Loading...

‘MBA Thammasat’ คว้าแชมป์โลกสมัยที่ 4 ‘OpsSim 2025’ ตอกย้ำความเป็นเลิศด้านหลักสูตร ป.โท

นักศึกษาปริญญาโทโครงการ MBA มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันเกมจำลองการบริหารการปฏิบัติการระดับโลก

วันจันทร์ที่ 19 พฤษภาคม พ.ศ.2568

     เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักศึกษาปริญญาโทโครงการ MBA คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TBS) คว้ารางวัลชนะเลิศจากการแข่งขัน Operation Simulation Competition 2025 การแข่งขันเกมจำลองการบริหารการปฏิบัติการระดับโลก จัดโดย MIT Sloan School of Management โดยมีทีมเข้าร่วม 71 ทีมจาก 29 มหาวิทยาลัยชั้นนำทั่วโลก

     โดยทีมนักศึกษา MBA ที่คว้ารางวัลชนะเลิศ ได้แก่ ‘ทีม MVP tbs’ ประกอบด้วย วิชุดา ตระกูลแพร่หลาย, วริศ ทวีวัฒนสมบูรณ์ และชญานนท์ พนาเวชสันติ พร้อมคว้าเงินรางวัล $1,500

ความท้าทายของโจทย์ OpsSim 2025

     วิชุดา: สำหรับการแข่งขัน Operation Simulation Competition ในปีนี้ คือหัวข้อ Medica Business Case ซึ่งจำลองสถานการณ์การบริหารโรงงานผลิตสินค้าทางการแพทย์ โดยเราต้องบริหารจัดการตั้งแต่การวางแผนการผลิต การจัดซื้อวัตถุดิบ การบริหารสต็อก ไปจนถึงการตอบสนองความต้องการของตลาดให้ได้อย่างมีประสิทธิภาพ โดยโจทย์มีความท้าทายสูง เนื่องจากสถานการณ์ตลาดมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ทั้งในเรื่องของราคาตลาดและความผันผวนของดีมานด์

กลยุทธ์ที่ตอบสนองตลาดอย่างแม่นยำ

     วริศ: ทีมของเราวางกลยุทธ์ โดยเน้นไปที่การวิเคราะห์ข้อมูลแบบเรียลไทม์ มีการวางแผน Simulation 2-3 ชั่วโมงล่วงหน้า เพื่อปรับค่า และช่วยในการตัดสินใจให้สอดคล้องกับสภาวะตลาดที่เปลี่ยนแปลง ซึ่งทางทีมให้ความสำคัญกับการวางแผนล่วงหน้า แต่ก็เตรียมแผนสำรองไว้รับมือสถานการณ์ฉุกเฉิน จุดแข็งของทีมเราคือ การทำงานเป็นทีมที่รวดเร็วและมีความยืดหยุ่นสูง รวมถึงการตัดสินใจที่อิงข้อมูลจริง ใช้ข้อมูลเก่ามาวิเคราะห์ข้อมูลที่จะเกิดขึ้นในชั่วโมงต่อไป

พลิกเกมการแข่งขันด้วยข้อมูล

     ชญานนท์: ความท้าทายหลักของการแข่งขันคือ ความผันผวนของราคาตลาดและต้นทุนที่สูง ซึ่งทำให้การตั้งราคาที่เหมาะสมและบริหารต้นทุนเป็นเรื่องท้าทายมาก เราแก้ไขด้วยการตั้งราคาในจุดที่ทำให้ได้กำไรสูงสุดอยู่เสมอ บริหารความเสี่ยงInventory เรื่องสต็อกขาด (shortage) และสินค้าค้างสต็อก (overstock) ต่ำให้อยู่ในจุดที่เหมาะสมตลอดเวลา โดยการ Simulation ล่วงหน้า 2-3 ชั่วโมง อย่างสม่ำเสมอ

เรียน MBA กับ ‘ธรรมศาสตร์’

     ชญานนท์: การเรียน MBA ที่ธรรมศาสตร์สอนให้เรามองธุรกิจอย่างเป็นระบบ (Systematic Thinking) เข้าใจการเชื่อมโยงระหว่างฟังก์ชันต่าง ๆ เช่น การตลาด การเงิน การปฏิบัติการ และกลยุทธ์ รวมถึงการฝึกคิดวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ (Strategic Analysis) การตัดสินใจในภาวะไม่แน่นอน (Decision Making under Uncertainty) และการทำงานร่วมกับคนหลากหลาย ทำให้เราได้เปรียบในการแข่งขันครั้งนี้อย่างมาก

     วิชุดา: ช่วยให้เราสามารถประยุกต์ใช้ข้อมูลและความรู้ที่มีอยู่กับสถานการณ์จริงได้อย่างมีประสิทธิภาพ หลักสูตรไม่ได้จำกัดอยู่เพียงแค่ทฤษฎีในตำรา แต่เน้นการฝึกฝนผ่านการจำลองสถานการณ์เสมือนจริง ช่วยให้เราสามารถตัดสินใจได้อย่างมั่นใจ รอบคอบ และมองสถานการณ์จากหลายมุมมอง เราสามารถเชื่อมโยงบทเรียนกับประสบการณ์จริง และนำองค์ความรู้จากหลากหลายวิชามาวิเคราะห์และวางกลยุทธ์ได้อย่างเป็นระบบ

