Loading...

อาจารย์ธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรมเพื่อผู้ป่วยมะเร็งเต้านม ฟื้นฟูร่างกายหลังผ่าตัด

อุปกรณ์ส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังผ่าตัดเต้านม โดยอาจารย์คณะพยาบาลศาสตร์ ธรรมศาสตร์ คว้าเหรียญทอง ประกวดนวัตกรรมระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออก

 วันพฤหัสบดีที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2565

     โรคมะเร็งเต้านม เป็นโรคมะเร็งที่พบมากเป็นอันดับหนึ่งของผู้หญิงทั่วโลก ในประเทศไทยก็เช่นเดียวกัน สอดคล้องกับการรายงานของ WHO โดยใน 1 ชั่วโมง จะมีผู้หญิงไทย เป็นมะเร็งเต้านมเพิ่มขึ้นประมาณ 2.2 คน และจากสถิติของโรงพยาบาลธรรมศาสตร์เฉลิมพระเกียรติ ยังพบว่า แนวโน้มของผู้ป่วยมะเร็งเต้านมรายใหม่มีสูงขึ้น และจากสถิติผู้หญิงส่วนใหญ่ที่พบว่าเป็นมะเร็งเต้านม มักจะอยู่ในช่วงอายุ 40 - 60 ปี ซึ่งเป็นกลุ่มของวัยทำงาน แม้ว่ามะเร็งเต้านมจะเป็นโรคที่ร้ายแรง แต่หากรักษาเร็วเท่าไหร่ โอกาสหายมีมากขึ้นเท่านั้น

     การรักษามะเร็งเต้านม ส่วนใหญ่เริ่มต้นด้วยการรักษาด้วยการผ่าตัด หลังจากนั้นอาจจำเป็นต้องรักษาวิธีอื่น ๆ ร่วมด้วยเพื่อเสริมให้ผลการรักษาดีขึ้น ได้แก่ การให้ยาเคมีบำบัด การฉายแสง เป็นต้นระยะแรกหลังผ่าตัดเต้านม ผู้ป่วยจะมีแผลขนาดใหญ่บริเวณหน้าอกและบริเวณใต้รักแร้ข้างที่ผ่าตัดเต้านม หลังผ่าตัดแพทย์จะใส่ท่อระบายเลือดและน้ำเหลืองแบบขวดสุญญากาศไว้บริเวณแผล (Radivac drain) โดยการผ่าตัดเต้านมจะมีการเลาะพังผืดกล้ามเนื้อหน้าอกมัดใหญ่ออกมาด้วย เป็นสาเหตุทำให้เกิดการยึดระหว่างเนื้อเยื่อใต้ผิวหนังและกล้ามเนื้อ ส่งผลให้เกิดความตึงบริเวณทรวงอก ไม่สามารถเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้ตามปกติ ร่วมกับมีอาการปวดแผลผ่าตัดทั้งบริเวณด้านหน้าอก แขน และกล้ามเนื้อส่วนหลัง ทำให้ผู้ป่วยเคลื่อนไหวแขนหรือร่างกายลดลง

          

     อย่างไรก็ตาม ร่างกายของผู้ป่วยต้องได้รับการฟื้นตัว หากผู้ป่วยไม่ทำการฟื้นสภาพการเคลื่อนไหวของแขนข้างที่ทำการผ่าตัดเต้านมโดยเร็ว อาจส่งผลให้เกิดการบวมของแผล เกิดน้ำเหลืองสะสมเป็นก้อนใต้ผิวหนัง ตลอดจนเกิดการบวมของแขน และกล้ามเนื้อด้านหลังข้างที่ทำการผ่าตัด เกิดพังผืด มีแผลดึงรั้งบริเวณรักแร้หรือกล้ามเนื้อใต้บริเวณที่ผ่าตัด เกิดข้อไหล่ติด ทำให้ความสามารถในการเคลื่อนไหวข้อไหล่ลดลง ซึ่งสิ่งเหล่านี้ถือเป็นภาวะแทรกซ้อนที่สำคัญและพบมากที่สุดหลังการผ่าตัดเต้านม ผู้ป่วยจะไม่สามารถกลับมาเคลื่อนไหวข้อไหล่ได้เหมือนเดิม 

