Loading...

อาจารย์คณะแพทย์ฯ ธรรมศาสตร์ แนะอย่าตื่นตระหนก แต่ไม่ควรประมาทกับ “โรคฝีดาษลิง”

ผศ.พญ.ศศินุช รุจนเวช คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ แนะนำการปฏิบัติตัวแบบยุค New Normal สามารถป้องกันโรคฝีดาษลิงได้

วันจันทร์ที่ 20 มิถุนายน พ.ศ.2565

     COVID-19 ยังไม่ทันจางหายสนิทจากสังคมโลก ก็มีไวรัสตัวใหม่มาให้เราได้ตื่นตระหนกกันอีกแล้ว “ฝีดาษลิง” ที่ทั่วโลกกำลังหวั่นวิตกว่าจะเป็นไวรัสตัวใหม่ที่จะระบาดทั่วโลกเหมือน COVID-19 หรือไม่ ผศ.พญ.ศศินุช รุจนเวช หน่วยโรคติดเชื้อ ภาควิชาอายุรศาสตร์ คณะแพทยศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จะมาบอกเล่าเกี่ยวกับ “โรคฝีดาษลิง” ว่าคืออะไรและควรรับมืออย่างไรกับเจ้าโรคที่ไม่คุ้นชื่อนี้

“โรคฝีดาษลิง” คืออะไร

     “โรคฝีดาษลิง” เป็นโรคติดเชื้อที่เกิดจากเชื้อไวรัสในกลุ่ม Poxvirus ไวรัสในกลุ่มนี้ทำให้เกิดโรคได้หลายอย่างในกลุ่มอาการไข้และผื่น สำหรับโรคฝีดาษลิง ไม่ใช่โรคอุบัติใหม่ ดังเช่น COVID-19 ที่เรามีความคุ้นเคยกันในปัจจุบัน แต่เป็นโรคที่เรารู้จักกันมาตั้งแต่เมื่อประมาณ 70 ปีที่แล้ว ที่ได้ชื่อว่า “ฝีดาษลิง” เนื่องจากพบโรคนี้ครั้งแรกในลิง แต่จริง ๆ แล้ว สัตว์ที่เป็นรังโรคก็ไม่ได้มีเฉพาะลิง ยังพบในสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมขนาดเล็กอื่น ๆ โดยเฉพาะสัตว์ฟันแทะอย่างกระรอก หนู การค้นพบไวรัสนี้ในครั้งแรกพบว่าไม่ได้ก่อให้เกิดโรคในคน จนกระทั่งเวลาผ่านไปอีกเป็น 10 ปี ในราวทศวรรษที่ 1970 ในยุคนั้นมีการแพร่ระบาดของโรคฝีดาษ หรือไข้ทรพิษในวงกว้าง ทำให้ในหลาย ๆ ประเทศพยายามเฝ้าระวังผู้ป่วยโรคนี้ ผลจากการเฝ้าระวังทำให้ในประเทศคองโกพบว่ามีผู้ป่วยที่มีอาการไข้ผื่นคล้ายคลึงกันกับโรคไข้ทรพิษ แต่เมื่อนำไปทดสอบอย่างละเอียดในห้องปฏิบัติการก็พบว่าไม่ได้เกิดจากเชื้อไข้ทรพิษ แต่เป็นโรคฝีดาษลิง ในครั้งนั้นจึงเป็นครั้งแรกที่มีรายงานโรคนี้ในคน

     หลังจากนั้นก็ยังคงมีรายงานโรคนี้ประปรายในประเทศต่าง ๆ ในทวีปแอฟริกา ซึ่งผู้ป่วยส่วนใหญ่เป็นผู้ป่วยเด็กอายุน้อยกว่า 15 ปี และอาการไม่ค่อยรุนแรง ส่วนการพบผู้ป่วยนอกทวีปแอฟริกาครั้งแรก พบเมื่อปี 2003 ในประเทศสหรัฐอเมริกา โดยสันนิษฐานว่าได้รับเชื้อมาจากสัตว์ที่เรียกว่า กระรอกดิน หรือแพรรีด็อก (Prairie Dog) ซึ่งคาดว่าสัตว์ตัวนี้สัมผัสกับสัตว์ที่มาจากทวีปแอฟริกาอีกที ทำให้มีเชื้อ แล้วนำเชื้อมาสู่คน