     วริศ: MBA ที่ธรรมศาสตร์เน้นการเรียนรู้แบบรอบด้านผ่านกรณีศึกษาและการประยุกต์ใช้จริงในสถานการณ์ทางธุรกิจ ซึ่งช่วยให้มองเห็นภาพรวมของการบริหารจัดการธุรกิจได้อย่างชัดเจน หลายวิชาที่เรียน ทั้งด้านการบริหารสินค้าคงคลัง การจัดการเครื่องจักร การวิเคราะห์การเงิน ตลอดจนกลยุทธ์ทางการตลาด สามารถนำมาต่อยอดและปรับใช้กับการแข่งขัน OpsSim ได้อย่างมีประสิทธิภาพ การได้ทดลองใช้ความรู้เหล่านี้ในสถานการณ์จำลองที่ใกล้เคียงกับโลกธุรกิจจริง เป็นปัจจัยสำคัญที่ทำให้ทีมของเราสามารถคว้าแชมป์ในการแข่งขันครั้งนี้ได้

ไม่ใช่แค่การได้เข้าร่วมแข่งขัน แต่ยังได้ ‘ทักษะ’ ต่อยอดการทำงานจริง

     ชญานนท์: ทักษะการวิเคราะห์ข้อมูลเพื่อการตัดสินใจ (Analytical Decision-Making) และการบริหารความเสี่ยง (Risk Management) เพราะในชีวิตจริง โลกธุรกิจมีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลาเช่นเดียวกับเกมนี้ การที่เราสามารถวิเคราะห์สถานการณ์ได้อย่างแม่นยำ และพร้อมปรับตัวรับมือกับความไม่แน่นอนได้ คือกุญแจสำคัญของความสำเร็จในระยะยาว

     วิชุดา: ทักษะการคิดอย่างรอบด้าน ในเกมมีการให้ข้อมูลย้อนหลัง 50 วัน ซึ่งหากเราวิเคราะห์เพียงบางส่วน ก็จะทำให้เราเดินเกมแบบทีละสเตป คิดและตัดสินใจไปทีละเรื่อง ซึ่งจะต้องใช้เวลานาน แต่หากเราใช้ข้อมูลทั้งหมดที่ได้รับ ไม่ว่าจะเป็นข้อมูลด้านการเงิน สต็อกสินค้า สายการผลิตแบบ Custom หรือ Standard เราจะสามารถมองเห็นภาพรวมของสถานะบริษัทได้ชัดเจนยิ่งขึ้น การวิเคราะห์จากข้อมูลในอดีตยังช่วยให้เราเห็นแนวโน้มการเปลี่ยนแปลง ซึ่งมักจะมีลักษณะสอดคล้องกับพฤติกรรมในอดีต และที่สำคัญคือ ทำให้เรารู้จักวางแผนสำรอง เผื่อกรณีที่กลยุทธ์หลักไม่เป็นไปตามที่คาดไว้ ส่งผลให้สามารถรับมือกับสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงได้อย่างรวดเร็วและมีประสิทธิภาพ

     วริศ: ทักษะการคิดอย่างเป็นระบบ การวิเคราะห์เชิงกลยุทธ์ และการตัดสินใจภายใต้ความกดดัน ซึ่งสามารถนำไปใช้ได้จริงในโลกธุรกิจ โดยเฉพาะเมื่อเผชิญกับข้อมูลที่ไม่สมบูรณ์หรือสถานการณ์ที่เปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา เช่น ราคาตลาดที่ผันผวนหรือการแข่งขันที่รุนแรง นอกจากนี้ ยังได้พัฒนาทักษะการวางแผนระยะยาว การประเมินความเสี่ยง และการสื่อสารกับทีมอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งล้วนเป็นองค์ประกอบสำคัญในการบริหารจัดการธุรกิจให้ประสบความสำเร็จ

นอกจากนี้ คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยังคว้ารางวัลติด Top 10 ได้อีก 4 ทีม ได้แก่

     1. ทีม TBS_Teletubbies (MBA) รองชนะเลิศอันดับ 2 พร้อมเงินรางวัล $750 ประกอบด้วย ฉันทวัฒน์ ขันติชัยขจร, ณัฐวัฒน์ เรืองชัยจตุพร, สิทธิวิชญ์ เลิศธนพันธุ์ และอรรถกร เสริมทรัพย์

     2. ทีม TBS_AM (BBA) อันดับที่ 7 ประกอบด้วย อริสา ตันฑวิเชียร

     3. ทีม TBS_JustWarmUP (MBA) อันดับที่ 8 ประกอบด้วย นรภัทร พัชรพรพรรณ, กฤษฎา ประเสริฐบูรณะกุล และณิชนันทน์ ตันตสิรินทร์

     4. ทีม 8E88 (MBA) อันดับที่ 9 ประกอบด้วย ศุภชัย เด่นไตรรัตน์, คมสัน นวคุณสุชาติ, สุทธิลักษณ์ เสียงวัฒนะ และธัชชัย เกียรติ​เรืองกมลา

     ทั้งนี้ MBA Thammasat เคยคว้าแชมป์โลกมาแล้วในปี 2016, 2021 และ 2024 และปีนี้เป็นครั้งที่ 4 ที่ TBS คว้าชัยชนะระดับโลก สะท้อนถึงมาตรฐานความเป็นเลิศระดับสากลของคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่บ่มเพาะผู้นำแห่งอนาคตในการกำหนดทิศทางของธุรกิจในภูมิภาคอาเซียนอย่างยั่งยืน