Loading...

อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสัมมนาวิชาการ หนุนบทบาทสตรีในการพัฒนาเศรษฐกิจโลก

รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมสัมมนาเอเปค-ประเทศไทย 2022: ความมุ่งหมายและความสำเร็จ หัวข้อความท้าทายของเอเปคกับการส่งเสริมบทบาทสตรี

วันจันทร์ที่ 21 พฤศจิกายน พ.ศ.2565

     วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ร่วมกับ บริษัท มติชน จำกัด (มหาชน) จัดสัมมนาวิชาการในหัวข้อ “เอเปค-ประเทศไทย 2022: ความมุ่งหมายและความสำเร็จ” เพื่อให้เกิดความรู้ ความเข้าใจถึงความท้าทายและความสำเร็จที่จะเกิดขึ้นในการประชุมตลอดจนบทบาทของประเทศไทยในฐานะเจ้าภาพที่จะผลักดันวาระสำคัญให้เกิดผลด้านความร่วมมือของสมาชิก 21 เขตเศรษฐกิจ เมื่อเร็ว ๆ นี้ ณ ห้องพูนศุข วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ท่าพระจันทร์

     ในโอกาสนี้ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้กล่าวปาฐกถาเรื่อง “ความท้าทายของเอเปคกับการส่งเสริมบทบาทสตรี” มีความตอนหนึ่งว่า เป็นเรื่องที่น่ายินดีที่ประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก หรือ APEC ซึ่งประเทศไทยเป็นเจ้าภาพในปีนี้ได้ให้ความสำคัญกับบทบาทของสตรีในการพัฒนาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะอย่างยิ่งที่ประชุมได้ตระหนักถึงปัญหาหลายประการ อันเกี่ยวเนื่องกับสิทธิสตรี ความเหลื่อมล้ำ การเลือกปฏิบัติและความจำเป็นที่จะต้องเสริมสร้างความเข้มแข็งให้กับสตรี ในครั้งนี้ก็ได้มีการพูดถึงการปลดปล่อยศักยภาพของสตรีในทางเศรษฐกิจ สตรีในกลุ่มชาติพันธุ์ สตรีที่เป็นผู้พิการ รวมถึงสตรีในชนบทและพื้นที่ห่างไกล

     จึงเป็นเรื่องที่น่าชื่นชมที่แผนการของเอเปคได้กล่าวถึง ความพยายามที่ทำให้สตรีสามารถที่จะเข้าถึงโอกาสทางเศรษฐกิจ ตลาดทุนและเทคโนโลยีมากขึ้น ทั้งนี้เพื่อที่จะเสริมสร้างความเข้มแข็ง และการมีส่วนร่วมในการพัฒนาเศรษฐกิจของแรงงานสตรี ผลักดันให้สตรีได้มีโอกาสได้ขึ้นดำรงตำแหน่งที่สำคัญในองค์กรของธุรกิจต่าง ๆ ได้มากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้สตรีได้มีโอกาสเข้าถึงการศึกษา การฝึกอบรม เพิ่มทักษะให้กับสตรีและเด็กหญิงอย่างเท่าเทียมกัน แนวคิดหลักของการประชุมเอเปคในครั้งนี้ ก็คือการสร้างความสมดุลในการยอมรับบทบาทของสตรี เพื่อเข้าสู่ยุคเศรษฐกิจทั่วถึง โดยไร้ความเหลื่อมล้ำ

     รศ.เกศินี กล่าวเสริมว่า ทั้งนี้สถาบันวิจัย CSRI ได้ตีพิมพ์รายงานในเรื่อง Bordering the Diversity Discussion ระบุว่า จำนวน CEO ที่เป็นผู้หญิงทั่วโลก มีอยู่เพียงแค่ 5.5% โดยจำนวนผู้บริหารหญิงที่นั่งในคณะกรรมการบริษัทเพิ่มขึ้นเพียงเล็กน้อย คือมีค่าเฉลี่ยทั่วโลกเพียง 24% สำหรับประเทศไทยนั้น ในการศึกษาจากตลาดหลักทรัพย์ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 21% ในปี 2563 ซึ่งเป็นตัวเลขที่เพิ่มขึ้น เพียงเล็กน้อยจากปี 2562

