Loading...

นักศึกษาศิลปกรรมศาสตร์ ธรรมศาสตร์ ออกแบบลายผ้าไหมไทย คว้าอันดับ 1 เวทีระดับประเทศ

นักศึกษาศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบลายผ้าไหม โครงการ The 4th Next Big Silk Designer Contest

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ.2566

     อรรถพล มีพันธ์ นักศึกษาชั้นปีที่ 3 สาขาศิลปะการออกแบบพัสตราภรณ์ เอกสิ่งทอ คณะศิลปกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดออกแบบลายผ้าไหมด้วยผลงาน “ท้องไร่ท้องนา” จากโครงการ The 4th Next Big Silk Designer Contest จัดโดย สมาคมส่งเสริมผ้าไหมและวัฒนธรรมไทย โดยนำเสนอความงามเชิงความคิดสร้างสรรค์ในการออกแบบที่สามารถสวมใส่ได้จริง และต่อยอดในเชิงธุรกิจ เพื่อส่งเสริมให้คนทั่วไปหันมาใส่ผ้าไทย อีกทั้งส่งเสริมผู้ประกอบการผ้าไทยให้ยังคงอยู่และเติบโตได้อย่างยั่งยืน โดยผลงานที่เข้าประกวดจะต้องมีการผสมผสานการออกแบบประยุกต์ได้อย่างกลมกลืน สวยงาม และมีอัตลักษณ์ในความเป็นไทยร่วมสมัย โครงการนี้เป็นการประกวดของนิสิตนักศึกษาทั้งภาครัฐและเอกชนทั่วประเทศ ตัดสินโดยคณะกรรมการผู้ทรงคุณวุฒิ และดีไซน์เนอร์ชื่อดังของประเทศเทศไทย

     อรรถพล มีพันธ์ เปิดเผยว่า ผลงาน “ท้องไร่ท้องนา” มาจากภาพบรรยากาศของการทำนาทำไร่สวนที่พบเห็นเป็นประจำในวัยเด็ก ไร่นาถือเป็นแหล่งทำมาหาเลี้ยงชีพของเกษตรกรมาอย่างยาวนาน ซึ่งต้องใช้ความแข็งแรงและความอดทนของร่างกาย เพื่อให้ได้มาซึ่งผลผลิตไปขายในท้องตลาด หรือเก็บไว้กินเองภายในครัวเรือน จึงนำเสนอผ้าทอภายใต้แนวคิดที่สะท้อนพลังแห่งความแข็งแกร่งของอาชีพเกษตรกรรมที่ยังคงสร้างสรรค์ความอุดมสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

     ผลงาน “ท้องไร่ท้องนา” จึงได้แรงบันดาลใจจากการปลูกข้าวในลักษณะนาบันไดของทางภาคเหนือจากการทำงานเกษตรกรรมของชาวนา จึงได้นำลักษณะรูปร่างสี่เหลี่ยมของแปลงนาซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ผสมผสานกับความคดโค้งของเส้นทางเดินบนภูเขา ลดทอนกลายมาเป็นลวดลายใหม่ที่มีความร่วมสมัยมากขึ้น

     กระบวนการออกแบบลายผ้า เริ่มจากค้นหาภาพถ่ายที่ตรงกับแรงบันดาลใจของเรา และเริ่มสเก็ตซ์รูปร่างที่เราสนใจ ลดทอนรูปร่างให้เป็นลวดลายกราฟิก และนำรูปร่างแต่ละส่วนมาต่อลายให้กลายเป็นแม่แบบลาย หลังจากได้แม่แบบลายก็นำมาแม่แบบลายมาต่อลายกันอีกครั้ง โดยนำมาต่อแบบแถวตรง แบบพลิกกลับด้านสลับไปมา หรือแบบพลิกหมุนไปเรื่อย ๆ เป็นต้น โดยเลือกใช้ไหมไทยพันธุ์พื้นบ้านจากจังหวัดศรีสะเกษ คือไหมน้อยเป็นเส้นไหมขนาดเล็ก มีความเรียบเสมอกัน และมันวาว ทำให้เนื้อผ้าที่ทอออกมามีความเบา เงางาม

     โดยเลือกใช้สีเหลืองจากสีของเมล็ดข้าวเปลือกให้ความรู้สึกอุดมสมบูรณ์ ตัดด้วยสีน้ำตาลดำจากสีของแร่ธาตุในดินบนภูเขาให้ความรู้สึกแข็งแกร่ง ทนทาน กลายมาเป็นผืนผ้าที่สะท้อนพลังแห่งความแข็งแกร่งของอาชีพเกษตรกรรมที่ยังคงสร้างสรรค์ความอุดมสมบูรณ์อยู่ตลอดเวลา

     “การได้รับรางวัลชนะเลิศในครั้งนี้ รู้สึกดีใจ เพราะถือเป็นหนึ่งในโอกาสที่ทำให้เราได้สร้างสรรค์ผลงานออกมาให้ทุกคนได้รับชม มันทำให้เราเรียนรู้อะไรหลายอย่างเพิ่มขึ้น เช่น การวางแผนงาน การจัดสรรเวลา และข้อผิดพลาดที่เกิดขึ้นระหว่างการดำเนินงาน และนำไปพัฒนาผลงานตนเองอื่น ๆ ให้ดีขึ้นในโอกาสต่อไป” อรรถพล กล่าวทิ้งท้าย

     ในอนาคตจะมีการนำลายผ้านี้ไปสั่งผลิตเพิ่มเติมกับชุมชนใกล้บ้านเพื่อให้มีรายได้กระจายไปยังคนในท้องถิ่น และนำผ้าที่ได้มาไปใช้ในการออกแบบเป็นผลิตภัณฑ์ เช่น ตัดเย็บกระเป๋า ร่วมกับ หนัง, ผ้าแคนวาส หรือตัดชุดเครื่องแต่งกาย เป็นต้น

     นอกจากนี้ ปุณยวีร์ จันทอน เอกออกแบบแฟชั่น ชั้นปีที่ 3 ยังได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับสอง การประกวดออกแบบชุดผ้าไหมไทย จากผลงาน Mother’ Forest และ ภาณุวัฒน์ จันทร์ศิริ เอกออกแบบแฟชั่น ชั้นปีที่ 3 ได้รับรางวัลชมเชย การประกวดออกแบบชุดผ้าไหมไทย จากผลงาน ปลากัดไทย