Loading...

ธรรมศาสตร์ เจ้าภาพจัดประชุม ทปอ.พร้อมเปิด Thammasat AI Center ครั้งแรก!

มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จัดประชุมสามัญ ทปอ. และการประชุมใหญ่สามัญสมาคม ทปอ. ครั้งที่ 4/2565 และการประชุมสามัญ สออ.ประเทศไทย ครั้งที่ 2/2565

วันจันทรที่ 22 สิงหาคม พ.ศ.2565

     มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ นำโดย รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ พร้อมด้วยคณะผู้บริหาร เป็นเจ้าภาพจัดการประชุมสามัญที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และการประชุมใหญ่สามัญสมาคมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย ครั้งที่ 4/2565 และการประชุมสามัญสมาคมสถาบันการศึกษาขั้นอุดมแห่งภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ประจำประเทศไทย (สออ.ประเทศไทย) ครั้งที่ 2/2565 เมื่อวันที่ 21 สิงหาคม 2565 ณ อาคารเรียนกลุ่มสังคมศาสตร์ 3 มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต โดยได้รับเกียรติจาก ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) เข้าร่วมประชุมปรึกษาหารือเรื่อง "ร่วมกันขับเคลื่อนนโยบายของ กระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม"

     ศาสตราจารย์พิเศษ ดร.เอนก เหล่าธรรมทัศน์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัย และนวัตกรรม (อว.) กล่าวว่า ผมมีความยินดีที่ได้มาพบกับท่านอธิการบดีจากหลายมหาวิทยาลัย และมีความยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ได้กลับมามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์อีกครั้ง ผมเคยได้เสนอให้ทำหลักสูตร WINS ย่อมาจาก Wisdom-Innovation-Network-Serving Society การสร้างเครือข่ายการทำงานร่วมกันของผู้บริหารระดับสูงขององค์กร ให้เป็นผู้มีศักยภาพและขีดความสามารถในการสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่การพัฒนาสังคมและการศึกษาไทย ปัจจุบันมีการจัดมาแล้ว 3 รุ่น ได้แก่ WINS 1, WINS 2 และ WINS X หลักสูตร WINS โดยขอให้ทำไปอีก 2 รุ่น คือ WINS 3 และ WINS Y

     ตลอดการ 2 ปีผ่านมา เต็มไปด้วยการปรับเปลี่ยน (Disruptive Change) คือ การแบ่งมหาวิทยาลัยเป็นหลายประเภท แต่ละประเภทมีความเป็นเลิศต่างกัน ได้แก่ 1. มหาวิทยาลัยวิจัย 2. มหาวิทยาลัยที่เน้นเทคโนโลยี 3. มหาวิทยาลัยที่เน้นการทำประโยชน์ให้กับพื้นที่ ท้องที่ ชุมชน 4. ประเภทศาสนา และวัฒนธรรม และ 5. ประเภทสุนทรีย์ อารยะ ศิลปรรม โดยความเป็นเลิศในแต่ละด้านจะแสดงออกได้ว่าสามารถนำไปใช้ประโยชน์ได้ ซึ่งไม่ได้อยู่แต่บนกระดาษอย่างเดียว อย่างเช่นมหาวิทยาลัยวิจัย ต้องคิดอยู่ตลอดว่าต้องเอาของที่อยู่ในหน้ากระดาษ ไปสู่การปฏิบัติจริง และต้องบรรลุผล

     รวมถึงการทำ National Credit Bank หรือ ธนาคารหน่วยกิตแห่งชาติ จะเป็นระบบเก็บหน่วยกิตของมหาวิทยาลัยทั่วประเทศ โดยสามารถเรียนข้ามมหาวิทยาลัยได้ เรียนก่อนเข้ามหาวิทยาลัยได้ เรียนโดยไม่ต้องเข้ามหาวิทยาลัยได้ และหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ทปอ. จะช่วยสนับสนุนส่งเสริมให้เกิด National Credit Bank ซึ่งไม่เพียงแต่มหาวิทยาลัยเท่านั้น แต่หน่วงงานหรือองค์กรที่ทำเพียงบางเรื่องสามารถเข้าร่วมได้ เราจะไม่เอาความเป็นทางการเข้ามาหยุดยั้งการพัฒนาเติบโต เพราะความรู้มีการเปลี่ยนแปลงตลอดเวลา ฉะนั้น ถ้าเราทำได้ อว.จะเป็นจุดสำคัญในการเปลี่ยนแปลงประเทศไทย