     ผลกระทบทางด้านจิตใจจากการผ่าตัดเต้านมทิ้ง ทำให้ผู้ป่วยรู้สึกไม่มั่นใจกับสรีระร่างกายที่เปลี่ยนแปลง รู้สึกเศร้าโศกสูญเสียภาพลักษณ์ความเป็นหญิง ส่งผลทำให้ความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองลดลง หลังผ่าตัดหากผู้ป่วยไม่ได้รับการฟื้นสภาพการเคลื่อนไหวของแขน ไหล่ เกิดภาวะข้อไหล่ติด ทำให้เกิดข้อจำกัดในการเคลื่อนไหว บาดเจ็บจากการดึงรั้งของแผลและกล้ามเนื้อทุกครั้งที่ขยับแขน มีข้อจำกัดในการช่วยเหลือตนเอง ยิ่งทำให้ผู้หญิงเหล่านี้รู้สึกเสียความมั่นใจ เสียคุณค่าในตัวเองที่ต้องพึ่งพาผู้อื่นแม้การทำกิจวัตรประจำวันลดลง

     ผศ.สุภาวดี ทับกล่ำ อาจารย์พยาบาล คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้เล็งเห็นถึงปัญหาที่เกิดขึ้นหลังการผ่าตัดเต้านมของคนไข้ที่ส่งผลกระทบทั้งร่างกายและจิตใจ จึงนำมาสู่การคิดค้นหาแนวทางการแก้ไขด้วยนวัตกรรม ‘อุปกรณ์ส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังผ่าตัดเต้านม’ 

     ผศ.สุภาวดี เล่าว่า อุปกรณ์นี้ นอกจากช่วยให้สามารถบริหารแขนด้วยตนเองหลังผ่าตัด เพิ่มการช่วยเหลือตนเองให้มากขึ้น ลดภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัดได้แก่ข้อไหล่ติด และลดการบวมของแผล ยังเพิ่มความรู้สึกมีคุณค่าในตนเองผ่านการที่คนไข้สามารถช่วยเหลือตัวเองได้ในการใช้ชีวิตประจำวัน โดยตัวนวัตกรรมประกอบด้วยสิ่งประดิษฐ์อยู่ 3 อย่าง คือ    

          1. ผ้ายืดฟื้นฟูการเคลื่อนไหวแขนและข้อไหล่ พร้อม sensor แจ้งองศาการเคลื่อนที่ของแขน    
          2. เสื้ออาบน้ำส่งเสริมการช่วยเหลือตนเองในการทำกิจวัตรประจำวันในห้องน้ำ          
          3. ถุงกันน้ำสำหรับใส่ขวดระบายเลือดและน้ำเหลืองแบบพกพา (Hands-free design)

     อุปกรณ์ทั้ง 3 ผลงาน ช่วยทำให้ฟื้นฟูสภาพร่างกายด้วยตนเองหลังผ่าตัดเป็นไปอย่างเป็นระบบ ส่งเสริมให้เกิดความพร้อมในการเรียนรู้และความสามารถในการฝึกทักษะการบริหารแขน ไหล่ได้อย่างต่อเนื่องสม่ำเสมอ พร้อมทั้งให้ visual feedback เพื่อทราบความก้าวหน้าขององศาในการเคลื่อนไหวแขน ฟื้นฟูร่างกาย ป้องกันภาวะแทรกซ้อนหลังผ่าตัด ควบคู่ไปกับการฟื้นฟูด้านจิตใจ ให้คนไข้มีความรู้สึกมีคุณค่าในตนเอง มีความมั่นใจ สามารถทำกิจกรรมต่าง ๆ ได้ด้วยตัวของเขาเอง ไม่รู้สึกถึงการต้องพึ่งพาผู้อื่น คนไข้ก็จะได้มีสภาพจิตใจที่พร้อมที่จะเข้ารับการรักษา ในลำดับต่อไป

