Loading...

นักศึกษาเภสัชฯ ธรรมศาสตร์ คิดค้นนวัตกรรม-แผนการตลาด ‘เอลด้าแบนด์’ นาฬิกาอัจฉริยะ เตือนผู้สูงวัยก่อนล้ม

เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) นวัตกรรมช่วยป้องกันการล้มและตรวจจับการล้มในผู้สูงอายุ คว้าแชมป์ MPAT Award : Start-Up Pharma

วันพุธที่ 23 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2565

     คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ยกระดับบทบาทเภสัชกรตอบรับการแพทย์แม่นยำ ภายใต้ความก้าวหน้าของการเรียนรู้ในแบบ Project - Based Learning บูรณาการความรู้แขนงต่าง ๆ และทักษะที่จำเป็นในการทำงานสำหรับคนรุ่นใหม่ พร้อมพัฒนาเภสัชกรไทยในยุค Disruption

     เมื่อเร็ว ๆ นี้ ทีมนักศึกษา ประกอบด้วย น.ส.ยงธิดา แสวงสุข น.ส.ณัฐกฤตา ครองแถว นายสรัช ธีระสุต และนายธนกฤต โสเจยยะ โดยมี ดร.เภสัชกร สุจินต์ นิทัศน์ปกรณ์ เป็นอาจารย์ที่ปรึกษา ได้คิดค้นการพัฒนานวัตกรรมและแผนการตลาด “เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND)” นวัตกรรมช่วยป้องกันการล้มและตรวจจับการล้มในผู้สูงอายุ สามารถคว้ารางวัลชนะเลิศระดับประเทศ จากการประกวดแผนการตลาดของสมาคมเภสัชกรการตลาด (MPAT) หรือ MPAT Award : Start-Up Pharma จัดโดย ศูนย์ประสานงานการศึกษาเภสัชศาสตร์แห่งประเทศไทย (ศ.ศ.ภ.ท.) และสมาคมเภสัชกรการตลาด (ประเทศไทย)

     ต้องตา - น.ส.ยงธิดา แสวงสุข นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เผยว่า ‘การล้ม’ เป็นสาเหตุของการเสียชีวิตอันดับ 2 ของผู้สูงอายุ ส่วนใหญ่มักมีโรคประจำตัว ต้องรับประทานยาจำนวนมาก อันเป็นปัจจัยเสี่ยงหนึ่งที่ทำให้ผู้สูงอายุล้มได้ จึงเกิดแนวคิดในการสร้างและพัฒนานวัตกรรม “เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND)” ที่จะช่วยตอบโจทย์ในการดูแลผู้สูงอายุที่อยู่คนเดียวให้ปลอดภัยและได้รับการช่วยเหลือได้อย่างทันท่วงที โดยการนำความรู้ทางด้านเภสัชศาสตร์มาผนวกกับเทคโนโลยีเพื่อพัฒนานวัตกรรมดังกล่าว

     แผนการพัฒนาผลิตภัณฑ์ได้ออกแบบให้ง่ายต่อการใช้งาน เพียงสวมใส่เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) ที่ข้อมือ หากผู้สูงอายุเคลื่อนไหวกระทันหันผิดไปจากปกติ อุปกรณ์จะแจ้งเตือนด้วยการสั่นและเสียง และสามารถส่งข้อมูล GPS รวมถึงข้อมูลจำเฉพาะที่จำเป็นต่อการรักษาไปยังโรงพยาบาลที่อยู่ใกล้เคียงโดยทันที และหากเกิดข้อผิดพลาดในการแจ้งเตือน ผู้ใช้งานสามารถกดยกเลิกได้ นอกจากนี้ ยังมีปุ่มที่สามารถติดต่อไปยังแพทย์ผู้ดูแลสุขภาพได้โดยตรง

     “ผลิตภัณฑ์นี้จะเป็นแบนด์อัจฉริยะหนึ่งเดียวที่มีฟังก์ชันป้องกัน ‘ก่อนการล้ม’ ด้วยการตรวจจับสถานะสุขภาพของผู้สูงวัย ได้แก่ อัตราการเต้นของหัวใจ ความดัน ระดับน้ำตาล ระดับออกซิเจนในเลือด อุณหภูมิร่างกายและผิวหนัง หากผู้ใช้งานมีความเสี่ยงที่จะล้ม ‘เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND)’ จะสามารถแจ้งเตือนไปยังแอปพลิเคชันทันทีเพื่อส่งต่อ Health Data ให้แพทย์ หากเกิดเหตุไม่คาดฝันขึ้น อีกทั้งยังช่วยตรวจจับปัญหาสุขภาพ เช่น ตรวจจับยาที่รับประทานที่มีผลข้างเคียง ง่วงนอน และเวียนหัว เป็นต้น” น.ส.ยงธิดา กล่าว

