Loading...

‘ธรรมศาสตร์’ ย้ำจุดยืน มหา’ลัย เพื่อคนทั้งมวล เจ้าภาพจัดงานด้านคนพิการระดับชาติ ปี 2566

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เจ้าภาพร่วมจัดสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 15 ยืนหยัดในการเป็นสถาบันการศึกษาที่ขับเคลื่อนความเสมอภาคและยั่งยืนในสังคม

วันศุกร์ที่ 21 กรกฎาคม พ.ศ.2566

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับ กรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 15 ประจำปี 2566 The 15th National Conference on Persons with Disabilities (NCPD2023) เมื่อวันที่ 21 กรกฎาคม 2566 ณ ชั้น 4 อาคารเรียนรวมสังคมศาสตร์ 3 (SC3) มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ด้านงานวิจัย วิชาการ นวัตกรรมและการพัฒนาเทคโนโลยีด้านการส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ เปิดโอกาสให้องค์กรคนพิการและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องมีบทบาทร่วมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ระหว่างกัน รวมถึงสื่อสารความรู้ขององค์กรสู่สาธารณะ ผ่านงานสัมมนาวิชาการในมิติที่หลากหลายมากขึ้น

     ที่ผ่านมา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ขับเคลื่อนผลักดันเป้าหมายด้านความเสมอภาค เพื่อสร้างพื้นที่การศึกษาสำหรับคนทุกกลุ่ม ทั้งในระดับนโยบายและการพัฒนาโครงการและนวัตกรรมเพื่อคนพิการ ซึ่งในทางกายภาพมหาวิทยาลัยได้ใช้แนวคิด "Universal Design" หรือ "อารยสถาปัตย์" ในการสร้างการเข้าถึงสภาพแวดล้อมและทรัพยากรต่าง ๆ ให้ทุกคนสามารถใช้งานได้อย่างสะดวกและเท่าเทียมกัน นอกจากนี้ยังมีการสนับสนุนสวัสดิการการศึกษาสำหรับนักศึกษาพิการ เปิดโควตาให้นักศึกษาพิการสามารถเข้าศึกษาในแต่ละคณะ รวมถึงมีศูนย์ดูแลนักศึกษาพิการ (DSS Center) ที่ทันสมัยและมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกอย่างครบวงจร

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์พร้อมก้าวไปข้างหน้าด้วยความมุ่งมั่นในการเป็นผู้นำของสถาบันการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล สร้างพื้นที่การเรียนรู้ที่ตอบโจทย์ต่อรูปแบบการใช้ชีวิตที่หลากหลายเพื่อให้ประชาคมทุกกลุ่มสามารถอยู่ร่วมกันอย่างเสมอภาคและยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง สอดคล้องกับการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDG10 Reduce Inequality

     นอกจากนโยบายและแนวทางปฏิบัติในระดับของมหาวิทยาลัยแล้ว ธรรมศาสตร์ยังได้พัฒนาโครงการและนวัตกรรมใหม่ สำหรับผู้พิการอยู่เสมอ เพื่อทำให้การใช้ชีวิตของทุกคนในธรรมศาสตร์สามารถอยู่ร่วมกันได้อย่างเสมอภาคและมีความสุข เช่น การผลิตเครื่องช่วยดูแลคนพิการ และ นวัตกรรมรังสิตโมเดลของหน่วยวิจัยด้านการออกแบบเพื่อคนทั้งมวล เป็นต้น

     “จากความมุ่งมั่นและตั้งใจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ส่งผลให้เราเป็นมหาวิทยาลัยแห่งแรกที่ได้รับรางวัลอารยสถาปัตย์ รวมทั้งเป็นมหาวิทยาลัยแห่งเดียวในประเทศไทยที่ได้รับรางวัลนี้ถึง 5 ครั้งติดต่อกัน ซึ่งนับเป็นเวลากว่าครึ่งทศวรรษกับการเดินหน้าพัฒนาสังคมในฐานะผู้นำของสถาบันการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล นับจากนี้มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จะยังคงเดินหน้าพัฒนาสังคม ตามหลักปณิธานที่มุ่งมั่นส่งเสริมความเสมอภาคต่อประชาชนทุกกลุ่มทั้งในระดับชาติและในระดับโลกต่อไป” รศ.เกศินี กล่าว