     เพราะฉะนั้นพิจารณาดูประเทศในกลุ่มเอเปคแล้ว สัดส่วนของผู้หญิงในตำแหน่งบริหารก็มีจำนวนที่มากขึ้น ในออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ สิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยกลุ่มประเทศพวกนี้ก็จะมีค่าเฉลี่ยที่สูง อยู่ที่ 34% ในขณะที่ จีน ญี่ปุ่น เกาหลีใต้ มีค่าเฉลี่ยอยู่ที่ 9% เท่านั้น นอกจากนี้ก็ยังพบว่า ในช่วง 5 ปีที่ผ่านมา อัตราส่วนระหว่างผู้ประกอบการที่เป็นผู้หญิง มีอัตราส่วนที่เพิ่มขึ้นจาก 0.62% เป็น 0.73% ที่ถึงแม้จะดูว่าเพิ่มแต่กิจการที่ก่อตั้งโดยผู้หญิงก็มักจะมีขนาดเล็ก และมีมูลค่าทางธุรกิจน้อยกว่าธุรกิจที่ก่อตั้งโดยผู้ชาย โดยส่วนหนึ่งที่จะเป็นไปได้นั้นเพราะว่าผู้หญิงไม่ค่อยอยากจะมีความเสี่ยงมากนัก เนื่องจากการทำธุรกิจขนาดใหญ่ก็มาพร้อมกับประเด็นความเสี่ยงมากมายเช่นกัน นอกจากนี้ข้อมูลจาก 133 ประเทศทั่วโลก ก็แสดงให้เห็นว่า ผู้หญิงสามารถเข้าถึงตำแหน่งในการตัดสินใจในระดับท้องถิ่นได้มากขึ้น โดยได้รับการเลือกตั้งเข้ามาจำนวน 36.3% ในปี 2019 และมีตัวแทนแรงงานที่เป็นผู้หญิงจำนวน 39% ของแรงงานทั่วโลก แต่มีผู้หญิงในตำแหน่งผู้บริหารเพีง 28% ซึ่งยังดีกว่าในปี 2000 ที่มีเพียง 25% เท่านั้น ดังที่ได้กล่าวมานั้นก็แสดงว่าผู้หญิงก็ต้องเผชิญกับความท้าทายและอุปสรรคที่สูงกว่าในการที่จะสามารถเข้าไปอยู่ในระบบการตัดสินใจการลงทุน และนอกจากนี้เมื่อผู้หญิงเข้าไปอยู่ในแวดวงการทำงานที่มีชื่อเสียงก็มักจะถูกกีดกันจากตำแหน่งที่เกี่ยวข้องกับการตัดสินใจ

     “สุดท้ายนี้ดิฉันหวังว่าการประชุมเอเปคในครั้งนี้จะสามารถขับเคลื่อนมาตรการที่เป็นรูปธรรม ที่จะนำไปสู่การยอมรับในความหลายหลายและความแตกต่างกันทั้งในแวดวงเศรษฐกิจและสังคม ซึ่งเป็นความท้าทายร่วมกันของโลก ไม่ว่าเพศใด ๆ เราทุกคนต่างก็มีส่วนในการสร้างและรับผิดชอบต่อโลกใบนี้เสมอ เพราะความแตกต่างโลกจึงพัฒนามาได้ไกลจนทุกวันนี้” รศ.เกศินี กล่าวทิ้งท้าย

     ในการสัมมนาครั้งนี้ยังมีการอภิปรายทางวิชาการ โดยมี นายธานี แสงรัตน์ อธิบดีกรมสารนิเทศ และโฆษกกระทรวงการต่างประเทศ รศ.ดร.อนุสรณ์ ธรรมใจ จากวิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ดร.กอบศักดิ์ ชุติกุล ที่ปรึกษากรรมาธิการต่างประเทศ วุฒิสภา ดร.วนัน เพิ่มพิบูลย์ จาก Climate Watch Thailand และ นายหลี่ ซีเจีย นักศึกษาโครงการไทยศึกษา วิทยาลัยนานาชาติปรีดี พนมยงค์ ดำเนินรายการโดย นายเอกภัทร์ เชิดธรรมธร อีกด้วย