Loading...

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง พัฒนาอย่างไม่หยุดยั้ง ขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ภูมิภาค

กว่า 30 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง พัฒนาต่อเนื่องอย่างไม่หยุดยั้ง มุ่งพัฒนาหลักสูตรพหุศาสตร์ตอบโจทย์สังคม ชูจุดเด่นด้านวิชาการผูกพันชุมชน

วันพฤหัสบดีที่ 19 มกราคม พ.ศ.2566

 

     สภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้มีมติขยายโอกาสทางการศึกษาไปสู่ภูมิภาค ณ ศูนย์ลำปาง เมื่อปี พ.ศ. 2539 โดยมีการจัดการเรียนการสอนระดับปริญญาตรี การบริการวิชาการแก่สังคม และการทำนุบำรุงศิลปวัฒนธรรม ตอบสนองความต้องการของชุมชนในเขตจังหวัดทางภาคเหนือ

     รศ.ดร.สุปรียา แก้วละเอียด รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์ลำปางและกฎหมาย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้พัฒนาทั้งทางด้านกายภาพ ด้านวิชาการ ด้านการให้บริการสังคม และด้านเครือข่ายความร่วมมือ ซึ่งสอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์และเป้าหมายของการจัดตั้งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ที่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศทางวิชาการ ที่ตอบโจทย์ชุมชนและสังคม

     การพัฒนาด้านกายภาพ

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ให้ความสำคัญกับความปลอดภัยของนักศึกษาและบุคลากรเป็นอันดับหนึ่ง ซึ่งได้มีการพัฒนาทั้งเรื่องระบบไฟฟ้าส่องสว่างภายในมหาวิทยาลัย ระบบรักษาความปลอดภัยโดยการสร้างรั้วตลอดแนวเขตรอบมหาวิทยาลัยที่แข็งแรง การติดตั้งกล้องวงจรปิด (CCTV) เพิ่มเติมในพื้นที่ซึ่งเป็นไปตามกฎหมายว่าด้วยการคุ้มครองข้อมูลส่วนบุคคล ปรับปรุงอาคารสถานที่ อุปกรณ์ต่าง ๆ ให้พร้อมต่อการเรียนการสอน

     นอกจากนี้ ในเรื่องการคมนาคมขนส่ง ได้มีการดำเนินการพัฒนาระบบขนส่งที่สามารถเชื่อมต่อนักศึกษาศูนย์ลำปาง สู่พื้นที่การใช้ชีวิตอื่น ๆ โดยดำเนินการจัดซื้อรถกอล์ฟและรถรางไฟฟ้า เพื่อให้บริการรับ-ส่งนักศึกษาและบุคลากร ซึ่งได้ดำเนินการก่อสร้างจุดบริการรอรถ BUS STOP ตลอดเส้นทางการให้บริการภายในมหาวิทยาลัย

     “เราพยายามปรับปรุงทางด้านกายภาพมาโดยตลอด ทั้งการซ่อมแซมอาคารเรียน อาคารกิจกรรมนักศึกษา สิ่งอำนวยความสะดวกต่าง ๆ รวมไปถึงการปรับพื้นที่รกร้างให้สามารถนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ต่อไปเพื่อให้มั่นใจได้ว่าบุคลากรแล้วก็นักศึกษาของเรา จะอยู่ในมหาวิทยาลัยได้อย่างปลอดภัยและมีความสุข”
รศ.ดร.สุปรียา กล่าว

     การพัฒนาด้านวิชาการ

     รศ.ดร.สุปรียา กล่าวว่า เป้าหมายที่สำคัญคือการเป็นศูนย์การศึกษาแห่งพหุศาสตร์ ซึ่งเป็นจุดเด่นของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง เพราะในโลกปัจจุบันการแก้ไขปัญหาเรื่องใดเรื่องหนึ่งไม่สามารถแก้ได้ด้วยศาสตร์เดียว ดังนั้นเราจึงพยายามส่งเสริมทางด้านวิชาการให้เป็นลักษณะของการผสมผสานหลายศาสตร์เข้าด้วยกัน

     ทั้งนี้ มีโครงการที่แสดงให้เห็นถึงความพัฒนาทางด้านวิชาการ ตัวอย่างเช่น โครงการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ผ่านกิจกรรม Can We Talk? เป็นโครงการส่งเสริมวิชาการโดยการจัดสัมมนาทางวิชาการในรูปแบบออนไลน์ และโครงการการประชุมวิชาการระดับชาติ “นวัตกรรมการศึกษาและวิจัย เพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต” ที่มีการนำเสนอผลงานทางวิชาการ การเสวนาทางวิชาการ การให้บริการตรวจสุขภาพตาและวัดสายตา พร้อมมอบแว่นสายตาให้แก่ประชาชนโดยทีมจักษุแพทย์ จากโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ เป็นต้น

