Loading...

“การออกแบบอาคารเพื่อสิ่งแวดล้อม” ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รับรางวัล IFLA AAPME Awards 2020

งานออกแบบ Landscape ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ได้รับรางวัล IFLA AAPME AWARDS 2020: Global Call for Resilience

วันอังคารที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2564ฃ

     งานออกแบบ Landscape ของโรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อาคาร 3 อยู่ระหว่างการก่อสร้าง) ออกแบบโดย บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ และสถาบันอาศรมศิลป์ ได้รับรางวัล IFLA AAPME AWARDS 2020 ในประเภท Award of Excellence หมวดหมู่ Analysis and Master Planning จัดโดย IFLA (International Federation of Landscape Architects) ภายใต้คอนเซปต์ Global Call for Resilience มีผลงานเข้าร่วมประกวดมากถึง 280 ผลงาน จากประเทศที่ตั้งอยู่ในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิก ตะวันออกกลาง และแอฟริกา โดยรางวัลดังกล่าวจะมอบให้แก่โครงการที่ประสบความสำเร็จในการส่งเสริมการปรับตัวต่อการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ การปฏิบัติที่รับผิดชอบต่อส่วนรวม และการแสวงหาความพยายามร่วมกันเพื่อแก้ไขปัญหาสิ่งแวดล้อม

     รศ.ดร.อนุชาติ พวงสำลี คณบดีคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ ได้ร่วมมือกับทีมภูมิสถาปนิกของบริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ และสถาบันอาศรมศิลป์ ระดมแนวคิดในการออกแบบภูมิทัศน์ของโครงการอาคารปฏิบัติการสอนและการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ให้เป็นไปตามแนวคิดที่สอดคล้องกับนโยบายของมหาวิทยาลัยที่มุ่งเน้นพัฒนาผู้เรียนที่เป็นการเรียนการสอนแบบ Active Learning สู่การเป็นผู้นำด้านการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

     โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มีพื้นที่ 19 ไร่ โดยแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ส่วน ส่วนที่ 1 คือ ความสัมพันธ์สอดคล้องระหว่างภายในกับภายนอก โรงเรียนสาธิตฯ มีแนวคิดที่จะพัฒนาผู้เรียนในรูปแบบการเรียนการสอนแบบ Active Learning ถือว่าเป็นนวัตกรรมใหม่ของการจัดการศึกษาในบ้านเรา ไม่ได้มุ่งเน้นให้ผู้เรียนยึดติดเฉพาะแค่ในห้องเรียนเท่านั้น พื้นที่ภายนอกก็สามารถเป็นพื้นที่ของการเรียนรู้ได้ตลอดเวลา ซึ่งตรงนี้ก็เป็นประโยชน์ไม่ใช่เฉพาะแค่ตัวนักเรียนเอง แต่ทุก ๆ คนที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็นคุณครู บุคลากร ผู้ปกครอง หรือแม้กระทั่งบุคคลภายนอกที่จะมีโอกาสได้มาใช้งานในโรงเรียน ก็ได้รับประโยชน์เช่นกัน

     ส่วนที่ 2 คือ ตัวภายนอกได้วางระบบนิเวศที่หลากหลาย รองรับการเรียนรู้หลากหลายรูปแบบ โดยแบ่งเป็นโซนย่อย ๆ มีแนวคิดว่าจะทำอย่างไรให้เด็กสามารถเติบโตและเรียนรู้เรื่องของธรรมชาติ เรื่องของสิ่งแวดล้อมได้อย่างลึกซึ้ง และซึมซับเข้าไปในวิถีชีวิตประจำวันของเขาได้ โดยมีพื้นที่รองรับในการทำกิจกรรมต่าง ๆ อาทิ กิจกรรมที่เกี่ยวกับศิลปวัฒนธรรม พื้นที่เล่นกีฬา เล่นดนตรี หรือทำกิจกรรมที่เกี่ยวข้องกับธรรมชาติ อาทิ พื้นที่ปลูกพืชผักสวนครัว เด็กก็จะเรียนรู้เรื่องการเกษตร หรือโซนที่จำลองพื้นที่ป่าดิบที่คล้ายกับพื้นที่ป่าธรรมชาติ เพื่อรองรับกิจกรรมการพัฒนาตัวเด็กนักเรียนได้ในหลากหลายมิติ รศ.ดร.อนุชาติ กล่าวเพิ่มเติม

     ด้าน บริษัท สถาปนิกชุมชนและสิ่งแวดล้อม อาศรมศิลป์ และสถาบันอาศรมศิลป์ ในฐานะผู้ออกแบบ โครงการอาคารปฏิบัติการสอนและการเรียนรู้ศตวรรษที่ 21 โรงเรียนสาธิตแห่งมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ รู้สึกยินดีเป็นอย่างยิ่งที่ผลงานการออกแบบชิ้นนี้ได้รับรางวัล IFLA AAPME AWARDS 2020 หมวดหมู่ Analysis and Master Planning โดยรางวัลดังกล่าวนี้จะขอมอบให้กับคณะวิทยาการเรียนรู้และศึกษาศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เก็บไว้เพื่อเป็นเกียรติประวัติสืบต่อไป

     ทั้งนี้ รางวัล IFLA AAPME Awards 2020 ถือเป็นรางวัลอันทรงเกียรติระดับโลกที่เป็นการรวมกันของ IFLA 3 ภูมิภาค คือ IFLA APR, IFLA AFRICA และ IFLA MIDDLE นับตั้งแต่มีแนวคิดในปี 2561 เพื่อเป็นเวทีสนับสนุนสำหรับความรับผิดชอบที่สำคัญของภูมิสถาปนิกในการออกแบบที่คำนึงผลกระทบต่อสภาพแวดล้อมที่มีการเปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว โดยรางวัลมุ่งเน้นไปที่การออกแบบโครงการที่เป็นแบบอย่างส่งเสริมการปรับตัวต่อการสร้างความยืดหยุ่นของเมืองและระบบธรรมชาติ เป็นตัวอย่างของโครงการการออกแบบที่ทำได้จริง และแสวงหาความร่วมมือกันเพื่อแก้ปัญหาดังกล่าว ทั้งยังสร้างสำนึกและรับผิดชอบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งในปีนี้มีผลงานที่ได้รับรางวัล 143 ผลงาน