขนมกล้วย ขนมตาล ขนมเทียน ขนมข้าวหมาก ซาลาเปา โดยมีผู้สูงอายุ ผู้มีความรู้ในชุมชนเป็นผู้ถ่ายทอด สอนทำขนมแก่คนในชุมชน มีการถ่ายคลิปขั้นตอนการทำเพื่อเผยแพร่ อัปโหลดลง Youtube และแชร์ลิงก์บันทึกในไลน์ให้กับคนในชุมชนไว้ศึกษา และยังรวบรวมเป็นรูปเล่มเพื่อสืบทอดเป็นองค์ความรู้ไม่ให้ขนมพื้นบ้านหายไป อย่างไรก็ตามแม้การระบาดครั้งล่าสุดนี้จะมีผู้ติดเชื้อในชุมชน แต่ก็เชื่อว่าโครงการสร้างพลังชุมชมทักษะอาชีพจะช่วยเสริมรายได้ให้กับชุมชน หลังสถานการณ์โควิด-19 คลี่คลายได้

     นางทองใบ ใจมั่น รองนายกองค์การบริหารส่วนตำบลคูบางหลวง กล่าวว่า ช่วงนั้นทุกคนได้ไปอบรมทำอาชีพเสริมก็ดีใจ เพราะการทำขนมไทยไม่ได้ยากมาก ชาวบ้านทำกันได้ เมื่อทำเสร็จได้นำไปจำหน่ายในชุมชน บางครั้งเมื่อมีงานจัดอบรมสัมมนาในชุมชน ก็จะสั่งขนมมาจัดเบรกอุดหนุนกัน อย่างไรก็ตาม แม้วันนี้ไม่สามารถรวมกลุ่มได้เพราะโควิด-19 แต่บางบ้านก็ยังทำขนมตาล ขนมต้มทุกวัน เอาไปขายและแจกจ่ายช่วยคนติดโควิดในชุมชน

     ทั้งนี้ การระบาดครั้งนี้ในชุมชนมียอดผู้ป่วยสะสม 500 กว่าคนถือว่ามาก มีทั้งเป็นแรงงานต่างด้าวในหอพัก สถานรับเลี้ยงเด็กในชุมชน มีผู้เสียชีวิตรวม 3 ราย ปัจจุบันตำบลคูบางหลวงร่วมกับสามตำบลใกล้เคียงได้จัดตั้งศูนย์พักคอยที่ ต.บ่อเงิน โดยใช้งบท้องถิ่นรับผู้ป่วยได้ 190 คน มีคนเข้าพัก 50 คนแล้ว

     นางทองใบ กล่าวว่า การอบรมในโครงการเสริมพลังทักษะชุมชนถือว่าเป็นประโยชน์มาก นอกจากได้ทำอาชีพเสริม ยังช่วยวางระบบเฝ้าระวังดูแลกันเอง ซึ่งก็นำมาช่วยรับมือกับสถานการณ์โควิดครั้งนี้ แม้จะรุนแรงแต่ อสม. ในชุมชนเข้มแข็ง บ้านไหนมีปัญหาจะทราบทันที และจะคอยช่วยเหลือดูแลไม่รังเกียจกัน วางระบบโทรทางไลน์ ส่งยา อาหารไปแขวนที่หน้าบ้าน ทั้งนี้อยากให้มีโครงการดี ๆ เพื่อสร้างความเข้มแข็งให้ชุมชนต่อ โดยเฉพาะการได้ดูงานนอกสถานที่ ดูรูปแบบชุมชนอื่น ถือเป็นการเปิดประสบการณ์มุมมองใหม่นำมาใช้พัฒนาชุมชนได้