รัฐศาสตร์ มธ. X JICA ผนึกกำลังสร้างเครือข่ายทางวิชาการเพื่อการพัฒนา
คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามความร่วมมือกับ องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (JICA) สร้างเครือข่ายทางวิชาการเพื่อการพัฒนา
วันพุธที่ 22 พฤศจิกายน พ.ศ.2566
เมื่อวันที่ 17 พฤศจิกายน พ.ศ. 2566 คณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดี ลงนามบันทึกความร่วมมือ MOC (Memorandum of Cooperation) ฉบับแรกกับ Mr. Yuho Hayakawa ผู้อำนวยการใหญ่แผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก องค์การความร่วมมือระหว่างประเทศแห่งญี่ปุ่น (Japan International Cooperation Agency) หรือ ไจก้า (JICA) เพื่อส่งเสริมการค้นคว้าวิจัยที่เกี่ยวข้องกับประเด็นการพัฒนาในประเทศไทย ตลอดจนริเริ่มผลักดันให้เกิดเครือข่ายระดับภูมิภาคที่เชื่อมโยงนักวิชาการด้านการพัฒนาศึกษา (Development Studies) ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เข้าด้วยกัน โดยมีคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นกลไกสำคัญ
ระหว่างพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ พูดถึงความสำเร็จในอดีตที่เกิดจากความร่วมมือทางวิชาการระหว่างญี่ปุ่นกับประเทศไทย ก่อนเน้นย้ำความจำเป็นที่จะต้องสานต่อความร่วมมือดังกล่าว พร้อมหาทางฟื้นฟูส่งเสริม ท่ามกลางความท้าทายในอนาคต
ขณะที่ Mr. Yuho Hayakawa แสดงความยินดีที่ไจก้ามีโอกาสร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อันเป็นสถาบันการศึกษาที่มีชื่อเสียง และมีประวัติความร่วมมือกับญี่ปุ่นมาอย่างยาวนาน ทางไจก้ามีความมุ่งมั่นที่จะสนับสนุนการพัฒนาประเทศไทยในทุกด้าน รวมถึงด้านวิชาการ จึงตั้งความหวังกับโครงการที่จะตามมาสืบเนื่องจากการลงนามบันทึกความร่วมมือฉบับนี้
หลังเสร็จพิธีลงนามบันทึกความร่วมมือ ผู้แทนของคณะรัฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประกอบด้วย รศ.ดร.ภูริ ฟูวงศ์เจริญ คณบดี รศ.ดร.สุนิดา อรุณพิพัฒน์ ผู้ช่วยคณบดีฝ่ายวิชาการ และ ศ.ดร.ศิริพร วัชชวัลคุ อาจารย์ผู้เชี่ยวชาญด้านการพัฒนาศึกษาของคณะ กับผู้แทนของไจก้า นำโดย Mr. Yuho Hayakawa ผู้อำนวยการใหญ่แผนกเอเชียตะวันออกเฉียงใต้และแปซิฟิก Mr. Kenichi Shirouzu รองผู้อำนวยการอาวุโสฝ่ายเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ 4 Professor Dr. Jin Sato อาจารย์ด้านการพัฒนาศึกษาของ University of Tokyo และเจ้าหน้าที่อีกจำนวนหนึ่ง ยังประชุมกันต่อ เพื่อแลกเปลี่ยนความเห็นและหารือแนวทางออกแบบโครงการความร่วมมือระหว่างกัน
ทั้งนี้ ไจก้าเป็นหน่วยงานรัฐของญี่ปุ่นที่ก่อตั้งขึ้นเมื่อ พ.ศ. 2545 มีภารกิจส่งเสริมการเจริญเติบโตทางเศรษฐกิจและความมั่นคงมนุษย์ในประเทศกำลังพัฒนาทั่วโลก ตลอดหลายปีที่ผ่านมา ไจก้าได้เข้ามามีบทบาทสำคัญในประเทศไทย ทำงานร่วมกับภาครัฐตลอดจนภาคประชาสังคม เพื่อผลักดันให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืน ณ ปัจจุบัน ไจก้ามีสำนักงานตั้งอยู่ที่กรุงเทพฯ และยังคงเป็นหนึ่งในหน่วยงานที่มีส่วนเสริมสร้างสัมพันธไมตรีอันดีระหว่างประเทศไทยกับญี่ปุ่น