Loading...

นักศึกษาวารสารศาสตร์ฯ ธรรมศาสตร์ คว้าแชมป์แผนการรับรู้และระดมทุน เพื่อเด็กที่ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่

นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ออกไอเดียคว้ารางวัลชนะเลิศการประกวดแผนการรับรู้และระดมทุนให้กับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เพื่อเด็กที่ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่

วันพุธที่ 18 พฤษภาคม พ.ศ.2565

     "ทีมอมยิ้ม" นักศึกษาคณะวารสารศาสตร์และสื่อสารมวลชน มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย น.ส.พรนภัส ติณะมาศ น.ส.สุชานรี แซ่ตั๋น น.ส.กัญญ์วรา ยาวิชัย และนายเนคินทร์ วันทอง และ "ทีม Merry Christmas and Happy New Year" ประกอบด้วย น.ส.กษิรา ตั้งคุณาภรณ์ น.ส.ณัชชารีย์ สุขสวัสดิ์ น.ส.ณิชาพร ณ พัทลุง และนายฐฌานันท์ จันทร์แก้วแร่ ได้รับรางวัลชนะเลิศจากการประกวด “แผนการรับรู้และระดมทุน" ให้กับมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม โดยผู้ชนะเลิศทั้ง 2 ทีม จะได้รับโอกาสฝึกงานที่บริษัท Dexer Bangkok

     วันนี้เรามาคุยกับหนึ่งในทีมที่ชนะการประกวดอย่าง ทีม Merry Christmas and Happy New Year โดยทางทีมเล่าว่า แผนงานการสร้างการรับรู้และระดมทุนนี้ เกิดขึ้นจากการเล็งเห็นถึงปัญหาการระดมทุนจากปัญหาโควิด-19 และปัญหาทางเศรษฐกิจ ทำให้ยอดเงินบริจาคภายในมูลนิธิลดลง จึงทำให้เกิดการคิดแผนงานการระดมทุนภายใต้คอนเซ็ปต์ ยิ้มต่อความหวัง สร้างฝันเป็นจริง” ผ่านแคมเปญ “เติมยิ้มสร้างฝัน Smile for Hope” โดยมีแนวคิดว่า “ไม่เพียงแต่เด็ก ๆ ที่ป่วยโรคปากแหว่งเพดานโหว่เท่านั้นที่สมควรได้รับสิ่งดี ๆ กลับไป แต่ในสถานการณ์โควิดและปัญหาทางเศรษฐกิจที่ทำให้คนวัยทำงานใช้ชีวิตได้ลำบากขึ้น กลุ่มคนที่บริจาคก็สมควรได้รับความหวังและกำลังใจในการใช้ชีวิตแต่แต่ละวันเช่นกัน”

     แผนงานจึงเน้นไปที่การให้กำลังใจและสร้างความหวังให้กันและกัน ระหว่างน้อง ๆ ผู้ป่วยและผู้บริจาค ผ่านเทรนด์ความเชื่อในสิ่งศักดิ์สิทธิ์ของไทยเกี่ยวกับเครื่องราง-ของขลัง ไปจนถึงพิธีกรรมต่าง ๆ ที่มีความหมายเชิงบวก สื่อถึงการเสริมดวงชะตาชีวิตด้านต่าง ๆ ทั้งการเรียน การงาน การเงิน ความรัก ดึงดูดทรัพย์และโชคลาภ ไปจนถึงการคุ้มครองให้แคล้วคลาดปลอดภัย ที่กำลังเป็นกระแสในหมู่วัยทำงานในปัจจุบัน จากความเชื่อนี้ทำให้เรานำความเชื่อดังกล่าวมาใช้ในเชิงบวก ทั้งการไปไหว้พระขอพรสิ่งศักดิ์สิทธิ์ การบูชาเครื่องราง การเสริมดวงชะตา เสริมโชคด้วยพิธีกรรมต่าง ๆ โดยกระแสมูเตลู ได้เข้ามามีบทบาทต่อชีวิตของคนไทยมากขึ้นในช่วงสถานการณ์โควิด

     ทีม Merry Christmas and Happy New Year ได้เล็งเห็นว่าจากสถานการณ์ปัจจุบันผู้คนต้องการที่พึ่งทางจิตใจ ทำให้ผู้คนมักไปพึ่งการดูดวงในศาสตร์ต่าง ๆ ให้มีความเชื่อมั่นในการใช้ชีวิตมากขึ้น กระแสความเชื่อดังกล่าวจึงมีอิทธิพลต่อผู้คนอย่างมาก

