Loading...

คณะพยาบาลฯ ร่วมมือ เทศบาลเมืองท่าโขลง ส่งเสริมการบริการวิชาการแก่สังคม

คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ จับมือ เทศบาลเมืองท่าโขลง ส่งเสริมการบริการวิชาการแก่สังคม พัฒนาต้นแบบโมเดลเพื่อสุขภาวะที่ดีของประชาชน

วันจันทร์ที่ 23 พฤษภาคม พ.ศ.2565

     คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ลงนามบันทึกข้อตกลงกับเทศบาลเมืองท่าโขลง เพื่อประสานความร่วมมือทางวิชาการ โดย คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กับเทศบาลเมืองท่าโขลง ได้ตระหนักถึงความสำคัญของความร่วมมือการบริการวิชาการแก่สังคม การส่งเสริมให้มีการแลกเปลี่ยนประสบการณ์การทำงานในชุมชน และการศึกษาวิจัย เพื่อก่อให้เกิดประโยชน์สูงสุด ต่อการพัฒนางานด้านสุขภาพให้เจริญก้าวหน้าอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ประชาชนในพื้นที่มีสุขภาวะและความเป็นอยู่ที่ดี เมื่อวันที่ 3 พฤษภาคม 2565 ณ คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์

     ผศ.ดร.ปรีย์กมล รัชนกุล คณบดีคณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ เปิดเผยว่า สิ่งที่เกิดขึ้นในวันนี้นับว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่ยิ่งใหญ่ของคณะพยาบาลศาสตร์ ที่ตอบสนองต่อเป้าหมายของมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ในการก้าวสู่การเป็นมหาวิทยาลัยระดับโลกเพื่อประชาชน ซึ่งในส่วนของ
คณะพยาบาลศาสตร์ มีจุดมุ่งหมายในการยกระดับภาวะสุขภาพของประชาชน โดยเริ่มจากประชาชนในพื้นที่ละแวกใกล้เคียงมหาวิทยาลัย โดยการทำความร่วมมือทางวิชาการครั้งนี้ ไม่ได้เป็นเพียงเรื่องของงานวิชาการ แต่เป็นการร่วมมือกันเสริมศักยภาพในหลายด้าน ทั้งในเรื่องการศึกษา งานวิจัย รวมไปถึงความร่วมมือในการเข้าไปช่วยให้ประชาชนในเขตเทศบาลเมืองท่าโขลงได้มีสุขภาวะที่ดีขึ้น การร่วมมือกับองค์กรบริหารส่วนท้องถิ่นที่มีความเข้มแข็งและมีความสามารถในการยกระดับการบริการสุขภาพให้กับประชาชนนี้ จึงเป็นโอกาสที่ดีของทางคณะพยาบาลศาสตร์ ในการใช้องค์ความรู้ที่มีอยู่เชิงวิชาการ ไปช่วยเสริมความเข้มแข็งให้กับเทศบาลเมืองท่าโขลง ต้องขอขอบคุณผู้ที่มีส่วนที่ทำให้เกิดการทำข้อตกลงในวันนี้

     นายนาวีกร บุญตาระวะ ปลัดเทศบาลเมืองท่าโขลง ได้กล่าวถึงการร่วมมือกับมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ที่ได้สร้างความร่วมมือกับชุมชน ในเรื่องของสาธารณสุข โดยกล่าวว่า ทางเทศบาลนั้นมีศักยภาพในด้านของคน ด้านของชุมชน แต่ขาดองก์ความรู้ทางวิชาการ การร่วมมือกับคณะพยาบาลฯ จึงเป็นโอกาสที่เข้ามาเสริมศักยภาพให้แก่เทศบาลเมืองท่าโขลง ในการริเริ่ม สร้างนวัตกรรมใหม่ เพื่อเป็นโมเดลต้นแบบในด้านสาธารณสุข

