Loading...

“Cool to Touch” บรรจุภัณฑ์เปลี่ยนโลก คว้า Gold Prize นวัตกรรมนานาชาติ 2019

 

ในยุค Climate Crisis ที่เต็มไปด้วยภัยพิบัติ ทางเดียวที่จะช่วยประวิงเวลาคือการเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรม Cool to Touch จะช่วยตอบโจทย์นั้น

วันจันทร์ที่ 24 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2563

  

          “Cool to Touch” คือชื่อของสิ่งประดิษฐ์ผลงานนักวิทยาศาสตร์ไทย ที่ได้ประกาศความยิ่งใหญ่บนเวทีการประกวดนวัตกรรมสิ่งประดิษฐ์ระดับนานาชาติ Seoul International Invention Fair 2019 (SIIF 2019) ณ ประเทศเกาหลี เมื่อช่วงปลายปีที่ผ่านมา ในฐานะ Gold Prize หรือรางวัลเหรียญทอง

          ท่ามกลางนวัตกรรมระดับโลกกว่า 600 ผลงาน จากนักคิดชั้นนำกว่า 30 ประเทศ ผลงานการสร้างสรรค์ของ ผศ.ดร.ชิราวุฒิ เพชรเย็น คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมคณะ สร้างความโดดเด่นจนเป็นที่ประจักษ์ชนิดที่สิ้นข้อสงสัย

          นั่นทำให้ Cool to Touch” สามารถคว้ารางวัลพิเศษจาก Patent Office of Cooperation Council for the Arab States of the Gulf มาอีกหนึ่งรางวัล

          หากมองเพียงแค่ภายนอก “Cool to Touch” อาจไม่ต่างไปจากสิ่งประดิษฐ์ธรรมดาชิ้นหนึ่ง แต่ลึกลงไปแล้ว นี่คือนวัตกรรมที่มีพลานุภาพมากพอจะเปลี่ยนโลก ที่สำคัญก็คือก่อกำเนิดได้อย่างถูกที่ถูกเวลา

          ในยุค Climate Crisis ที่เต็มไปด้วยภัยพิบัติ โรคระบาด อุณหภูมิเพิ่มสูงขึ้นทุกวินาที ทางเดียวที่จะช่วยประวิงเวลาหรือชะลอความรุนแรงลงได้ ก็คือ Green Trend - การเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนวัตกรรม “Cool to Touch” ก็ช่วยตอบโจทย์นั้น

          “Cool to Touch” คือถ้วยและฝาปิดสำหรับใส่เครื่องดื่มร้อนที่มีอุณหภูมิตั้งแต่ 80 องศาเซลเซียสขึ้นไป ผลิตขึ้นจาก “โฟมเชิงประกอบชีวภาพ” ที่สามารถย่อยสลายได้ ซึ่งจะเป็นการปฏิวัติวงการบรรจุภัณฑ์โดยสิ้นเชิง

          ต้องทำความเข้าใจก่อนว่า โดยทั่วไปแล้วโฟมจะผลิตจากพลาสติกหลากหลายชนิด ส่วนใหญ่มาจากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งนอกจากจะเป็นแหล่งวัตถุดิบที่ไม่สามารถสร้างทดแทนใหม่ได้แล้ว ยังไม่สามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ และก่อให้เกิดก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์จำนวนมหาศาลในกระบวนการผลิต

          แต่สำหรับโฟมเชิงประกอบชีวภาพจะมีลักษณะแตกต่างกันออกไป เพราะโฟมชนิดนี้จะตั้งต้นจากพลาสติกชีวภาพที่สามารถย่อยสลายได้ด้วยการทำงานของจุลินทรีย์ที่มีอยู่ในธรรมชาติ ไม่ว่าจะเป็นจากแบคทีเรีย รา หรือสาหร่าย และวัตถุดิบในการผลิตโฟมประเภทนี้ก็คือวัตถุดิบที่สามารถปลูกทดแทนใหม่ได้

          นอกจากตั้งต้นจากพลาสติกชีวภาพแล้ว “Cool to Touch” ยังเสริมความแข็งแกร่งด้วยการนำ “เซลลูโลส” ซึ่งมีแหล่งเส้นใยจากพืชธรรมชาติมาปรับปรุงคุณสมบัติของพอลิเมอร์ จนทำให้ทนความร้อนได้สูง สีสันสม่ำเสมอ น้ำหนักเบา ขึ้นรูปง่าย และราคาถูก

          “ทุกวันนี้บรรจุภัณฑ์จากโฟมมักถูกผลิตขึ้นจากพลาสติก ที่นิยมที่สุดคือพอลิสไตรีนที่ได้จากอุตสาหกรรมปิโตรเคมี ซึ่งนอกจากจะก่อให้เกิดผลกระทบทางสิ่งแวดล้อมแล้ว หากนำไปใช้กับอาหารที่มีความร้อนสูง ยังเป็นอันตรายต่อสุขภาพด้วย” ผศ.ดร.ชิราวุฒิ กล่าว

          ผศ.ดร.ชิราวุฒิ อธิบายต่อว่า โฟมโดยทั่วไปหากถูกความร้อนมากจะทำให้เสียรูปทรงและหลอมละลาย ซึ่งจะมีสารที่เป็นอันตรายแตกตัวออกมาและปนเปื้อนกับอาหาร ไม่ว่าจะเป็นสารสไตรีน หรือแม้แต่เบนซิน

          ดังนั้น การประดิษฐ์นี้เป็นการพัฒนาการผลิตโฟมพอลิเมอร์เชิงประกอบที่ผลิตได้จากพอลิเมอร์ชีวภาพ ด้วยการเสริมแรงด้วยเส้นใยเซลลูโลสดัดแปรเพื่อเพิ่มสมบัติเชิงกล สมบัติเชิงความร้อน เพื่อนำมาประยุกต์เป็นบรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และเป็นมิตรต่อสุขภาพของผู้บริโภคด้วย

          สำหรับ “Cool to Touch” ปัจจุบัน ผศ.ดร.ชิราวุฒิ และ อาจารย์สุวรา วรวงศากุล อาจารย์คณะวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในฐานะผู้ประดิษฐ์ ได้โอนสิทธิอนุสิทธิบัตรให้แก่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์เป็นเจ้าของทรัพย์สินทางปัญญา เพื่อให้นวัตกรรมชิ้นนี้ได้มีส่วนรับใช้สังคมต่อไป

          นี่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของการให้บริการวิชาการตามวิสัยทัศน์ Marketplace of Solutions ที่พร้อมจะสนับสนุนรัฐบาลและภาคเอกชน เพื่อยกระดับผลิตภัณฑ์ เพิ่มศักยภาพในการแข่งขัน ตอบโจทย์ Green Trend และ Thailand 4.0 อย่างแท้จริง