Loading...

SIIT จัดงาน "FTI meets SIIT" แลกเปลี่ยนข้อมูลการศึกษา-อุตสาหกรรม รองรับการผลิตบัณฑิต

 

สถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธร มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ร่วมกับเครือข่าย จัดกิจกรรม "FTI meets SIIT" แลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม

วันอังคารที่ 22 ธันวาคม พ.ศ.2563

  

     FTI meets SIIT เป็นกิจกรรมที่จัดขึ้นเพื่อแลกเปลี่ยนข้อมูลระหว่างภาคการศึกษาและภาคอุตสาหกรรม เพื่อผลิตบัณฑิตให้มีคุณสมบัติตามที่ภาคอุตสาหกรรมต้องการและยังเป็นการพัฒนาบุคลากรภาคอุตสาหกรรมเพื่อรองรับเทคโนโลยีที่เปลี่ยนแปลงในยุค Digital Transformation และเพื่อเป็นการรองรับการจัดตั้ง Digital IoT Development Academy (DIDA) ในอนาคต โดยมี คุณสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย และ รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวเปิดงาน

     กิจกรรมภายในงานมีการบรรยายในหัวข้อ “ประสบการณ์ในการทำงานร่วมมือกับมหาวิทยาลัยต่าง ๆ” และ “ประสบการณ์การสร้างความร่วมมือระหว่างสถาบันเทคโนโลยีนานาชาติสิรินธรและภาคอุตสาหกรรม” นอกจากนั้นผู้แทนจากองค์กรภาครัฐและภาคเอกชนสามารถเข้าร่วม Focus Group ในหัวข้อต่าง ๆ ได้ ประกอบไปด้วย

1. เทคโนโลยีอัจฉริยะและนวัตกรรมเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการก่อสร้างและบำรุงรักษาอย่างยั่งยืน

     นำเสนอเทคโนโลยีและนวัตกรรมจากศูนย์วิจัยเทคโนโลยีการก่อสร้างและบำรุงรักษา (CONTEC) ซึ่งถูกจัดตั้งขึ้นมาโดยมีเป้าหมายในการพัฒนาเทคโนโลยีเพื่อใช้ในการก่อสร้างโครงสร้างให้เกิดความยั่งยืน โดยทำการวิจัยพัฒนาครอบคลุมขั้นตอนการปฏิบัติงานก่อสร้างอย่างครบวงจร เพื่อให้ได้โครงส้รางที่ไม่เพียงแค่แข็งแรงแต่ยังมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน และการใช้ทรัพยากรในทุกกระบวนการอย่างคุ้มค่า

2. การปรับปรุงผลผลิต ด้วยระบบการผลิตอัตโนมัติและระบบ IoT แบบ Lean

     นำเสนอผลงานที่ได้ร่วมทำกับบริษัทเอกชนในการนำเอาเทคโนโลยีทางวิศวกรรม ช่วยในการเพิ่มประสิทธิภาพการทำงาน เช่น การวางแผนการผลิต การจัดตารางการผลิต โดยใช้เทคโนโลยีสร้างโรงงานจำลอง (Digital Twin) และได้นำเอาเทคโนโลยี IoT มาช่วยในการติดตามความก้าวหน้าในการผลิต เพื่อช่วยให้ผู้บริหารเห็นการดำเนินการแบบ Real Time ทั้งโรงงาน และสามารถใช้ข้อมูลจาก IoT ที่สามารถนำไปใช้งานในโรงงานขนาด SME และ ขนาดใหญ่ ได้อย่างรวดเร็ว

3. เทคโนโลยีและนวัตกรรมวัสดุ และระบบการผลิตที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม

     นำเสนองานวิจัย การย้อนรอยวิศวกรรม และพัฒนาผลิตภัณฑ์นวัตกรรมวัสดุ, การเพิ่มประสิทธิภาพกระบวนการผลิต และระบบการผลิตที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม, การให้คำปรึกษาเพื่อแก้ปัญหาในกระบวนการผลิต, การตรวจสอบสมบัติ โครงสร้างวัสดุ และรับรองสมบัติผลิตภัณฑ์, การฝึกอบรมเชิงปฏิบัติการ ด้านเทคนิคและกระบวนการวิเคราะห์ผลิตภัณฑ์ และวัสดุ, การพัฒนากระบวนการ Lean production และระบบการผลิตที่มุ่งเน้นการสร้างมูลค่าเพิ่ม

4. นวัตกรรมและเทคโนโลยีคอมพิวเตอร์เพื่ออุตสาหกรรมใหม่

     นำเสนอการใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมล้ำสมัยทางด้านคอมพิวเตอร์ เช่น ปัญญาประดิษฐ์ การเรียนรู้ด้วยตนเองของคอมพิวเตอร์ (Machine Learning) และการบริการทางด้านตำแหน่ง (Location Services) มาใช้ในการแก้ปัญหา ลดต้นทุน เพิ่มประสิทธิภาพ และเพิ่มมูลค่าทางอุตสาหกรรม

5. เศรษฐกิจสีเขียว หมุนเวียน ชีวภาพ

     นำเสนองานวิจัยภายใต้ภาควิชาวิศวกรรมและเทคโนโลยีเคมีชีวภาพ สอดคล้องตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน (Sustainable Development Goal) ขององค์การสหประชาชาติ

     SIIT เป็นสถาบันที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย สมาพันธ์เศรษฐกิจญี่ปุ่น (Keidanren) และมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก่อตั้งเมื่อปี 1992 เพื่อสร้างวิศวกร นักเทคโนโลยี และนักวิจัยชั้นสูงที่สามารถสื่อสารภาษาอังกฤษได้ดี เพื่อมาต่อยอดการพัฒนาในภาคอุตสาหกรรมของประเทศไทย

     กว่า 28 ปีที่ผ่านมา SIIT มีความร่วมมือกับภาคอุตสาหกรรมอย่างสม่ำเสมอ โดย SIIT ได้จัดตั้งศูนย์และหน่วยวิจัย ศูนย์ให้คำปรึกษา ศูนย์อบรม เพื่อดำเนินงานวิจัยพัฒนาประกอบกับปฏิบัติงานให้คำปรึกษา แก้ปัญหา และจัดหลักสูตรอบรมให้กับภาคอุตสาหกรรมทั้งในและต่างประเทศ เพื่อเป็นการนำผลการศึกษาวิจัยของอาจารย์และนักศึกษาไปสู่การใช้ประโยชน์จริงในภาคอุตสาหกรรม ยิ่งไปกว่านั้น สถาบันฯ ได้นำโจทย์จากอุตสาหกรรมมาสร้างผลงานวิจัยที่โดดเด่นทั้งระดับประเทศและระดับนานาชาติ และนำองค์ความรู้เหล่านั้นมาใช้ในการเรียนการสอนให้แก่นักศึกษา ซึ่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้ตระหนักถึงความสำคัญของการผลิตบัณฑิตที่มีคุณภาพตรงกับความต้องการของภาคอุตสาหกรรมเพื่อเป็นกำลังสำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยต่อไป