Loading...

ธรรมศาสตร์จัดงาน ‘วันเชิดชูเกียรตินักวิจัยฯ ประจำปี 2567’ ตอกย้ำความเป็นแนวหน้าบุคลากรวิจัยชั้นนำ

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดงาน วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2567 เพื่อยกย่องและสดุดีบุคลากรนักวิจัยธรรมศาสตร์

วันพฤหัสบดีที่ 22 พฤษภาคม พ.ศ.2568

     เมื่อวันที่ 21 พฤษภาคม 68 มหาวิทยาลัยธรรมศาตร์ นำโดยฝ่ายวิจัยและนวัตกรรมม ร่วมกับสถาบันวิจัยและให้คำปริกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) จัดงานวันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2567 ขึ้น ณ ห้อง Concert Hall อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต เพื่อเป็นการยกย่องนักวิจัยของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่สร้างชื่อเสียงให้กับมหาวิทยาลัย ผ่านการสร้างสรรค์งานวิจัยและนวัตกรรมอันเป็นประโยชน์แก่สังคมและประเทศชาติ

     ในปีนี้การจัดวันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2567 ได้รับเกียรติจาก ศ. ดร.สุรพล นิติไกรพจน์ นายกสภามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เป็นประธานในพิธีมอบรางวัล และ ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวต้อนรับ พร้อมด้วย รศ. ดร. ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร รองอธิการบดีีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คณาจารย์ นักวิจัย และบุคลากรประจำคณะ/หน่วยงานต่าง ๆ พร้อมทั้งครอบครัวของผู้ได้รับรางวัลฯ เข้าร่วมแสดงความยินดี

     ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ ชัชวาลย์ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ปัจจุบันมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ไม่ได้เป็นเลิศแค่สายสังคมศาสตร์ แต่เป็นมหาวิทยาลัยที่มีความเป็นเลิศในทุกกลุ่มสาขาวิชา ในวันนี้เป็นวันที่มีบุคลากรของธรรมศาสตร์ที่ถือว่าเป็นสุดยอดนักวิจัย มาอยู่รวมกันมากที่สุดวันหนึ่ง หลายท่านทำงานวิจัยมามากกว่า 10 ปี เป็นบุคลากร นักวิจัยที่ทรงคุณค่าของธรรมศาสตร์ ขอแสดงความยินดีกับบุคลากรวิจัยของธรรมศาสตร์ทุกท่าน ขอบคุณที่ช่วยกันทำงานพาธรรมศาสตร์ของเราไปสู่ความเป็นเลิศด้านวิชาการ

     “ในอนาคต เราต้องช่วยกันพามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ของเรา สู่การเป็นมหาวิทยาลัยชั้นนำของประเทศ และของภูมิภาคนี้ให้ได้ ผมเชื่อมั่นว่า ด้วยความตั้งใจและพลังสติปัญญา พลังกาย พลังใจของทุกท่านที่มารวมตัวกันในวันนี้ จะเป็นกำลังสำคัญในการพัฒนามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นมหาวิทยาลัยสมบูรณ์แบบชั้นนำแห่งอนาคต” ศ. ดร.ศุภสวัสดิ์ กล่าวทิ้งท้าย

     ด้าน รศ.วิทยา ด่านธำรงกูล ผู้้อำนวยการสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษาแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (TU-RAC) กล่าวว่า การได้มาอยู่ท่ามกลางนักวิจัยที่ร่วมทำงานกับทางสถาบันฯมาอย่างเคียงบ่าเคียงไหล่ ปีละกว่า 500 คน และได้เห็นความสำเร็จของนักวิจัย เป็นเรื่องที่น่าปราบปลื้มใจเป็นอย่างยิ่ง ในปีที่ผ่านมา เราทำงานด้านการให้คำแนะนำปรึกษา และทำงานวิจัยให้กับหน่วยงานภายนอก รวมทั้งสิ้นกว่า 400 โครงการ เป็นมูลค่า 1,750 ล้านบาท เป็นตัวเลขที่ชี้ให้เห็นว่าเรายืนอยู่ระดับแนวหน้าของสถาบันวิจัยและให้คำปรึกษา ในสถาบันการศึกษา และผมเชื่อว่าเราจะก้าวไปข้างหน้าด้วยพลังที่เข้มแข็ง

