Loading...

นักศึกษาพาณิชยศาสตร์ฯ มธ. สร้างโมเดลธุรกิจ “Rest in Peach” คว้ารางวัลใหญ่ 88 INNOVBIZ

Rest in Peach โมเดลธุรกิจการจัดการความตาย จากนักศึกษาคณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ คว้ารางวัล Best Innovation เวที 88 INNOVBIZ

วันจันทร์ที่ 23 มกราคม พ.ศ.2566

     เมื่อความตายเป็นเรื่องใกล้ตัว... ทีม Work hard, Die fast นักศึกษาชั้นปีที่ 4 หลักสูตรควบตรี-โท ทางการบัญชีและบริหารธุรกิจ (IBMP) คณะพาณิชยศาสตร์และการบัญชี มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์  ประกอบด้วย จิระนันท์ คำแสน, ศุภนันท์ พิทักษ์ไตรรงค์, รมิตา มานิตย์โชติพิสิฐ, ปัญญาพร หอมเหม และ จิรธัญ สกุลช่างสัจจะทัย จึงคิดโมเดลธุรกิจ Rest in Peach แพลตฟอร์มบริการการจัดการความตายแบบครบวงจรขึ้น จนสามารถคว้ารางวัล Best Innovation ในงาน 88 INNOVBIZ: Designed for Better Life, Better Society จุดประกายไอเดียสตาร์ตอัปขับเคลื่อนสังคมไทย จัดโดย มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ณ อุทยานการเรียนรู้ป๋วย 100 ปี SDGs Lab มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต

     รมิตา มานิตย์โชติพิสิฐ เปิดเผยว่า ชื่อทีม “Work hard, Die fast” ได้แรงบันดาลใจการตั้งชื่อทีมจากการที่ขณะนั้นสมาชิกในทีมมีการฝึกงานไปด้วยระหว่างที่จัดทำโปรเจกต์นี้ จึงเกิดเป็นไอเดียที่นำวลีนี้เป็นชื่อทีมเพื่อเตือนใจให้ทีมทำงานอย่างมีประสิทธิภาพและไม่บั่นทอนร่างกายและจิตใจจนเกินไป ที่สำคัญคือเป็นชื่อทีมที่สอดคล้องกับโปรเจกต์ Rest in Peach ซึ่งเกี่ยวกับการจัดการความตาย

     จุดเริ่มต้นโปรเจกต์มาจากหนึ่งในสมาชิกของทีมมีความสนใจเกี่ยวกับความตาย พอสมาชิกคนอื่นมองกลับมาก็พบว่าคนรอบข้างก็มีความสนใจเกี่ยวกับเรื่องความตายด้วยเช่นกัน รวมไปถึงการที่ผู้คนในโซเชียลมีเดียมีการพูดถึงเรื่องความตายอย่างแพร่หลายมากขึ้น และเมื่อมองในตลาดการจัดการความตายในประเทศไทยพบว่ายังมีช่องว่างสำหรับธุรกิจที่สามารถเข้ามาดำเนินธุรกิจในตลาดดังกล่าวได้

     จิระนันท์ คำแสน เปิดเผยต่อว่า Pain point ต่าง ๆ เกี่ยวกับการจัดการความตายที่คนในสังคมไทยพบเจอ มีดังนี้ 1. ขั้นตอนการเตรียมตัวยุ่งยาก เข้าถึงข้อมูลได้ยาก ข้อมูลกระจัดกระจาย 2. คนทั่วไปไม่รู้ว่าสามารถแสดงเจตนาได้ ครอบครัวไม่รู้เจตนาช่วงสุดท้ายของชีวิต 3. นอกจากความเสียใจกับการจากไปแล้วยังมีปัญหาเรื่องการดำเนินการจัดงานศพ ต้องการคนช่วยเหลือ 4. ความทรงจำสำคัญต่าง ๆ ที่ยังอยากเก็บไว้ให้คนที่รักได้ดูเมื่อนึกถึง และ 5. การจัดงานศพมีราคาแพง รัฐบาลมีเงินอุดหนุนให้ไม่เพียงพอ ทำให้ไม่ใช่ทุกคนที่สามารถเข้าถึงงานศพแบบที่ตนเองต้องการได้

