Loading...

สาธารณสุขฯ ธรรมศาสตร์ เปิดเวทีเสวนาการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย จากเหตุเพลิงไหม้โรงงานกิ่งแก้ว

คณะสาธารณสุขศาสตร์ จัดเสวนาวิชาการหัวข้อ ถึงเวลาของเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย: กรณีเหตุเพลิงไหม้โรงงานบริเวณกิ่งแก้ว

วันพฤหัสบดีที่ 19 สิงหาคม พ.ศ.2564

     คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดเวทีเสวนาวิชาการหัวข้อ ถึงเวลาของเทคโนโลยีและการจัดการสิ่งแวดล้อมและความปลอดภัย : กรณีการเกิดระเบิดและเพลิงไหม้โรงงานบริเวณกิ่งแก้ว ผ่านระบบ Zoom และระบบถ่ายทอดสัญญาณสด Live Streaming : FPH Thammasat จากเหตุระเบิดของถังเก็บสารเคมี สไตรีนโมโนเมอร์ (CO) ของบริษัทหมิงตี้เคมีคอล (Ming Dih Chemical) ตั้งโรงงานอยู่ที่ซอยกิ่งแก้ว 21 ถนนกิ่งแก้ว ต.บางพลีใหญ่ อ.บางพลี จ.สมุทรปราการ บนเนื้อที่ 2,068 ตร.ม. นอกจากจะสร้างความสูญเสียต่อชีวิต-ทรัพย์สิน และส่งผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมครั้งใหญ่แล้ว เหตุการณ์นี้สะท้อนถึงงานด้านอาชีว  อนามัยและความปลอดภัย ด้านอนามัยสิ่งแวดล้อม และกฎหมายควบคุมโรงงานอันตรายอีกด้วย

     รศ.ดร.สสิธร เทพตระการพร คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เวทีเสวนาวิชาการจัดขึ้น เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนองค์ความรู้และประสบการณ์ในมิติที่เกี่ยวข้องแก่นักวิชาการ เจ้าหน้าที่ความปลอดภัยในการทำงาน นักวิทยาศาสตร์ นักอนามัยสิ่งแวดล้อม เจ้าหน้าที่องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น บุคลากรด้านสุขภาพ นักวิชาการด้านผังเมือง และบุคคลทั่วไป จากเหตุระเบิดและไฟไหม้โรงงานผลิตเม็ดโฟมพลาสติก ซอยกิ่งแก้ว ซึ่งเป็นอุบัติภัยที่สร้างความเสียหายและผลกระทบเป็นวงกว้าง

     อาจารย์ ดร.สุพัฒน์ หวังวงศ์วัฒนา คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัญหามลพิษที่เกิดขึ้นก่อให้เกิดปัญหาหลายด้าน เช่น มลพิษทางอากาศ ที่เกิดจากการเผาไหม้ ปัญหาด้านมลพิษทางน้ำ ที่เกิดจากการฉีดน้ำ หรือโฟม ที่คงหลงเหลือและแทรกซึมลงพื้นดินและเกิดการปนเปื้อน มลพิษด้านกากและของเสียอันตราย และมลพิษด้านสารเคมีที่ยังเหลือตกค้าง

     การจัดการปัญหาด้านมลพิษทางสิ่งแวดล้อม ควรจัดให้มีการจัดการที่ถูกวิธีตามชนิดของมลพิษ และภาครัฐ ภาคเอกชน หรือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ควรมีการจัดการและการเตรียมความพร้อมด้านอุปกรณ์ให้เพียงพอต่อหน่วยงานทุกฝ่าย ประเด็นสำคัญคือ ประเทศไทยควรจะมีมาตรการดูแลควบคุมสารเคมีเหล่านี้ ทบทวนกฎหมาย ทบทวนแผนงาน และปรับปรุงแผนงานการตอบโต้อยู่เสมอ รวมถึงเรียนรู้จากประสบการณ์ที่ผ่านมา และเตรียมระบบที่สามารถเผชิญเหตุการณ์เหล่านี้ในอนาคต ทั้งก่อนเกิดเหตุ ระหว่างการเกิดเหตุ และหลังการเกิดเหตุ ให้มีประสิทธิภาพสูงที่สุด

     อาจารย์สมโภค กิ่งแก้ว อาจารย์คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า แนวทางในการใช้แบบจำลองในการตอบโต้เหตุฉุกเฉิน ควรเลือกใช้แบบจำลองที่เหมาะสม ดังนั้นจึงควรทำความเข้าใจรูปแบบของแบบจำลอง และข้อมูลของสถานการณ์ที่จำเป็นต้องใช้ในแบบจำลอง เช่น อัตราการระบายสารมลพิษ ความสูงของปล่อง/ควัน อุณหภูมิของการเผาไหม้ ข้อมูลอุตุนิยมวิทยา (เสถียรภาพของบรรยากาศ) เป็นต้น ควรวางแผนการใช้แบบจำลองควบคู่กับการแจ้งเตือนและการติดตามคุณภาพสิ่งแวดล้อม และควรฝึกซ้อมการใช้แบบจำลองและทดสอบจำลองกรณีฉุกเฉินอยู่เสมอ