     ด้าน คุณสราญภัทร อนุมัติราชกิจ อธิบดีกรมส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ กระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 3-4 ปีที่ผ่านมา สังคมไทยและสังคมโลกต่างได้รับผลกระทบจากการเปลี่ยนแปลงที่รวดเร็ว ทั้งจากเปลี่ยนแปลงของเทคโนโลยีโดยเฉพาะเทคโนโลยีดิจิทัล การเปลี่ยนแปลงทางประชากรศาสตร์ที่ทั่วโลกเริ่มเข้าสู่สังคมผู้สูงอายุส่งผลให้มีคนพิการเพิ่มขึ้น การเปลี่ยนแปลงของสังคมเมืองที่คนจำนวนมากย้ายเข้ามาอาศัยอยู่ในเมืองส่งผลให้เกิดปัญหาในชุมชนเมือง ซึ่งปัจจัยเหล่านี้เป็นโจทย์และข้อท้าทายที่จะทำอย่างไรให้เกิดสมดุลระหว่างการเปลี่ยนแปลงกับการพัฒนาคุณภาพชีวิตที่ยั่งยืนโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง

     “ในวันนี้ เป็นอีกปีที่เราร่วมกันสร้างพื้นที่แลกเปลี่ยนเรียนรู้ และรังสรรค์ผลงานวิชาการ นวัตกรรมใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นนวัตกรรมเชิงสังคม หรือนวัตกรรมด้านเทคโนโลยีดิจิทัล ภายใต้ข้อท้าทายที่เกิดขึ้นในปัจจุบัน เพื่อสร้างสังคมและส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการ สามารถดำรงชีวิตในสังคมได้อย่างเท่าเทียมและยั่งยืน ขอขอบคุณผู้ทรงคุณวุฒิ นักวิชาการ และผู้ร่วมงานทุกท่านที่ร่วมกันสร้างพื้นที่สร้างสรรค์เชิงวิซาการก่อให้เกิดการแลกเปลี่ยนเรียนรู้และพัฒนางานด้านคนพิการ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้ร่วมแรงร่วมใจ มุ่งมั่นและให้การสนับสนุนให้งานในครั้งนี้ประสบการณ์ความสำเร็จ” คุณสราญภัทร กล่าว

     สำหรับงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 15 ภายใต้หัวข้อ "การส่งเสริมความเป็นอยู่ที่ดีของคนพิการผ่านนวัตกรรมและการพัฒนาที่ยั่งยืน” ในครั้งนี้ มีการบรรยายปาฐกถาพิเศษและ Ted talk ในประเด็นทางสังคมกับการพัฒนาด้านงานวิจัยและนวัตกรรมเกี่ยวกับคนพิการที่น่าสนใจมากมาย อาทิเช่น ปาฐกถาพิเศษ หัวข้อ “Well-being Promotion for Persons with Disabilities through  Innovation and Sustainable Development” จาก UNDP Resident Representative to Thailand และการบรรยายพิเศษ หัวข้อ “The Social Movement of Disability in the Disruptive World” ของ Ms. Yukiko Nakanishi จาก Deputy Chairperson of DPI Japan

     นอกจากนี้ภายในงานยังมีการนำเสนอบทความวิชาการ/บทความวิจัย การแลกเปลี่ยนประสบการณ์บทเรียนที่ดีด้านคนพิการ การแสดงทักษะและความสามารถของคนพิการต้นแบบ รวมไปถึงมีนิทรรศการการแสดงผลงานและจัดจำหน่ายสินค้าซึ่งเป็นผลงานจากกลุ่มคนพิการต่าง ๆ อีกด้วย

     สำหรับในปี 2567 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้มอบธงส่งไม้ต่อให้กับ มหาวิทยาลัยราชภัฏอุดรธานี ในการเป็นเจ้าภาพจัดงานสัมมนาวิชาการระดับชาติด้านคนพิการ ครั้งที่ 16 ต่อไป