     การพัฒนาด้านบริการสังคม

     รศ.ดร.สุปรียา ระบุว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ให้ความสำคัญกับการพัฒนาด้านบริการสังคมเป็นอย่างมาก เห็นได้จากการจัดโครงการต่าง ๆ ที่ตอบโจทย์ชุมชน อย่างโครงการยกระดับเศรษฐกิจและสังคมรายตำบลแบบบูรณาการ หรือ U2T ที่ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ร่วมดำเนินการใน 48 ตำบล ทำให้เกิดการจ้างงานกว่า 960 คน โดยดำเนินการร่วมกับภาครัฐ ภาคเอกชน และประชาชนในแต่ละพื้นที่ ในการนำองค์ความรู้ เทคโนโลยีและนวัตกรรม ช่วยยกระดับเศรษฐกิจและสังคมในตำบล

     นอกจากนี้ ยังมีโครงการพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนสู่ตลาดออนไลน์ เป็นโครงการอบรมให้ความรู้ทั้งด้านทฤษฎีและด้านปฏิบัติ เพื่อพัฒนาศักยภาพผู้ประกอบการผลิตภัณฑ์ชุมชนให้มีความรู้ ความเข้าใจเกี่ยวกับการจัดทำตลาดออนไลน์ โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้สนับสนุนผลิตภัณฑ์ชุมชนในการจัดทำแพลตฟอร์ม TU to share online shop เป็นช่องทางจำหน่ายผลิตภัณฑ์ของชุมชน และของที่ระลึกมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง

     อีกทั้ง ยังมีโครงการเพื่อปรับปรุงพิพิธภัณฑ์ชุมชน โดยมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ได้ดำเนินการปรับปรุงพิพิธภัณฑ์วัดปงสนุกเหนือ และพิพิธภัณฑ์วัดพระธาตุเสด็จ พัฒนาให้เป็นแหล่งเรียนรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ โบราณสถาน โบราณวัตถุ อันเป็นมรดกทางวัฒนธรรมท้องถิ่นล้านนา ทำให้คนรุ่นหลังสามารถเผยแพร่องค์ความรู้ทางด้านประวัติศาสตร์ทางวัฒนธรรมท้องถิ่นต่อไป

     การพัฒนาด้านเครือข่ายความร่วมมือ

     รศ.ดร.สุปรียา กล่าวว่า เรามีเครือข่ายความร่วมมือที่สำคัญคือเครือข่ายความร่วมมือกับศิษย์เก่า โดยมีการส่ง e-Newsletter ให้กับศิษย์เก่าอยู่เป็นประจำ เพื่อให้ศิษย์เก่าได้รับรู้ความเป็นไปของมหาวิทยาลัย และเข้ามามีส่วนร่วมผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น การระดมทุนผ่านโครงการ volunteer ในการไปพัฒนาชุมชน นอกจากนี้ ยังมีการสร้างเครือข่ายความร่วมมือกับองค์กรภาครัฐ ภาคเอกชน และภาคประชาสังคมที่เกี่ยวข้อง ซึ่งมหาวิทยาลัยได้มีการจัดหารือโครงการความร่วมมือ เพื่อดึงจุดแข็งของแต่ละฝ่ายเข้ามาแลกเปลี่ยนกันผ่านโครงการต่าง ๆ เช่น โครงการฝึกอบรม โครงการรับนักศึกษาเพื่อฝึกงาน เป็นต้น

     รศ.ดร.สุปรียา กล่าวต่อว่า เรายังคงพัฒนาต่อไปอย่างไม่หยุดยั้ง ความเข้มแข็งของ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง คือด้านวิชาการที่ผูกพันกับชุมชน ดังนั้นนอกจากนักศึกษาจะมีความรู้ในห้องเรียนแล้ว นักศึกษายังสามารถที่จะใช้ความรู้ในห้องเรียนไปทำให้เกิดประโยชน์กับชุมชนหรือสังคมได้ เป็นการปลูกฝังให้มองเห็นคุณค่าและความสำคัญของชุมชนสังคมไปด้วย และที่ศูนย์ลำปางมีอุปกรณ์การเรียนและสิ่งอำนวยความสะดวกอย่างครบถ้วนเช่นเดียวกับที่ศูนย์รังสิต เรามีห้องแลป ห้องอ่านหนังสือ และในอนาคต เรามีแผนที่จะสร้างศูนย์การเรียนรู้ที่ศูนย์ลำปางอีกด้วย

     “วันนี้และวันข้างหน้าของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์ลำปาง ก็ยังมุ่งหมายที่จะดำเนินการเพื่อตอบปณิธานของการก่อตั้งศูนย์ลำปางตั้งแต่เมื่อ 30 ปีที่แล้ว คือการขยายโอกาสทางการศึกษาสู่ภูมิภาค เป็นมหาวิทยาลัยที่เป็นเลิศทางวิชาการเพื่อประชาชน ที่จะทำให้เห็นว่ามหาวิทยาลัยดี ๆ ไม่ได้มีแค่ในกรุงเทพฯ” รศ.ดร.สุปรียา กล่าวทิ้งท้าย