        

     ผศ.สุภาวดี ทับกล่ำ เป็นนักประดิษฐ์ที่คิดค้นนวัตกรรมทางการพยาบาลเพื่อช่วยเหลือคนไข้ทุกกลุ่ม ทั้งวัยทารก เด็ก และผู้ใหญ่ จนได้รับรางวัลมาหลากหลายเวทีทั้งในประเทศและระดับนานาชาติ ปัจจุบันอาจารย์ได้รับรางวัลระดับนานาชาติถึง 42 รางวัล และได้รับรางวัลการวิจัยแห่งชาติ รางวัลผลงานประดิษฐ์คิดค้น จากสำนักงานการวิจัยแห่งชาติ (วช.) ถึง 5 ปีต่อเนื่อง ซึ่งนวัตกรรม ‘อุปกรณ์ส่งเสริมการฟื้นฟูสภาพร่างกายหลังผ่าตัดเต้านม’ version ล่าสุด ได้รับรางวัลเหรียญทองจากเวทีการประกวดนวัตกรรมนานาชาติ “XXV Moscow International Inventions and Innovative Technologies Salon” (ARCHIMEDES-2022) เป็นงานแสดงผลงานนวัตกรรมระดับนานาชาติที่ใหญ่ที่สุดในยุโรปตะวันออก ซึ่งนวัตกรรมดังกล่าว อยู่ในขั้นตอนการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญา จากกรมทรัพย์สินทางปัญญา

     ผศ.สุภาวดี เล่าถึงการพัฒนานวัตกรรมทางการพยาบาลว่า ผู้ป่วยแต่ละกลุ่มมีปัญหาทางสุขภาพที่ต้องได้รับการแก้ไข ซึ่งการแก้ไขปัญหานั้นจำเป็นต้องวิเคราะห์ถึงบริบทของผู้ป่วยเพื่อให้การแก้ไขปัญหาเป็นไปได้อย่างตรงจุด พยาบาลเป็นบุคลากรสุขภาพที่สำคัญให้การดูแลผู้ป่วยตลอด 24 ชั่วโมง ย่อมมองเห็นปัญหาและบริบทของผู้ป่วยได้อย่างชัดเจน การเตรียมกำลังคนทางการพยาบาล ให้สามารถแก้ปัญหาด้วยวิธีคิดเชิงนวัตกรรม สามารถพัฒนาได้ตั้งแต่ขณะเป็นนักศึกษาพยาบาล ซึ่งสอดคล้องกับแนวทางและวิสัยทัศน์ของคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ความคิดเชิงนวัตกรรมช่วยให้มุมมอง แนวทาง สร้างสรรค์ พัฒนานวัตกรรม แก้ปัญหาอย่างตรงจุด โดยเฉพาะอย่างยิ่งในยุคที่ระบบบริการสุขภาพต้องรับมือกับปัญหาสุขภาพที่ความซับซ้อน ไม่แน่นอนและคาดการณ์ได้ยาก

       

     “พยาบาลเป็นพลังสำคัญในทีมสุขภาพ ให้การดูแลคนไข้ในทุกระดับ ปัญหาของคนไข้ไม่เคยถูกละเลย เราปรับ ประยุกต์ สร้างสรรค์ คิดค้น ออกแบบนวัตกรรม เพื่อแก้ปัญหา และดูแลผู้ป่วยอย่างเต็มศักยภาพมาโดยตลอด ในด้านการคิดค้นนวัตกรรม หากได้รับการส่งเสริม สนับสนุนอย่างเป็นระบบ จะเป็นประโยชน์ต่อทั้งตัวคนไข้ สร้างพลังเข็มแข็งให้วิชาชีพพยาบาล และเพิ่มคุณภาพในการดูแลผู้ป่วยในทุกระดับอีกด้วย” ผศ.สุภาวดี ทิ้งท้าย