Loading...

นักศึกษาคณะพาณิชย์ฯ มธ. คว้าแชมป์ ‘แผนโลจิสติกส์ 2023’ เสนอแผนแก้ปัญหาด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

นักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับรางวัลชนะเลิศจากกิจกรรม 2023 Thai International Case Competition and Workshop

วันพุธที่ 19 กรกฎาคม พ.ศ.2566

     เมื่อเร็ว ๆ นี้ นักศึกษาสาขาวิชาบริหารธุรกิจระหว่างประเทศ โลจิสติกส์และการขนส่ง (IBLT) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย ชวัลญา จันทรอำไพวงศ์, ชวัล บุญญวิฑิต และภัทรพล สุดใจ ได้รับรางวัลชนะเลิศ 2023 Thai International Case Competition and Workshop จัดโดย Hong Kong Logistics Association (HKLA)

     การแข่งขัน 2023 Thai International Case Competition and Workshop เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อส่งเสริมให้เกิดการเรียนรู้สำหรับนักโลจิสติกส์รุ่นใหม่ จากการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยในประเทศต่าง ๆ โดยในปีนี้มีนักศึกษาตัวแทนจากมหาวิทยาลัยทั้งจากฮ่องกง ไต้หวัน สิงคโปร์ และไทย

     ชวัลญา จันทรอำไพวงศ์ เล่าถึงรูปแบบกิจกรรมว่า เราต้องศึกษาดูงานในบริษัททางด้านโลจิสติกส์ชั้นนำ และนำข้อมูลที่ได้จากการศึกษาดูงานมาวิเคราะห์และนำเสนอ ซึ่งในปีนี้ให้ความสนใจไปยังเรื่อง ESG คือ Environment, Social และ Governance โดยแต่ละทีมต้องเลือกมา 1 ด้าน

     กิจกรรมจัดขึ้น 4 วัน โดยวันที่ 1-3 คือ การไปศึกษาดูงานบริษัทโลจิสติกส์ต่าง ๆ อาทิ Lazada, JWD และท่าเรือแหลมฉบัง ฯลฯ เพื่อให้ได้เห็นกระบวนการทำงานของแต่บริษัท ซึ่งแต่ละวันเราจะต้องทำ workshop ร่วมกับเพื่อน ๆ ประเทศอื่น เพื่อแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและทำความรู้จักกัน โดยบริษัทสุดท้ายที่ได้ไปศึกษาดูงาน คือ CTI Cold Chain จะเป็นบริษัทที่เราต้องนำข้อมูลมาวิเคราะห์และนำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา เพื่อนำเสนอในวันที่ 4

     ชวัล บุญญวิฑิต เล่าถึงแผนงานที่นำเสนอว่า บริษัท CIT Cold Chain เป็นคลังสินค้าเย็น ที่มีห้องหลายอุณหภูมิ ได้แก่ Frozen Room อุณหภูมิ -18 ถึง –25 องศาเซลเซียส, Chilled Room อุณหภูมิ +2 ถึง +5 องศาเซลเซียส, Air condition Room อุณหภูมิ +20 ถึง +25 องศาเซลเซียส และ Ambient Room อุณหภูมิปกติ (พื้นที่โดยรอบห้องเย็น) โดยห้องเย็นต่าง ๆ มีอุณหภูมิที่ต่ำมาก ทำให้ต้องใช้พลังงานอย่างมากในการทำความเย็นและรักษาระดับความเย็นเพื่อไม่ให้สินค้าเสียหาย ซึ่งการทำความเย็นไว้ตลอด ทำให้เกิดความร้อนภายในสถานที่ทำงาน และส่งผลเสียต่อสุขภาพของพนักงาน หากพนักงานเกิดการเจ็บป่วย ต้องสูญเสียรายได้ต่าง ๆ ทางกลุ่มจึงให้ความสนใจไปยัง “Dimension : S Social”

     ภัทรพล สุดใจ กล่าวว่า เรานำเสนอแนวทางแก้ไขปัญหา คือ 1. การติดตั้งฉนวนกันความร้อน (Insulation) และ 2. การติดตั้งพัดลมระบายอากาศ (Ventilation Fan) และได้ทำการเปรียบเทียบ 2 แนวทางแก้ไขปัญหานี้ ใน 3 ด้าน คือ ความทนทาน ต้นทุน และความเป็นไปได้ในการติดตั้ง โดยหากให้เลือกเพียง 1 ทางเลือก จึงควรเลือกการติดตั้งฉนวนกันความร้อน (Insulation) ก่อน เนื่องจากเป้าหมายหลัก คือ การลดอุณหภูมิลงเพื่อให้ความเป็นอยู่ในสถานที่ทำงานของพนักงานดีขึ้น ซึ่งการติดตั้งนี้จะช่วยลดอุณหภูมิได้ 3-4 องศาเซลเซียส โดยวิธีนี้จะช่วยเพิ่มคุณภาพของสถานที่ทำงานของพนักงาน และลดอัตราการลาป่วยของพนักงาน อีกทั้งยังสามารถลดการใช้พลังงานไฟฟ้าลงได้ ซึ่งจะช่วยแก้ทั้งด้านสังคมและสิ่งแวดล้อม

     “พวกเราตั้งใจกันมาก อยากทำออกมาให้ดีที่สุด ตอนแรกไม่ได้คาดหวังถึงขนาดต้องได้รางวัลชนะเลิศกลับมา เพราะทุกคนคือเก่งกันมาก ตลอด 4 วันที่แข่งขัน เราได้ทำงานร่วมกันกับคนอื่น ได้เห็นศักยภาพของเพื่อน ๆ จากต่างประเทศ ก็ทั้งสนุกและกดดัน แต่พอได้รางวัลมาก็คุ้มค่ากับความเหนื่อยและความตั้งใจ สุดท้ายนี้ขอขอบคุณ ผศ.ศิริรัตน์ โสมาภา ศ.ดร.รุธิร์ พนมยงค์ และ รศ.ดร.สถาพร โอภาสานนท์ อาจารย์ประจำสาขาวิชาโลจิสติกส์ (IBLT) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ให้ความรู้เกี่ยวกับโลจิสติกส์ มุมมองการใช้ชีวิตต่าง ๆ ตลอดระยะเวลาที่เรียนมา รวมถึงผลักดันให้พวกเราเข้าร่วมแข่งขันในครั้งนี้ ขอบคุณมาก ๆ ค่ะ” ชวัลญา กล่าวทิ้งท้าย