“โรคฝีดาษลิง” ติดต่อได้ทางไหน และจะมีอาการอย่างไร

     การติดต่อของโรคฝีดาษลิงเป็นไปได้ 2 ลักษณะ ลักษณะแรกคือ การติดต่อจากสัตว์สู่คน ซึ่งเป็นเหตุนำครั้งแรกที่ทำให้มีการรายงานโรคในคน เกิดจากการที่คนไปสัมผัสกับสัตว์ที่มีเชื้อโดยตรงไม่ว่าจะโดนสัตว์กัด สัมผัสสารคัดหลั่งของสัตว์ หรือมีแผลตามร่างกายแล้วเชื้อโรคจากสัตว์เข้าสู่ร่างกาย นอกจากนี้ ในผู้ที่รับประทานเนื้อสัตว์โดยเฉพาะสัตว์ป่าที่ปรุงไม่สุกดีก็ทำให้เชื้อโรคเข้าสู่ร่างกายได้เช่นเดียวกัน

     ส่วนในลักษณะที่สองก็คือ การติดต่อจากคนสู่คน เกิดจากการที่มีการสัมผัสใกล้ชิดกับผู้ที่มีเชื้อ ทำให้ได้รับฝอยละอองขนาดใหญ่ที่เกิดจากการพูดคุย ไอ จาม เข้าไปทางทางเดินหายใจหรือเยื่อบุ ซึ่งมีความคล้ายคลึงกับการติดต่อของ COVID-19 แต่แตกต่างกันตรงที่เชื้อตัวนี้ไม่ได้แพร่กระจายง่ายแบบ COVID-19 การสัมผัสพูดคุยต้องเป็นระยะที่ใกล้มาก ๆ และเป็นระยะเวลานานเป็นชั่วโมง นอกจากนี้ การสัมผัสบริเวณที่มีผื่นมีแผลของผู้ป่วยโดยตรงก็เป็นทางติดต่อของโรคนี้ได้เช่นเดียวกัน แต่ไม่ว่าจะเป็นการติดต่อในช่องทางใด ขอย้ำว่าการติดต่อไม่ได้เกิดขึ้นง่ายนัก แต่เป็นความประจวบเหมาะของหลาย ๆ ปัจจัยร่วมกัน

     อาการของโรค โรคนี้มีระยะฟักตัวค่อนข้างนาน อยู่ที่ประมาณ 5 - 20 วัน หมายความว่าได้รับเชื้อมา ไม่ได้เกิดอาการทันที แต่จะทิ้งช่วงไป ระยะเวลาเฉลี่ยตามตำราอยู่ที่ 12 วัน หมายความว่าเมื่อมีการสัมผัสโรค ผ่านไปอีก 10 กว่าวันถึงจะเริ่มมีอาการ เนื่องจากเชื้อก่อโรคเป็นเชื้อไวรัส อาการเริ่มแรกจะคล้ายคลึงกันกับโรคติดเชื้อไวรัสทั่วไปที่เรียกว่า Viral Syndrome ซึ่งเป็นอาการที่ไม่เฉพาะเจาะจง ได้แก่ ไข้ ปวดเมื่อยตามตัว อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หลังจากนั้น 2 - 3 วัน จะเริ่มมีตุ่มผื่นขึ้นตามตัว ผื่นดังกล่าวมีได้หลายลักษณะตั้งแต่เป็นผื่นตุ่มแดงธรรมดาหรือตุ่มน้ำ เมื่อเวลาผ่านไปตุ่มจะเพิ่มขึ้นเรื่อย ๆ และกลายเป็นตุ่มหนองในที่สุด โดยระยะเวลาตั้งแต่เริ่มป่วยจนถึงผื่นตกสะเก็ดหมดทั่วร่างกายจะอยู่ที่ประมาณ 14 - 21 วัน ลักษณะอย่างหนึ่งที่ทำให้นึกถึงโรคฝีดาษลิงมากขึ้น นอกจากมีประวัติเดินทางหรือสัมผัสผู้ป่วยมาก่อนและมีอาการไข้ผื่น คือการตรวจพบต่อมน้ำเหลืองโต โดยเฉพาะบริเวณลำคอ เมื่อนึกถึงโรคนี้ ก็จะนำไปสู่การตรวจพิเศษเพิ่มเติมเพื่อยืนยันการวินิจฉัยต่อไป