     “พวกเราเห็นถึงโอกาสจากพฤติกรรมในช่วงสถานการณ์นี้ มาเป็นจุดดึงดูดให้ผู้คนหันมาสนใจกิจกรรม โดยหยิบกระแสดังกล่าวเข้ามารวมกับการสร้างความหวังซึ่งเป็นจุดขายของมูลนิธิ โดยให้น้อง ๆ ที่อยู่ในความดูแล-ของมูลนิธิได้เข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการมอบความสุขเล็ก ๆ เป็นที่พึ่งทางจิตใจกับผู้บริจาค เป็นการผลัดกันให้ความหวังและกำลังใจกันและกัน ไม่เป็นเพียงผู้รับหรือผู้ให้เพียงฝ่ายเดียว”

     แคมเปญ “เติมยิ้มสร้างฝัน Smile for Hope” เป็นแคมเปญที่มีขอบเขตการระดมทุนให้น้อง ๆ ที่ปากแหว่งเพดานโหว่ โดยมีแนวคิดหลักให้น้อง ๆ ในมูลนิธิได้เป็นส่วนหนึ่งในการให้ ผ่านการเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งในการออกแบบเครื่องรางนำโชคต่าง ๆ ได้แก่ การวาดรูประบายสีเพื่อนำไปเป็นวอลเปเปอร์มือถือ การให้เขียนคำอวยพร คำขอบคุณใส่ลงเครื่องรางโอมาโมริของญี่ปุ่น ซึ่งเครื่องรางประเภทนี้เป็นถุงผ้าไหมขนาดเล็กปักลวดลายสวยงาม ปากถุงรูดเปิดได้ ด้านในมีเครื่องรางที่ทำด้วยกระดาษและเครื่องหอมต่าง ๆ เป็นการสร้างความรู้สึกดี สร้างกำลังใจและมอบความหวังให้ผู้บริจาคเงินท่ามกลางสถานการณ์โควิดและสภาพเศรษฐกิจที่ย่ำแย่ 

     โดยทางทีมคาดหวังหวังว่าแคมเปญนี้จะเป็นส่วนหนึ่งที่ช่วยให้มูลนิธิได้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ได้รับเงินบริจาคที่สามารถนำไปช่วยเหลือน้อง ๆ เพิ่มขึ้น รวมถึงจะสามารถเป็นอีกหนึ่งเสียงที่จะทำให้คนเล็งเห็นว่ายังมีเด็กอีกมากที่ยังไม่ได้รับการช่วยเหลือจากภาวะปากแหว่งเพดานโหว่นี้ด้วย

     “อยากขอฝากให้ทุกคนช่วยกันสนับสนุนมูลนิธิสร้างรอยยิ้ม เพราะเป็นมูลนิธิที่ช่วยเหลือสังคม ช่วยเหลือเด็กและกลุ่มคนที่ด้อยโอกาส ทั้งผู้ป่วยปากแหว่งเพดานโหว่และผู้ป่วยอื่น ๆ ที่มูลนิธิให้การช่วยเหลือ และขอขอบคุณมูลนิธิที่เลือกให้กลุ่มเราได้เป็นส่วนหนึ่งในการเพิ่มโอกาสให้น้อง ๆ ปากแหว่ง เพดานโหว่ และแผลไฟไหม้ให้ได้รับการช่วยเหลือ รางวัลนี้ถือเป็นรางวัลที่ยิ่งใหญ่มาก เพราะรางวัลนี้นับได้ว่าช่วยต่อแต้มบุญให้พวกเรา ให้ได้มีส่วนร่วมในการช่วยเหลือสังคมให้ดียิ่งขึ้น” ทีม Merry Christmas and Happy New Year กล่าว

     ทั้งนี้ ทีม Merry Christmas and Happy New Year จะพัฒนาแผนงานด้วยการปรับเปลี่ยนให้ทุกอย่างดำเนินงานแบบออนไลน์ เพื่อลดความเสี่ยงจากการแพร่ระบาดของโควิด-19 และต่อยอดให้แผนงานสามารถทำเป็นระบบอัตโนมัติได้ เพื่อให้คนภายในองค์กรสามารถนำแผนงานมาสานต่อและทำต่อไปได้