     ด้าน รศ.ดร.อารุญ เกตุสาคร รองคณบดีฝ่ายวิชาการ คณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า จากการลงพื้นที่ screening พื้นที่ในโรงงานและพื้นที่โดยรอบ พบว่า สารที่เกิดขึ้นจากการเผาไหม้มีหลายประเภท โดยชนิดและปริมาณของสารที่เกิด ขึ้นอยู่กับชนิดเชื้อเพลิง สารเคมี วัสดุและวัตถุภายในที่เกิดเพลิง ระยะเวลาการเกิดเพลิง และความรุนแรง

     และจากการดำเนินการติดตามตรวจสอบไอระเหยสารเคมีในบรรยากาศบริเวณพื้นที่โรงงาน (ข้อมูล 8 ก.ค.64) พบว่า ช่วงเที่ยง ตรวจพบสไตรีน 17.4 – 435 ppm และในช่วงบ่าย 4.1-299 ppm ซึ่งสูงเกินค่ามาตรฐานความปลอดภัยสำหรับคนงาน (ไม่ควรเกิน 100 ppm) และพื้นที่ชุมชนโดยรอบ ในระยะ 500 เมตร 1,000 เมตร และ 2,000 เมตร รวม 24 จุด พบว่า ส่วนใหญ่ตรวจไม่พบสไตรีน และบริเวณที่ตรวจพบ สไตรีนเป็นด้านท้ายลมในปริมาณ 0.33-1.06 ppm ซึ่งอยู่ในระดับที่ปลอดภัยต่อประชาชน (ไม่ควรเกิน 20 ppm) แต่ทั้งนี้ คพ. ยังคงเฝ้าระวังในพื้นที่โรงงานและชุมชนในรัศมี 2 กิโลเมตร ต่อเนื่องต่อไป และเสนอให้มีการเฝ้าระวังคุณภาพอากาศตามพารามิเตอร์เพิ่มเติม

     รศ.ดร.เฉลิมชัย ชัยกิตติภรณ์ ที่ปรึกษาคณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ชุมชนโดยรอบต้องมีส่วนร่วมในการวางแผน มีสิทธิในการรับรู้ถึงความเสี่ยงและอันตราย และชุดความรู้ในการป้องกันตนเอง เมื่อเกิดเหตุฉุกเฉิน และควรมีการซ้อมแผนระหว่างโรงงาน สถานประกอบการร่วมกับชุมชน เพื่อสร้างความตระหนักและเตรียมความพร้อมรับเหตุฉุกเฉิน อีกทั้ง เสนอแนะว่า ขอให้ทุกกระทรวงและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับกฎหมายทุกฉบับ เช่น พ.ร.บ. โรงงานฯ พ.ร.บ. สาธารณสุขฯ พ.ร.บ. อาคารฯ พ.ร.บ. สิ่งแวดล้อม และควรมีการบังคับใช้อย่างเคร่งครัด ก็จะลดความสูญเสียหรือถ้าเกิดเหตุชุดเผชิญเหตุสามารถเข้าถึงได้รวดเร็ว ความเสียหายและความสูญเสียน้อยก็จะน้อยลง

     เหตุการณ์โรงงานไฟไหม้ในครั้งนี้ นอกจากจะสร้างความสูญเสียต่อชีวิต สร้างผลกระทบและความเสียหายต่อผู้ประกอบการมากมาย เช่น การสูญเสียทรัพย์สินจากการลงทุนในธุรกิจที่ต้องหยุดประกอบกิจการ อีกทั้งยังอาจส่งผลให้เกิดอันตรายแก่พนักงานได้รับการบาดเจ็บ ขาดรายได้จากการหยุดงาน หรืออาจทำให้สูญเสียชีวิต

     ดังนั้น ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องควรตระหนักและมองเห็นถึงความสำคัญในการป้องกันการเกิดอัคคีภัย เพื่อให้ชีวิตและทรัพย์สินในโรงงานมีความปลอดภัยจากเหตุอัคคีภัย ผู้ประกอบกิจการควรมีการกำหนดมาตรการป้องกันและระงับอัคคีภัยตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด แต่ทั้งนี้มาตรการทั้งหลายอาจต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับลักษณะการประกอบกิจการรวมถึงลักษณะการนำ มาตรการไปใช้ให้เกิดประสิทธิผลกับสถานประกอบการด้วย

◀️รับชมย้อนหลัง▶️