     “ผมภูมิใจที่ได้อยู่ท่ามกลางนักวิจัย ที่ผมเรียกว่าเป็น ‘ยอดมนุษย์’ ที่เป็นผู้สร้างสรรค์ ปลุกปั้นโครงการงานวิจัยต่าง ๆ ที่มีคุณภาพ ซึ่งเป็นหัวใจหลักของการทำงานวิจัยและนวัตกรรม ที่ TU-RAC ยึดมั่น เพื่อตอบโจทย์ ของสังคม สิ่งที่เราพยายามผลักดันเสมอ คือการสร้างเวทีให้กับนักวิจัยรุ่นใหม่มาร่วมทำงาน เพื่อขยายฐานนักวิจัยออกไปอย่างกว้างขวาง รวมไปถึงการสร้าง Network กับหน่วยงานภายนอก ที่จะสามารถทำให้เราเข้าถึงโจทย์วิจัยใหม่ ๆ และนำชื่อเสียงของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ไปยืนอยู่แถวหน้าของประเทศไทยได้”

     รศ. ดร. ม.ล.พินิตพันธุ์ บริพัตร รองอธิการบดีีฝ่ายวิจัยและนวัตกรรม มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า ในปี 2567 ที่ผ่านมา บุคลากรของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ได้รับรางวัลด้านการวิจัยและนวัตกรรมทั้งจากหน่วยงานภายใน หน่วยงานภายนอกทั้งระดับชาติและระดับนานาชาติเป็นจำนวนมาก มหาวิทยาลัยจึงได้กำหนดจัดงาน "วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2567" ขึ้น เพื่อเป็นการเชิดชูเกียรติบุคลากรทางการวิจัยของมหาวิทยาลัย ที่ได้มุ่งมั่นผลิตผลงานวิชาการและงานวิจัยออกสู่สาธารณชนอย่างต่อเนื่อง สร้างบรรยากาศทางวิชาการด้านวิจัย การได้แลกเปลี่ยนเรียนรู้ประสบการณ์ในการทำวิจัย อีกทั้งยังเป็นการประชาสัมพันธ์ผลงานวิจัยแก่ประชาคมธรรมศาสตร์และสาธารณชนให้รับทราบและชื่นชมผลงานที่ได้รับรางวัลของบุคลากรด้านการวิจัยของมหาวิทยาลัย

     ทั้งนี้ วันเชิดชูเกียรตินักวิจัย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ประจำปี 2567 ได้มีการมอบรางวัลแบ่งออกเป็น 7 ประเภท รวมทั้งสิ้น 113 คน ประกอบด้วย

     1. ผู้ได้รับการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ จำนวน 3 คน

     2. ผู้ได้รับโล่รางวัลพระราชทานสมเด็จพระกนิษฐาธิราชเจ้า กรมสมเด็จพระเทพรัตนราชสุดาฯ สยาบบรมราชกุมารี เมธีวิจัยอาวุโส และนักวิจัยดีเด่นแห่งชาติ จำนวน 2 คน

     3. ผู้ได้รับการกำหนดตำแหน่งศาสตราจารย์ ได้รับเงินเดือนขั้นสูง จำนวน 4 คน

     4. ผู้ได้รับรางวัลผลงานวิจัยดีเด่น มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จำนวน 19 คน

     5. ผู้ได้รับทุนวิจัยโครงการขนาดใหญ่เกิน 20 ล้านบาท จำนวน 13 คน

     6. ผู้ได้รับรางวัลนักวิจัยรุ่นใหม่ดีเด่นระดับส่วนงาน จำนวน 2 คน

      และ 7. ผู้ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณทางด้านการวิจัยจากหน่วยงานภายนอก จำนวน 51 คน