     โดยจะมีการดำเนินงานร่วมกันเพื่อให้ความร่วมมือเป็นไปด้วยความเกื้อกูลและสนับสนุนซึ่งกันและกัน อาทิ 1. ด้านการจัดบริการวิชาการสังคมให้กับประชาชนทุกกลุ่มทุกวัยในชุมชน โดยคณะพยาบาลศาสตร์จะให้บริการวิชาการในพื้นที่ตามความรู้ความเชี่ยวชาญของอาจารย์ในแต่ละสาขาฯ และเทศบาลเมืองท่าโขลงประสานงานในพื้นที่ อำนวยความสะดวกในการให้บริการวิชาการ
   2. ด้านการบริการวิชาการสังคมให้กับประชาชนในชุมชน โดยคณะพยาบาลศาสตร์ให้บริการวิชาการด้านความรู้การดูแลผู้สูงอายุ การจัดตั้งศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ หรือจัดทำหลักสูตรการบริบาลผู้สูงอายุ และเทศบาลเมืองท่าโขลง ประสานงานและอำนวยความสะดวกในการให้บริการวิชาการ รวมทั้งการจัดสรรงบประมาณเพื่อสนับสนุนในส่วนที่เกี่ยวข้องตามอำนาจหน้าที่      
   และ 3. ด้านการศึกษาและวิชาการ โดยให้คณะพยาบาลศาสตร์ มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ใช้พื้นที่เป็นแหล่งฝึกปฏิบัติการและศึกษาวิจัยแก่อาจารย์ นักศึกษา และบุคลากร โดยเทศบาลเมืองท่าโขลง ประสานงานในพื้นที่ และอำนวยความสะดวกในการลงพื้นที่

     ผศ.ดร.ปรีย์กมล เผยอีกว่า ในหลายส่วนของคณะพยาบาลศาสตร์ จะมาสามารถช่วยสนับสนุนชุมชนที่ถือว่าเป็นเพื่อนบ้านที่ใกล้ชิดมาก ๆ กับทางมหาวิทยาลัย ทั้งในเรื่องของการสร้างองค์ความรู้ งานวิจัย และนวัตกรรม เรามีทั้งศูนย์ส่งเสริมสุขภาพ นักโภชนากร นักวิทยาศาสตร์การกีฬา นักจิตวิทยาคลินิก และอีกหลายความเชี่ยวชาญที่จะช่วยทำให้ความร่วมมือในครั้งนี้เห็นผล โดยคาดหวังว่าความร่วมมือทางวิชาการในครั้งนี้ จะสามารถสร้างเป็นโมเดลต้นแบบของการพัฒนาสุขภาพของประชาชน เป็นโมเดลแรกของประเทศไทยที่ภาคชุมชนกับคณะพยาบาลศาสตร์ ร่วมมือกันสร้างรูปแบบการดูแลสุขภาพให้เกิดขึ้น และสามารถเป็นต้นแบบให้กับชุมชนอื่น ๆ

     “วันนี้จึงถือว่าเป็นจุดเริ่มต้นที่เป็นทางการ ต่อจากนี้ ภาพการดำเนินงานจะมีความชัดเจนขึ้น และจะมีการวางแผนการดำเนินงานที่จะเห็นถึงผลสำเร็จร่วมกันในภาพที่เป็นทั้งระยะสั้นและระยะยาว ซึ่งจะนำเข้าไปเป็นแผนยุทธศาสตร์ แผนปฏิบัติงานของทางคณะพยาบาลศาสตร์ โดยต่อจากนี้ในการทำงานบริการวิชาการ หรือการทำงานเพื่อสังคม จะต้องตอบโจทย์ชุมชนของเราให้เห็นภาพที่ชัดเจนบนเป้าหมายที่มีร่วมกันมากขึ้น สิ่งที่จะได้จากการศึกษา ในครั้งนี้ต้องเป็นประโยชน์ร่วมกัน ด้วยเป้าหมายของเราคือการเป็นสถานศึกษาที่เข้าไปร่วมสร้างประโยชน์ให้แก่สังคม...”

     ในอนาคต ผศ.ดร.ปรีย์กมล กล่าวว่า อาจมีการสนับสนุนให้โควตานักเรียนในระดับชั้นมัธยมศึกษาของโรงเรียนในเขตเทศบาลท่าโขลง เพื่อศึกษาต่อในระดับอุดมศึกษา คณะพยาบาลศาสตร์ โดยมีแนวคิดที่จะผลิตบุคลากรทางด้านสาธารณสุขเพื่อให้สามารถนำองค์ความรู้กลับไปต่อยอด พัฒนาในชุมชนของตนเองได้