“โรคฝีดาษลิง” หากเป็นแล้วหายได้ไหม

     โรคติดเชื้อไวรัสส่วนใหญ่มักไม่มียารักษา และหรือยามีประสิทธิภาพไม่ดีนัก ต่างจากการติดเชื้อแบคทีเรีย เซลล์เชื้อไวรัสมีความใกล้เคียงกับเซลล์ของมนุษย์ ยาที่ให้เพื่อทำลายเชื้อไวรัส มักจะมีผลข้างเคียงต่อมนุษย์ด้วย หลัก ๆ แล้วร่างกายกำจัดเชื้อไวรัสโดยการใช้ภูมิคุ้มกันของตนเอง โรคฝีดาษลิงก็เช่นกัน สามารถหายเองได้ ในปัจจุบัน มีรายงานไวรัสฝีดาษลิง 2 สายพันธุ์ ได้แก่ สายพันธุ์ Western African และสายพันธุ์ Central African ซึ่งจะมีอัตราการเสียชีวิตที่แตกต่างกัน สายพันธุ์แรกมีอัตราการเสียชีวิตอยู่ที่ร้อยละ 1 สายพันธุ์ที่ 2 อยู่ที่ร้อยละ 10 ตามรายงานในอดีต อย่างไรก็ตาม ข้อมูล ณ ปัจจุบันในเดือนมิถุนายนปี ค.ศ. 2022 หรือ พ.ศ. 2565 ทั่วโลกมีรายงานผู้ป่วยโรคฝีดาษลิงแล้ว 920 ราย (นับตั้งแต่เดือนพฤษภาคมที่มีรายงานผู้ป่วยรวม 7 รายในสหราชอาณาจักร) ยังไม่มีผู้เสียชีวิต

     การรักษา คือรักษาตามอาการเป็นหลัก มีไข้ให้ยาลดไข้ ส่วนผื่นตามตัวถ้ามีอาการคันมีการติดเชื้อเฉพาะที่ก็รักษาไปตามนั้น มีรายงานการใช้ยาต้านไวรัสบางชนิดที่เคยใช้รักษาโรคติดเชื้อไวรัสชนิดอื่น ๆ มาก่อนบ้าง แต่ไม่ได้ใช้ในผู้ป่วยทุกราย และไม่ใช่การรักษามาตรฐาน

     การป้องกัน สำหรับโรคฝีดาษลิง การติดต่อในปัจจุบันยังไม่ได้แพร่กระจายในวงกว้าง ขนาดของปัญหายังเล็กอยู่ ตัวโรคก็ไม่ได้มีความรุนแรงมากนัก ยังไม่มีความจำเป็นที่จะต้องฉีดวัคซีนในคนทั่วไปเพื่อป้องกันโรคนี้ นอกจากนี้ เนื่องจากเชื้อไวรัสที่ก่อให้เกิดโรคฝีดาษลิงเป็นเชื้อในตระกูลเดียวกันกับเชื้อที่เป็นสาเหตุของไข้ทรพิษดังที่กล่าวมาแล้ว จะมีคนจำนวนหนึ่งที่เกิดก่อนปี พ.ศ. 2523 ได้รับการปลูกฝีเพื่อป้องกันไข้ทรพิษ เนื่องจากเป็นโรคติดต่อร้ายแรงในสมัยนั้น การปลูกฝีดังกล่าวจะทำให้มีภูมิคุ้มกันต่อโรคฝีดาษลิงด้วยประมาณ 80 - 85 เปอร์เซ็นต์ โดยพบว่าภูมิคุ้มกันนี้คงอยู่ได้เป็นระยะเวลานานมากกว่า 40 - 50 ปี เพราะฉะนั้นผู้ที่ได้รับการปลูกฝีมาก่อนจึงมีภูมิคุ้มกันต่อโรคฝีดาษลิงไปด้วย แต่สำหรับคนที่ยังไม่ได้ปลูกฝีก็ไม่ต้องกลัวหรือเป็นกังวล เนื่องจากการระบาดในปัจจุบันยังอยู่ในวงที่ค่อนข้างจำกัด

วิธีดูแลตัวเองเพื่อป้องกัน “โรคฝีดาษลิง”

