เปิดโลกกีฬาใหม่ “คอร์ฟบอล” กีฬาที่ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม
เปิดโลกกีฬาใหม่ “คอร์ฟบอล” กีฬาที่ให้โอกาสทุกคนอย่างเท่าเทียม
โดย นภธร จันทร์สว่าง ภาพโดย คณากร ชูไกรไทย
วันจันทร์ที่ 20 มกราคม พ.ศ.2568
หลายคนอาจสงสัยว่าทำไมกีฬาคอร์ฟบอลถึงได้ถูกเลือกมาเป็นส่วนหนึ่งของธรรมศาสตร์เกมส์ในครั้งนี้ เพราะมันคือกีฬาแห่งการเปลี่ยนแปลง กีฬาที่ไม่ได้เป็นเพียงการแข่งขัน แต่ยังเป็นตัวแทนการสร้างความเข้าใจในเรื่องของความเท่าเทียม ความหลากหลาย และการทำงานร่วมกันเป็นทีม ทั้งในด้านมิติกีฬาและสังคม สิ่งนี้สะท้อนถึงแนวคิด Unity of Diversity, Victory for all เนื่องจากคอร์ฟบอลเป็นกีฬาที่ทุกคนในทีมต้องพึ่งพาอาศัยกันอย่างแท้จริง ผู้เล่นทุกคนมีส่วนสำคัญในการควบคุมเกม การส่งลูก การยิงประตู และการป้องกัน ดังนั้น ทุกการกระทำในทีมไม่ว่าเพศไหน ล้วนเป็นหัวใจสำคัญในการพาทีมสู่ความสำเร็จ
หากคุณไม่เคยได้ยินชื่อกีฬาคอร์ฟบอลมาก่อน ลองจินตนาการถึงกีฬาที่มีลักษณะคล้ายบาสเกตบอล คอร์ฟบอลเป็นกีฬาประเภททีมที่มีลักษณะคล้ายบาสเกตบอล แต่มีความพิเศษตรงที่ทีมหนึ่งประกอบด้วยนักกีฬาชายและหญิงอย่างละ 4 คน ที่ต้องร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการทำคะแนนบนสนามเดียวกัน จุดเด่นของเกมนี้คือการใช้ทักษะ เทคนิค ในการเอาชนะผู้เล่นทีมตรงข้ามที่มีทั้งผู้ชายและผู้หญิง โดยทุกคนสามารถมีบทบาทสำคัญในการนำทีมไปสู่ชัยชนะ
ในงานกีฬามหาวิทยาลัยแห่งประเทศไทยครั้งที่ 50 ธรรมศาสตร์เกมส์ ได้สะท้อนถึงความสำคัญของกีฬาคอร์ฟบอลที่ส่งเสริมความยุติธรรม และเปิดโอกาสให้ทุกคนได้มีส่วนร่วมอย่างแท้จริง
"คอร์ฟบอลคือกีฬาที่ท้าทายความสามารถของทุกคน ไม่ว่าจะเป็นชายหรือหญิง ทุกคนล้วนเป็นฟันเฟืองสำคัญในการนำทีมสู่ชัยชนะ"
คุณฐานัตถ์ วังจีน อดีตนักกีฬาทีมชาติ นักกีฬาคอร์ฟบอลจากมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ เล่าถึงประสบการณ์การเล่นคอร์ฟบอลว่า "ผมเล่นกีฬานี้มาตั้งแต่ ม.5 ปีนี้เข้าปีที่ 8 แล้ว ผมคิดว่ามันไม่เหมือนกับกีฬาบางประเภทที่แยกเพศกันเล่น กีฬานี้ไม่มีแบ่งทีมชายหญิง เราต้องทำงานร่วมกันเป็นทีม ทำให้ทุกคนมีโอกาสได้แสดงศักยภาพของตัวเองอย่างเต็มที่ โดยไม่ต้องกังวลเรื่องเพศ และยังเป็นกีฬาที่เล่นง่าย เหมาะกับทุกคนครับ"
และเขายังเสริมอีกว่า “กีฬานี้ไม่เหมือนกับบาสเกตบอลที่ถ้ามีผู้เล่นตัวสูงแล้วจะได้เปรียบกว่า เพราะว่ามีกฎที่เมื่อผู้เล่นทีมรับยกมือป้องกันและใบหน้าของผู้เล่นฝ่ายรับหันหน้ามองตรงไปยังผู้เล่นฝ่ายรุก ในระยะประมาณ 1 ช่วงแขน ผู้เล่นฝ่ายรุกไม่สามารถยิงประตูต่อหน้าผู้เล่นฝ่ายรับได้ทันที ไม่ว่าจะสูง 2 เมตร ก็ไม่สามารถยิงประตูได้ จึงเป็นการวัดที่ทักษะ เทคนิค และไหวพริบเป็นส่วนใหญ่”
ภาพ ดร.วรัทยา วโรทัย หัวหน้าผู้จัดการทีมกีฬาคอร์ฟบอล มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์
ธรรมศาสตร์พร้อมลุย! ผลักดันกีฬาคอร์ฟบอลสู่อนาคต
“ธรรมศาสตร์เองได้ลงแข่งกีฬาคอร์ฟบอลเป็นปีแรก ถึงแม้การเวลาในการเตรียมตัวอาจจะไม่มาก แต่ธรรมศาสตร์ได้เข้ารอบ 8 ทีมสุดท้าย ทั้งคอร์ฟบอลแบบ 4 คน และ 8 คน ถือว่าเป็นที่น่าพอใจมากค่ะ”
อาจารย์ ดร.วรัทยา วโรทัย หัวหน้าผู้จัดการทีมกีฬาคอร์ฟบอล จากมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวถึงความสำเร็จครั้งแรกของการเข้าร่วมการแข่งขัน พร้อมกับชื่นชมทีมที่สามารถแสดงศักยภาพได้อย่างเต็มที่
อาจารย์วรัทยา ยังเปิดเผยว่า “ก่อนการแข่งขัน เราได้จัดการอบรมและพัฒนาทักษะทั้งสำหรับนักกีฬาและผู้ฝึกสอน เพื่อให้ทุกคนมีความพร้อมและสามารถแข่งขันได้อย่างมีประสิทธิภาพ เรามั่นใจว่าเมื่อมีการเตรียมตัวที่ดี นักกีฬาของเราจะสามารถก้าวสู่ระดับที่สูงขึ้นได้”
นอกจากนี้ อาจารย์วรัทยายังกล่าวเสริมว่า “อนาคตกีฬาคอร์ฟบอลในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์มีแนวโน้มที่สดใส เรามองว่าในอนาคตจะมีการจัดตั้งชุมนุมคอร์ฟบอลขึ้น เพื่อให้การสนับสนุน และพัฒนานักกีฬาอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ ยังมีแผนที่จะขยายการรับสมัครนักกีฬาคอร์ฟบอลเพิ่มขึ้น รวมถึงการร่วมมือกับสถาบันอื่น ๆ ในประเทศไทยเพื่อยกระดับกีฬาคอร์ฟบอลให้เป็นที่รู้จัก และนิยมมากขึ้นในระดับประเทศ”
การเริ่มต้นในครั้งนี้ถือเป็นก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ในการผลักดันกีฬาคอร์ฟบอลให้เติบโตอย่างยั่งยืน และยกระดับกีฬานี้ให้เป็นที่นิยมในวงกว้างมากยิ่งขึ้นในอนาคต