Loading...

ธรรมศาสตร์ มุ่งสู่ ‘มหาวิทยาลัยของประชาชนเพื่อคนทั้งมวล’ คว้ารางวัล Friendly Design Award เป็นครั้งที่ 5 ติดต่อกัน

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ‘สถาบันการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล’ คว้ารางวัล Friendly Design Award 2022 จากมหกรรมอารยสถาปัตย์ฯ เป็นครั้งที่ 5

วันพุธที่ 21 ธันวาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัล “Friendly Design Award 2022” จากมหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6 (Thailand Friendly Design Expo 2022) เมื่อวันที่ 15 ธันวาคม 2565 ในประเภท “สถาบันการศึกษาเพื่อคนทั้งมวล” ในฐานะสถาบันการศึกษาที่มีความโดดเด่นด้านการส่งเสริมและสร้างอารยสถาปัตย์ เพื่อให้ทุกคนสามารถเข้าถึง และใช้ประโยชน์ได้อย่างเท่าเทียม เป็นมิตรกับคนทั้งมวล โดยนับเป็นปีที่ 5 ติดต่อกันที่ได้รับรางวัลดังกล่าว รวมถึง รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ ยังได้รับรางวัลประเภท "คนต้นแบบ ฑูตอารยสถาปัตย์ เป็นครั้งที่ 6 ติดต่อกันอีกด้วย

     รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า ในปี 2565 ที่ผ่านมาภายในมหาวิทยาลัย ได้มีการปรับปรุงพื้นที่ทางกายภาพ โดยปรับปรุงทางลาดกว่า 100 จุด เพื่ออำนวยความสะดวกให้กับผู้ที่ใช้รถเข็นวีลแชร์ รวมถึงยกระดับรถโดยสารไฟฟ้า (EV Bus) ทั้งหมดให้ผู้พิการสามารถเข้าถึงได้ ควบคู่ไปกับการสร้างแอปพลิเคชัน TU Around เพื่อให้นักศึกษาที่มีความพิการทางการมองเห็นตรวจสอบจุดจอดรถตามป้ายผ่านแอปฯ

     นอกจากนี้ ธรรมศาสตร์ยังได้พัฒนานวัตกรรมเพื่อสร้างความเท่าเทียมให้กับสังคมไทยผ่านการออกแบบ สิ่งประดิษฐ์ ตลอดจนนวัตกรรมทางสังคมที่สร้างขึ้นมาเพื่อยกระดับคุณภาพชีวิตให้คนทุกกลุ่ม และลดความเหลื่อมล้ำทางสังคม เช่น บ้านแสนอยู่ดีสำหรับผู้สูงอายุที่มีความพิการ ของหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล โถปัสสาวะชายเคลื่อนที่ แบบจำกัดกลิ่น จากคณะพยาบาลศาสตร์ รถเข็นไฟฟ้าเพื่อผู้พิการทางขา ผลงานจากคณะวิศวกรรมศาสตร์

     รศ.ดร.ชุมเขต กล่าวต่อไปว่า โดยเฉพาะอย่างยิ่งเรื่องการสร้างรายได้ และอาชีพสำหรับผู้พิการ ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่จะทำให้คนกลุ่มนี้ก้าวพ้นจากความยากลำบากได้ ทางคณะสถาปัตยกรรมศาสตร์และการผังเมือง  และหน่วยวิจัยและออกแบบเพื่อคนทั้งมวล ซึ่งได้เล็งเห็นในส่วนนี้จึงได้ออกแบบซุ้มอาชีพ หรือคีออส (Kiosk) สำหรับผู้พิการที่ต้องนั่งรถวีลแชร์ให้สามารถเข้าไปขายของได้ โดยจะมีสัดส่วน และรูปแบบที่รองรับการใช้งานสำหรับคนกลุ่มนี้โดยเฉพาะ เพื่ออำนวยความสะดวกในการประกอบอาชีพในพื้นที่จำกัด

     “ถือเป็นการเชื่อมโยงกันระหว่างนโยบายของภาครัฐที่อยากจะจ้างงานกับภาคเอกชนที่อยากจะส่งเสริมให้เกิดอาชีพของคนพิการ แล้วก็ในส่วนของเราก็คือผู้ออกแบบที่จะให้บริการวิชาการ จนได้การออกแบบที่ใช้งานได้จริงเป็นรูปธรรม” รศ.ดร.ชุมเขต กล่าว

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า สำหรับสิ่งที่ทำให้ธรรมศาสตร์คว้ารางวัลนี้มาได้อย่างสม่ำเสมอ เป็นเพราะความเข้าใจ และมีจุดมุ่งหมายร่วมกันของบุคลากรทุกระดับในการจะสร้างพื้นที่ที่ไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง จึงนำไปสู่การกำหนดในเชิงนโยบายของมหาวิทยาลัยที่ตั้งเป้าหมายไว้ว่าจะเป็นพื้นที่แห่งอนาคตเพื่อคนทั้งมวล (Future Workplace) รวมถึงการสร้างการมีส่วนร่วมกับนักศึกษาที่มีความพิการด้วยการรับฟังความต้องการ หรือปัญหาที่พวกเขาต้องประสบในมหาวิทยาลัย เพื่อที่จะพัฒนาพื้นที่ให้ตอบโจทย์ได้อย่างเกิดประโยชน์สูงสุดกับทุกคน

     รศ.เกศินี กล่าวอีกว่า ฐานคิดเหล่านี้ยังมีส่วนทำให้เกิดการต่อยอดสร้างสรรค์นวัตกรรมต่าง ๆ เพื่อรับใช้สังคม และประเทศชาติ ซึ่งสอดคล้องกับเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืนที่ 10 (Sustainable Development Goals: SDG) ในเรื่องการลดความไม่เสมอภาคภายในประเทศและระหว่างประเทศ (Reduce inequality within among countries) ด้วย

     “เมื่อกระบวนการเหล่านี้มาผสมผสานกัน ทำให้ 5 ปีที่ผ่านมาเราสามารถขับเคลื่อนในเรื่องนี้ได้อย่างก้าวกระโดด รวมถึงมีความต่อเนื่องและยั่งยืน ก้าวไปสู่การเป็นมหาวิทยาลัยเพื่อประชาชนของคนทั้งมวล” รศ.เกศินี กล่าว

     ทั้งนี้ รศ.ดร.ชุมเขต แสวงเจริญ รองอธิการบดีฝ่ายบริหารศูนย์รังสิตด้านกายภาพ  ยังได้รับรางวัล ‘Friendly Design Awards 2022’ ประเภท "คนต้นแบบ ฑูตอารยสถาปัตย์" จากมหกรรมอารยสถาปัตย์และนวัตกรรมสุขภาพเพื่อคนทั้งมวล ครั้งที่ 6 อีกด้วย