     อิกคิว - นายสรัช ธีระสุต นักศึกษาชั้นปีที่ 5 คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND) จะเป็นประโยชน์ต่อสังคมและเศรษฐกิจ จากการศึกษาพบว่า การล้ม 1 ครั้งในผู้สูงอายุ 1 คน จะส่งผลให้เกิดความเสียหาย 1.2 ล้านบาท คน/ปี การหกล้มไม่เพียงแต่ทำให้บาดเจ็บเท่านั้น แต่คุณภาพชีวิตของผู้สูงวัยจะเปลี่ยนไป ไม่สามารถกลับมาเดินหรือใช้ชีวิตได้ตามปกติ ส่งผลกระทบต่อคนในครอบครัวไปด้วย แนวคิดการสร้างนวัตกรรม และแผนการตลาดของ ELDARBAND จึงเข้ามาปิดรูรั่วตั้งแต่การป้องกันการล้มในผู้สูงอายุไปจนถึงประหยัดงบในการดูแลผู้ป่วยของภาครัฐ จึงหวังว่าการพัฒนาเพื่อให้ ELDARBAND สามารถเกิดขึ้นได้ จะเป็นอีกหนึ่งพลังสร้างสรรค์จากคนรุ่นใหม่ที่มอบให้คนไทยผู้สูงวัยได้มีสุขภาพดีและสะดวกสบายมากขึ้น

     “เภสัชกรในยุค Disruption ต้องมีทักษะคาดการณ์และวิเคราะห์แนวโน้มสิ่งต่าง ๆ อย่างรอบด้าน ผมศึกษาที่คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ มา 5 ปี ทุกวันคือ ความท้าทายและการเรียนรู้ เปิดโลกทัศน์ของเภสัชกรยุคใหม่ที่กว้างขึ้น ไม่เพียงเรียนรู้เฉพาะเพียงเรื่องยาเท่านั้น แต่สามารถบูรณาการความรู้ทั้งวิชาการ เทคโนโลยี การตลาด การบริหารธุรกิจ รวมถึงด้านกฎหมาย เพื่อนำไปต่อยอดพัฒนาเฮลท์เทค แบรนด์สินค้า อุตสาหกรรมการผลิตยาและสุขภาพ ผมเชื่อว่าบทบาทเภสัชกรยุคใหม่จะนำเอาเทคโนโลยีมาพัฒนานวัตกรรมมากยิ่งขึ้น โดยผนวกกับยารักษาโรค วันนี้เราต้องมองไกล เพราะไทยเรามีผู้สูงอายุกว่า 20% ของประชากรแล้ว” นายสรัช กล่าว

     ด้าน รศ.ดร.เภสัชกร อรัมษ์ เจษฎาญานเมธา คณบดีคณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวว่า คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก้าวไกลไปกับการเปลี่ยนแปลงของโลกเภสัชกรรมและสุขภาพยุค Disruption มุ่งใช้ศักยภาพและยกระดับบทบาทเภสัชกรให้เกิดประโยชน์ต่อผู้ป่วย สาธารณสุข และเศรษฐกิจของไทยมากยิ่งขึ้น เภสัชกรเป็นหนึ่งในสหวิชาชีพที่ทำงานด้านยาซึ่งมีผลกระทบสำคัญยิ่งในการบำบัดรักษาผู้ป่วย เคียงข้างแพทย์ พยาบาล โภชนากร และที่สำคัญคือเราส่งเสริมการใช้องค์ความรู้ด้านเภสัชกรรมผนวกเทคโนโลยีมาสร้างสรรค์นวัตกรรมด้านยาและเฮลท์เทคหรืออุปกรณ์การแพทย์ของไทยในเวทีโลก

     เภสัชกรไทยต้องเปลี่ยนผ่านเป็น เภสัชกรระดับโลก (Global Pharmacist) คณะเภสัชศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จึงมุ่งบ่มเพาะให้เภสัชกรคนรุ่นใหม่เปี่ยมพลังของการเรียนรู้อย่างไม่หยุดนิ่ง ปรับตัวได้ สามารถใช้เทคโนโลยีสร้างมูลค่าเพิ่มเป็นนวัตกรรมในเวทีโลก และตอบโจทย์สุขภาพในอนาคตเพื่อช่วยให้คนไทยและคนทั่วโลกมีคุณภาพชีวิตที่ดี

     นอกจากนี้ “เอลด้าแบนด์ (ELDARBAND)” ได้เข้าสู่โครงการบ่มเพาะวิสาหกิจของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือ TU 88 SandBox ใช้ระยะเวลาดำเนินงานตั้งแต่เดือนกุมภาพันธ์ – ธันวาคม 2565 เพื่อบ่มเพาะพัฒนาแนวคิดของนวัตกรรมให้เป็นผลิตภัณฑ์เฮลท์เทคที่รองรับสังคมสูงวัย และสามารถนำออกสู่ตลาดได้จริง ทำให้ผู้สูงอายุสามารถดำเนินชีวิตได้อย่างมั่นใจและปลอดภัย