     รศ.เกศินี วิฑูรชาติ อธิการบดีมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า รู้สึกเป็นเกียรติอย่างยิ่งที่ได้มีโอกาสต้อนรับทุกท่านเข้าสู่การประชุมที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย โดยจะมีการแสดงความร่วมมือฉันท์มิตรของสถาบันอุดมศึกษาของประเทศไทย ผ่านการปลูกต้นไม้ประจำสถาบันของผู้บริหารมหาวิทยาลัยทุกท่านในกิจกรรม "ธรรมศาสตร์มิตราวนา" เราจะดูแล รักษา ให้ต้นไม้ของแต่ละสถาบันเติบโตในพื้นที่ของธรรมศาสตร์ต่อไป พร้อมกับการจัดกิจกรรม "Thammasat Campus Life on Tour" เยี่ยมชมมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย และประธาน สออ.ประเทศไทย กล่าวว่า รู้สึกยินดีที่ได้มาร่วมประชุมในวันนี้ ภายในงานมีการจัดนิทรรศการซึ่งสิ่งที่น่าสังเกตคือ ธรรมศาสตร์มีการทำงานร่วมกับภาคเอกชนที่ชัดเจน มีการนำสิ่งใหม่ ๆ เข้ามาใช้ประกอบในการศึกษาเล่าเรียนของนักศึกษา มีครูอาจารย์เข้มแข็ง มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์จึงเป็นมหาวิทยาลัยหลักของประเทศชาติ ดังที่ปรากฏมาตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน

     ทั้งนี้ ได้มีการจัดแถลงข่าวระบบการคัดเลือกกลางบุคคลเข้าศึกษาในสถาบันอุดมศึกษาปีการศึกษา 2566 (TCAS66) โดย ศ.ดร.บัณฑิต เอื้ออาภรณ์ ประธานที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย, รศ.ดร.ชูศักดิ์ ลิ่มสกุล ประธานคณะกรรมการดำเนินงาน TCAS66, รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS66 และ ผศ.ดร.ปาริยา ณ นคร ผู้จัดการระบบจัดสอบ TCAS66

     รศ.ดร.ชาลี เจริญลาภนพรัตน์ ผู้จัดการระบบ TCAS66 และผู้ช่วยอธิการบดีฝ่ายรับเข้าศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า TCAS66 ยังคงรอบการสมัคร 4 รอบ และมีรูปแบบการสมัคร 4 รูปแบบ เหมือนเดิมคือ รอบที่ 1 รูปแบบ Portfolio, รอบที่ 2 รูปแบบ Quota, รอบที่ 3 รูปแบบ Admission และรอบที่ 4 รูปแบบ Direct Admission ส่วนการเปลี่ยนแปลงการสอบ TCAS66 มีประเด็นเปลี่ยนแปลง 5 ประเด็น คือ

   1.) ปรับรายวิชาสอบใหม่ TGAT, TPAT และ A-Level 16 วิชา (เพิ่มรายวิชาภาษาสเปน รหัส 89 อยู่ในกลุ่มภาษาต่างประเทศ) ทั้งนี้ กลุ่มรายวิชาภาษาต่างประเทศย้ายมาจาก PAT7 ค่าสมัครสอบจึงลดลง รวมถึงเวลาที่ใช้ในการสอบมีระยะเวลาสั้นลง และจำนวนข้อสอบลดลงเหลือ 50 ข้อ

   2.) การประกาศผลสอบ เดิมแต่ละวิชาจะประกาศคะแนนรวม แต่ในปีนี้จะมีการประกาศคะแนนสอบแยกรายส่วน ได้แก่ วิชา TGAT และ TPAT2

   3.) วิชา A-Level: Math 1 และ Math 2 จัดสอบแยกเวลากัน ทำให้ผู้สมัครสอบสามารถสมัครได้ทั้ง 2 วิชา รวมถึงมีการยกเลิกการสอบวิชาภาษาอาหรับ

   4.) แยกการสอบออกเป็น 2 ช่วง เพื่อลดการกระจุกตัวของการสอบที่อยู่ในช่วงเดือนมีนาคม โดยช่วงธันวาคม 65 สอบวิชา TGAT/TPAT และช่วงมีนาคม 66 สอบวิชา A-Level

   5.) การสอบ TGAT/TPAT2-4 มีทั้งแบบ Computer-based (CBT) และ Paper-based (PBT) โดยค่าสมัครสอบเท่ากัน ซึ่งการสอบแบบ CBT เป็นทางเลือกใหม่ ข้อดีคือ ลดการผิดพลาดในการฝนกระดาษคำตอบ กระดาษคำตอบหาย และผู้เข้าสอบจะได้ทราบคะแนนได้รวดเร็วภายใน 3 วันหลังจากสอบวิชาสุดท้ายเสร็จ โดยผลสอบวิชา TGAT/TPAT สามารถใช้ประกอบการพิจารณาในรอบ Portfolio/Quota ได้


     

     นอกจากนี้ ภายในงานมีการจัดแสดงนิทรรศการภายในห้อง Thammasat AI Center การจัดแสดงนิทรรศการผลงานและนวัตกรรมจากหน่วยงานภายในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ อาทิ Thammasat EECmd ศูนย์พัทยา, SDGs @TU, วิทยาลัยแพทยศาสตร์นานาชาติจุฬาภรณ์, คณะแพทยศาสตร์, UDDI Center คณะสถาปัตยกรรมศาสตร์ฯ, คณะวิศวกรรมศาสตร์ สาขาเครื่องกล รวมถึงหน่วยงานอื่น ๆ ภายนอกมหาวิทยาลัย อย่างนิทรรศการ Phayao Learning City จากมหาวิทยาลัยพะเยา เป็นต้น