     สิ่งที่สำคัญเป็นลำดับต้น ๆ เวลาที่เราได้รับข่าวสารอะไรมาโดยเฉพาะเรื่องโรคติดต่อต่าง ๆ อยากให้เราตั้งสติ ตระหนักแต่ว่าไม่ตระหนก เลือกติดตามข่าวสารจากแหล่งที่เชื่อถือได้ยกตัวอย่างเช่น กรมควบคุมโรค หรือว่าสถาบันทางการแพทย์ มหาวิทยาลัยซึ่งเป็นแหล่งให้ความรู้ตามหลักวิชาการ เพื่อที่เราจะได้แน่ใจว่าข้อมูลใดถูกต้องเชื่อถือได้ หรือข้อมูลใดเป็นข่าวเท็จข่าวลวงที่จะทำให้เราเกิดความตระหนกโดยไม่จำเป็น

     ลำดับถัดมา การที่เราผ่านช่วงเวลาของการระบาดของ COVID-19  มาก่อน ทำให้เราใช้วิถีชีวิตปกติใหม่หรือ New Normal ซึ่งสิ่งเหล่านี้สามารถช่วยป้องกันโรคฝีดาษลิงได้อยู่แล้ว เนื่องจากช่องทางการติดต่อหลัก ๆ ของฝีดาษลิง คือติดต่อจากสัตว์ ด้วยการสัมผัสสัตว์หรือสารคัดหลั่งของสัตว์ หรือกินเนื้อสัตว์ที่ปรุงไม่สุก และติดต่อจากคนคือการใกล้ชิดหรือสัมผัสผื่นของผู้ที่เป็นโรค เพราะฉะนั้นสิ่งที่เราทำอยู่ก็คือการพยายามอยู่ห่าง ๆ คนอื่น การใส่แมสก์ การล้างมือ การไม่รับประทานอาหารร่วมกัน สิ่งเหล่านี้ล้วนช่วยป้องกันตัวเราไม่เฉพาะ COVID-19 แต่รวมถึงโรคติดต่อที่พบบ่อยอื่น ๆ รวมทั้งโรคฝีดาษลิงด้วย ในกลุ่มคนที่ชื่นชอบอาหารป่า หากจะรับประทานจริง ๆ ก็เลือกเนื้อสัตว์ที่ปรุงสุกสะอาดแล้ว หากเป็นสัตว์ที่ไม่มีที่มาที่ไป ไม่รู้ว่านำเข้ามาจากไหน อาจจะมีเชื้อโรคแฝงมาด้วย อาจจะต้องใช้ความระมัดระวังมากขึ้น ในคนที่ทำอาชีพเกี่ยวกับสัตว์ ไม่สามารถเลี่ยงได้ ต้องจับสัตว์หรือว่าซากสัตว์ ก็ต้องมีการป้องกันตัวเอง ใช้อุปกรณ์ป้องกันที่ปลอดภัย โดยเฉพาะการสวมถุงมือและแมสก์ การล้างมืออย่างถูกต้องให้สะอาด เป็นสิ่งสำคัญในการป้องกันโรคเสมอ

     “สิ่งที่อยากจะฝากคือ ในโลกยุคปัจจุบัน ด้วยวิทยาการทางการแพทย์ที่ก้าวหน้าขึ้น เราก็จะได้รับข่าวสารเกี่ยวกับโรคต่าง ๆ ได้ค่อนข้างบ่อย เพราะว่าเราวินิจฉัยได้เร็วขึ้น ก็อาจจะก่อให้เกิดความกลัว ความตระหนกตกใจ หากเราหาความรู้จากแหล่งที่เชื่อถือได้ พอเรามีความรู้ความเข้าใจ ความกลัวก็จะลดลง เพราะเรารู้ว่าสิ่งไหนที่ทำแล้วอาจจะติดโรค สิ่งไหนทำแล้วไม่ติด ฉะนั้นก็อยากให้ได้รับข้อมูลที่ถูกต้อง และไม่ประมาท ระมัดระวังป้องกันตัวเองอยู่เสมอ วิถีชีวิตแบบ New Normal สามารถป้องกันเราจากโรคติดต่อหลาย ๆ โรคได้ รวมทั้งโรคฝีดาษลิงด้วย” ผศ.พญ.ศศินุช กล่าวทิ้งท้าย

 

ข้อมูล ณ วันที่ 7 มิถุนายน 2565