     ปัญหาทั้งหมดทำให้ทีมเกิดความคิดที่ว่าแม้เราจะเลือกเกิดไม่ได้ แต่เราก็ควรเลือกที่จะตายดีได้หรือเปล่า และสิทธิการตายดีเป็นของทุกคนไม่ใช่หรือ จึงทำให้พวกเราสร้างสตาร์ตอัป Rest in Peach ขึ้นมา เป็นแพลตฟอร์มตัวกลางในการให้บริการการจัดการความตายแบบครบวงจร ซึ่ง Rest in Peach นั้น เป็นชื่อที่คล้องจองกับ Rest In Peace ตามที่ทุกคนเข้าใจที่แปลว่าการไปสู่สุขคติ และมีการนำคำว่า Peach มาใช้เพื่อให้ความตายดูเป็นสิ่งที่ไม่น่ากลัว และสามารถเข้าถึงกลุ่มผู้ใช้ได้ทุกเพศทุกวัย

     ศุภนันท์ พิทักษ์ไตรรงค์ กล่าวว่า สมาชิกทุกคนในทีมมีส่วนร่วมในการทำงานและตัดสินใจร่วมกันในทุกส่วนการทำงานของโปรเจกต์นี้ โดยมีการแบ่งหน้าที่ความรับผิดชอบหลักเป็น 4 ทีมย่อย ดังนี้ 1. ทีม Research Analysis คือทีมที่ทำหน้าที่ค้นหาข้อมูลต่าง ๆ ทั้งในส่วน Primary Research และ Secondary Research เพื่อซัพพอร์ตบริการของเรา ผู้เล่นในตลาด ความต้องการของผู้บริโภค เป็นต้น ทั้งจากการทำ Primary Research และ Secondary Research 2. ทีม Strategy คือทีมที่คิดกลยุทธ์ในการเข้าถึงลูกค้า และการออกแบบผลิตภัณฑ์ที่มีความแตกต่างจากในตลาด ณ ปัจจุบัน และคิดกลยุทธ์ที่ทำให้สตาร์ตอัปทีมเราสามารถเติบโตได้จริง 3. ทีม Prototype คือทีมที่ทำหน้าที่ออกแบบ UX/UI ของแพลตฟอร์ม Rest In Peach ให้สามารถใช้งานได้จริงและใช้งานง่าย และสุดท้าย 4. ทีม Finance คือทีมที่คิดค่าใช้จ่าย ราคาของบริการและการประเมินมูลค่าของสตาร์ตอัป

     ปัญญาพร หอมเหม กล่าวเสริมว่า ในอนาคตทีมได้คิด Growth Strategies แบบ Product Development โดยจะมีการออกฟีเจอร์ใหม่ ๆ เรื่อย ๆ เพื่อครบคลุมการบริการให้ครบวงจรและทำให้ลูกค้าเข้ามาใช้บริการแพลตฟอร์มนี่มากขึ้น และทางทีมมองว่าโมเดลนี้เป็นโมเดลธุรกิจที่สามารถเป็นจริงได้ในอนาคตเพราะจากการที่ทีมได้ศึกษาค้นคว้ารวมถึงได้ไปสัมภาษณ์ผู้คน พบว่าการจัดการความตายของประเทศเรายังเป็นปัญหาอยู่จริง รวมถึงในยุคปัจจุบันผู้คนเริ่มมี Awareness ด้านความตายมากยิ่งขึ้น และกล้าที่จะผู้คุยเรื่องความตายมากขึ้น มีความคิดเห็นต่อเรื่องการตายเป็นเรื่องธรรมดา และไม่ต้องการที่จะตายไปแล้วเป็นภาระให้คนที่รัก จึงมีแนวคิดออกแบบการตายของตนไว้ล่วงหน้า ซึ่งการที่เราสามารถเชื่อมต่อการจัดการความตายทุกบริการกับเทคโนโลยีเข้าด้วยกัน จะทำให้การออกแบบการตายเป็นเรื่องที่ง่ายและมีราคาที่เหมาะสม

     “สำหรับความรู้สึกกับรางวัลที่ได้รับในครั้งนี้ ทางทีมรู้สึกยินดีที่ได้รับรางวัล Best Innovation Award ในการแข่งขันในครั้งนี้เป็นอย่างมาก นอกจากเงินรางวัล โล่เกียรติบัตร หรือของรางวัลต่าง ๆ แล้ว ทางทีมรู้สึกว่าการทุ่มเทในครั้งนี้ประสบความสำเร็จและสัมฤทธิ์ผล นอกจากนี้ทีมยังคาดหวังว่าไอเดียสตาร์ตอัปของ Rest in Peach จะได้รับการต่อยอดจนสามารถเกิดขึ้นได้จริงในอนาคต” จิรธัญ สกุลช่างสัจจะทัย กล่าวทิ้งท้าย

ขอบคุณรูปภาพจากเพจ 88Innovbizofficial